๔. ปางทรงสุบิน

                พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา (สำเร็จสีหไสยา)  พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกาย  พระหัตถ์ขวาแนบกับพื้นยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ (คาง)  หลับพระเนตร เป็นกิริยาบรรทมหลับ

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้
เมื่อพระมหาบุรุษพุทธางกูร  บรมโพธิสัตว์เจ้า ทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิต  โดยทรงเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ที่พระองค์มเคยสดับและไม่เคยดำริมาก่อนเลย  ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า
สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง  ซึ่งยังมิได้หลีกออกจากกาม ยังพอใจรักใคร่ในกามอยู่  ยังละกามไม่ได้  ยังสงบระงับใจไม่ได้  สมณพราหมณ์เหล่านั้น  แม้จะพยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติให้เข้มแข็งทนทุกข์ทรมานเพียงใดๆก็ตาม  ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้  เหมือนไม้สดที่แช่น้ำอยู่  บุคคลเอามาสีให้เกิดไฟ ย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้  ด้วยไฟจะไม่เกิด  ต้องเหน็ดเหนื่อยเปล่า  เพราะไม้สดแถมแช่น้ำอีกด้วย
อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง  แม้หลีกออกจากกามแล้ว  แต่ยังพอใจรักใคร่ในกาม ยังละกามไม่ได้  ยังสงบระงับใจไม่ได้  สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้จะพยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติให้เข้มแข็งทนทุกข์ทรมานเพียงใดๆก็ตาม ก็ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้  เหมือนไม้สดแม้จะไม่ได้แช่น้ำ  บุคคลจะเอามาสีให้เกิดไฟ ก็ย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้  ด้วยไฟจะไม่เกิด  ต้องเหน็ดเหนื่อยเปล่า เพราะไม้ยังสดอยู่
อีกข้อหนึ่ง  สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง  หลีกออกจากกามแล้ว ละความพอใจในกามได้  ทำใจให้สงบระงับดีแล้ว  เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้พยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติ จะได้รับทุกข์ทรมาน  หรือหาไม่ก็ตาม  ก็ย่อมจะตรัสรู้ได้เหมือนไม้แห้ง  ที่ไม่ได้แช่น้ำ  บุคคลอาจเอามาสีให้เกิดไฟได้เป็นแน่แท้  เพราะเป็นของแห้ง  ทั้งอยู่ในที่แห้งอีกด้วย
อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้  ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้า ทรงมั่นหมายในหารทำความเพียรทางใจว่า  จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้
ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ  ผู้มีความนิยมทุกกรกิริยา เลื่อมใสในลัทธิทรมานกายให้ลำบาก  ว่าเป็นทางที่จะให้ตรัสรู้ จึงพากันมาเฝ้าพระมหาบุรุษ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษ ทำความเพียร ในทุกกรกิริยา อย่างตึงเครียด เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น  ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส  มั่นใจว่าพระองค์จะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลัน และจะทรงพระเมตตาประทานธรรมเทศนา โปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา ที่ประพฤติมาแล้ว  และเห็นร่วมกันว่า  บัดนี้พระองค์คลายความเพียร  เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว  ก็เกิดเบื่อหน่ายในอันที่จะปฏิบัติบำรุงอีกต่อไป  ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่สามารถบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง  จึงพากันหลีกหนีไปเสียจากที่นั้น  ไปอยู่ ณ ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
พระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญทางจิตมาด้วยดีตลอดเวลา  จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖  เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบินเป็น บุพพนิมิตรมหามงคล ๕ ประการคือ :-

  1. ทรงสุบินว่า  พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐมพี  พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์ พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทร ในทิศตะวันออก  พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้
  2. ทรงพระสุบินว่า  หญ้าแพรกเส้นหนึ่งออกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
  3. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้างดำบ้างเป็นอันมาก  ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ เต็มพระชงฆ์ และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล
  4. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่างๆกัน คือสีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแทบพระบาทแล้วก็กลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น
  5. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกรม บนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้เปรอะเปื้อนพระยุคลบาท

 

ในพระสุบินทั้ง ๕ ข้อนั้น  มีอธิบายทำนายว่า


ข้อ ๑.   พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓
ข้อ ๒.   พระมหาบุรุษเจ้า จะได้ทรงประกาศสัจจธรรม  เผยมรรค ผล นิพพาน  แก่เทพยดา และมนุษย์ ทั้งมวล
ข้อ ๓.   คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย  จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก
ข้อ ๔.   ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์  พราหมณ์  แพศย์  ศูทย์  เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์ หมดจดผ่องใสไปสิ้น
ข้อ ๕.   ถึงแม้พระองค์จะสมบูรณ์ด้วยสักการะวรามิส  ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวาย ด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย

                ครั้นพระมหาบุรุษเจ้า ตื่นผทมแล้ว  ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบิน ทั้ง ๕ นั้น แล้วทรงทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้  ก็ทรงเบิกบานพระทัย  ครั้นได้ทรงทำสรีรกิจ  สะสรงพระกายหมดจดแล้ว  ก็เสด็จมาประทับนั่งทีร่มไม้นิโครธพฤกษ์  ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปุณณมี ดิถีกลางเดือน ๖ ปีระกา

                จบตำนานพระพุทธรูปปางทรงสุบินแต่เพียงนี้

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ) 
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า ๒๒- ๒๖ )

 

 

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting