๒๙. ปางอุ้มบาตร

            พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน  ส้นพระบาททั้งสองชิดกัน พระหัตถ์ทั้งสอง ยกประคองบาตร ราวสะเอว  มีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ ในท่าประคองด้วย  นิยมเรียกว่า ปางอุ้มบาตร  นิยมสร้างขึ้นเป็นพระประจำวัน ของคนเกิดวันพุธ

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์  ครั้งแรกทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปบนอากาศ  ทรมานให้พระประยูรญาติให้ถวายบังคมแล้ว  เสด็จลงมาประทับนั่งยัง พระบวรพุทธอาสน์  ยังฝนโบกขรพรรษ ให้ตกลงในท่ามกลางสมาคมพระญาติ  แล้วทรงประกาศมหาเวสสันดรชาดก ยกขึ้นเป็นเทศนา  มีข้อความตามนัยที่พรรรณา ไว้ในเรื่องพระพุทธรุปปางทำ   อิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นปางที่ ๒๘ สำหรับพระพุทธรุปปางที่ ๒๙  คือปางอุ้มปาตรนี้มีเรื่อง ต่อเนื่องมาว่า  ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมจบแล้ว บรรดาพระญาติ ทั้งหลาย มีพระเจ้าสุทโธทนะ  พระพุทธบิดา  เป็นประธาน  ก็ได้ความเบิกบานปิติปราโมทย์  เปิดพระโอษฐ์ ซ้องสาธุการแล้ว พระญาติทั้งหลายก็กราบทูลลาคืนหลังยังพระราชสถาน  มิได้มีพระญาติสักองค์หนึ่ง ได้กราบทูลถวาย พระกระยาหารในยามเช้าพรุ่งนี้  แม่แต่พระเจ้าสุทโธทนะ ก็เพียงแต่ทูลลา  มิได้ทูลอารธนาเสวย พระกระยาหารเช้า เช่นกัน ด้วยทรงนึกไม่ทันว่า  ธรรมดาพระจะต้องอาราธนา  จึงจะได้มารับบิณพบาตรในบ้าน  ซึ่งเป็นปกติสามัญของประชาชนทั่วไป  แต่พระเจ้าสุทโธทนะ  พระพุทธบิดา กลับทรงรู้สึกอย่างเป็นพระญาติที่สนิทว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระโอรส  พระสงฆ์สาวกเล่า ก็เป็นศิษย์ของพระโอรส  แล้วพระโอรสจะเสด็จไปไหน  เมื่อไม่มายังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ไม่จำต้องทูลอาราธนา  โดยแน่พระทัยว่า  พระบรมศาสดาจะต้องทรงพาพระสาวกทั้งหลายมาเสวยพระการะยาหาร  ในพระราชนิเวศน์เป็นแน่แท้  การเสด็จไปเสวยที่คฤหาสน์ของใครที่ไหน  แม้จะเป็นพระญาติของพระองค์ ก็ไม่เหมาะไม่ควรเท่ากับ เสด็จมายังพระราชนิเวศน์  เพราะพระเจ้า     สุทโธทนะทรงแน่พระทัยดังนี้  จึงไม่เปิดพระโอษฐ์ออก พระวาจาทูลอาราธนา  ยิ่งกว่านั้น ยังกลับเห็นว่า  หากออกพระกระแสรับสั่งทูลอาราธนาขึ้น  การกลับจะกลายไปว่า พระบรมศาสดา เป็นคนอื่น มิใช่พระโอรส  ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะ แน่พระทัยเช่นนี้แล้ว  เมื่อเสด็จถึงพระราชนิเวศน์   จึงโปรดให้พนักงานวิเศษจัดแจงตกแต่ง อาหารอันประณีต ไว้พร้อมมูล  เพื่อถวายพระบรมศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ สาวกทั้งมวลในวันพรุ่งนี้

            ตลอดเย็นจนถึงเวลารุ่งเช้า  เมือ่ไม่ปรากฏว่า มีใครอารธานาพระบรมศาสดา ไปเสวย ณ ที่ใด  พระบรมศาสดา ก็ทรงบาตร พาภิกษุสงฆ์บริษัท เสด็จพระดำเนินไปตามท้องถนนหลวง  ปรากฏแก่ปวงประชาราษฏร์  จึงต่างก็ได้โอกาสชมพระบารมี  และมีความปิติยินดี ประนมหัตถ์นมัสการ นับเป็นครั้งแรก ที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ได้เห็นพระบรมศาสดาจารย์ ทรงอุ้มบาตร เสด็จพระพุทธลีลาศ โปรดประชาสัตว์  เพิ่มพูนความปิติโสมนัส  สุดจะพรรณนา

จบตำนาน พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร แต่เพียงเท่านี้
( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๒๘ - ๑๓๐)

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting