๖๓. ปางทรงรับอุทธกัง

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวา ทรงบาตรร วางบนพระชานุ เป็นกิริยารับน้ำ

 

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์  เมืองไพศาลี ประทานโอวาท แก่พระภิกษุสงฆ์ ทั้งหลาย ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง  พอควรแก่เวลาแล้ว ก็ทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังบ้าน ภัณฑุคาม  ประทับสำราญพระอิริยาบถ โดยควรแก่พระอัธยาศัย  แสดงธรรม โปรดพุทธบริษัท  ณ บ้านภัณฑุคามนั้น  ให้ตั้งอยู่ในอริยธรรม  คือ  ศีล สมาธิ  ปัญญา  วิมุติ  อันเป็นธรรมนำให้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล

            ต่อนั้น พระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์  ได้เสด็จไปบ้านหัตถีคาม  อัมพุคาม  ชัมพุคาม  และโภนคร โดยลำดับ  ประทับอยู่ที่โภคนคร แสดงธรรม โปรดพุทธบริษัทชาวเมืองนั้น   ต่อนั้น จึงได้เสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้าประทับอาศัยอยู่ที่อัมพวัน สวนมะม่วงของนาย         จุนทกัมมารบุตร ซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น

            ครั้นนายจุนทะ ได้ทราบข่าวว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสถิตอยู่ในสวนนของตน ก็มีความยินดี  ได้นำสักการะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ  พระบรมศาสดา ตรัสพระธรรมเทศนาโปรด  ให้นายจุนทะชื่นชมโสมนัส  และบรรลุโสดาปัตติผล  นายจุนทะได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคกับทั้งภิกษุสงฆ์  ให้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ยังนิเวศน์ของตน  พระบรมศาสดา ทรงรับด้วยดุษณีภาพ

            เมื่อนายจุนทะทราบแล้ว ก็ดีใจ รีบกราบทูลลากลับคืนนิเวศน์  ให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหาร กับทั้งสุกมัททวะ (เนื้อสุกรอ่อน)  ประกอบด้วยรสอันเอมโอช แต่ในเวลาราตรี  ครั้นรุ่งเช้า  นายจุนทะ  ได้ออกไปทูลอัญเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของนายจุนทะ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์  แล้วตรัสแก่นายจุนทะว่า  สุกรมัททวะ ซึ่งท่านตกแต่งไว้นั้น  จงอังคาสเฉพาะตถาคตผู้เดียว  ที่เหลือนั้นให้ขุดหลุมฝังเสีย  และจงอังคาสภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ด้วยอาหารอย่างอื่นๆเถิด  นายจุนทะ ก็กระทำตาม พระพุทธบัญชร  ครั้นแสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสอนุโมทนา ให้นายจุนทะ ได้ความเบิกบาน ในเทยยทานที่ถวายแล้ว  ก็เสด็จกลับไปสู่อัมพวัน

            เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหาร  ของนายจุนทะในวันนั้น ก็ทรงประชวรพระโรค “โลหิตปักขัณฑิการพาธ”  มีกำลังกล้า ลงพระโลหิตเกิดทุกขเวทนามาก  ตรัสสั่งพระอานนท์ว่า  “อานนท์ มาเราจะไปเมืองกุสินารา พระอานนท์ รับพระบัญชาแล้ว จึงรีบแจ้งให้พระสงฆ์ทั้งหลาย เตรียมตามเสด็จไว้พร้อม”

            ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเยียวยา พระโรคาพาธด้วยโอสถคือสมาบัติภาวนา  เสด็จจากเมืองปาวา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ตามมรรคา โดยลำดับ  ขณะที่เสด็จไปตาทางนั้น  ทรงบังเกิดการกระหายน้ำ เป็นกำลัง จึงเสด็จและเข้าพักยังร่มไม้ริมทาง  พลางตรัสเรียกพระอานนท์ว่า “อานนท์ตถาคตกระหายน้ำมาก  เธอจงไปตักน้ำ มาให้ตถาคตดื่มระงับความกระหายให้สงบ”

            เป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียว  ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงขอน้ำเสวย ในขณะเดินทางยังไม่ถึงที่พัก  เนื่องด้วยพระองค์ทรงประชวรมากใกล้อวสานพระชนม์  ต้องเสวยทุกขเวทนา  ซึ่เกิดแต่สังขาร  สมดังกระแสพระโอวาทที่ตรัสว่า “ สังขารเป็นมารทำลายความสงบสุข ไม่เลือกว่า สังขารของผู้ใดทั้งสิ้น”

            พระอานนท์ได้กราบทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เกวียน ๕๐๐ เล่ม เพิ่งข้ามแม่น้ำนี้ไป แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำเล็ก  น้ำในแม่น้ำก็น้อย  เมื่อล้อเกวียนมากด้วยกัน  บดไปตลอดทุกเล่ม  น้ำขุ่นนัก  ไม่ควรจะเป็นน้ำเสวย  ถัดนี้ไปไม่ไกลนัก  แม่น้ำกกุธานที  มีน้ำ จืด ใส เย็น ทั้งมีท่ารื่นรมย์ เชิญเสด็จไปยังแม่น้ำกกุธานที่โน้นเถิด  ผิว่าจะเสวยหรือสรง  ก็จะเย็นเป็นความสุขสำราญ”

            “ไปเถอะอานนท์”  ทรงรับสั่ง “ ไปนำน้ำในแม่น้ำนี้แหละมาให้ตถาคตดื่ม บรรเทาความกระหาย”

            พระอานนท์ ได้กราบทูลทัดทานถึง ๒ ครั้ง  เมื่อได้สดับกระแสรับสั่งครั้งที่ ๓  พระเถระเจ้าก็อนุวัตรตามพระราชบัญชาทันที  ด้วยได้สติรู้ทันในพระบารมีของพระสัมพุทธเจ้าว่า “อันธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะดำรงคงพระวาจามั่นในสิ่งซึ่งหาสาเหตุมิได้ เป็นไม่มี”  จึงรีบนำบาตรเดินตรงไปยังแม่น้ำนั้น  ครั้นเข้าไปใกล้แม่น้ำนั้นพลันได้ปิติโสมนัส  ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า  หากมาบันดาลน้ำในแม่น้ำซึ่งขุ่นข้น ได้กลับกลายเป็นน้ำใสสะอาด ปราศจากมณทิน

            เมื่อพระอานนท์ได้เห็นเช่นนั้น  ก็เกิดอัศจรรย์ใจ  พิศวงในอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดำริว่า “อานุภาพอันใหญ่หลวงของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นปานนี้  เป็นความอัศจรรย์  ไม่เคยมีมาในกาลก่อน  พรเถระเจ้าได้ลงไปตักน้ำด้วยบันเทิงน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า  ให้เสวยตามพระพุทธประสงค์  แล้วได้กราบทูลถึงเหตุอัศจรรย์ที่ได้ประสบมานั้น

            เหตุที่เกวียน ๕๐๐ เล่ม  เดินบดน้ำให้ขุ่นข้นเป็นอุปสรรค ให้พระพุทธเจ้า ต้องทรงได้น้ำดื่มช้าไปนั้น  ท่านกล่าว่า เป็นบุพพกรรมแต่ชาติก่อนเมื่อครั้งพระองค์เสวยชาติเป็นพ่อค้าเกวียน ๕๐๐  ขณะนำเกวียนผ่านแม่น้ำน้อย ได้จัดทำกกะทอสวมปากวัวเสีย มิให้ดื่มน้ำกินน้ำขุ่น  ด้วยเกรงว่า จวะกินน้ำไม่สะอาด จะเป็นภัยแก่วัวในเวลาเดินทางไกล  ต่อเมื่อถึงแม่น้ำใหญ่  มีน้ำใสสะอาดแล้ว จึงแก้กระทอ ที่สวมปากวัวออก  ปลดปล่อยให้วัวทั้งหลาย ได้ดื่มน้ำที่ใสสะอาด ให้สุขสำราญ  ส่วนกรรมนี้ได้ติดตามมาสนองพระองค์ แม้ใกล้จะเสด็จปรินิพพานแล้ว  ให้ต้องทรงลำบากยากแก่ดื่มน้ำช้าไปชั่วขณะหนึ่ง

            ส่วนอานุภาพที่บันดาลให้น้ำซึ่งขุ่นข้นนั้น  ให้พลันกลับใสบริสุทธิ์ในปัจจุบันทันความประสงค์ ท่านกล่าวว่า เป็นอานุภาพของกุศลที่พระองค์ ได้ทรงสร้างบ่อน้ำไว้ในทางกันดารน้ำ  เมื่อครั้งพระองค์เสวยพระชาติเป็นพ่อค้าเกวียนนำเกวียนมากเล่มด้วยกันเดินทางผ่านที่กันดารด้วยน้ำ  ต้องเอาน้ำใส่เกวียน ไปกินเผอิญน้ำหมด ยังไม่ทันถึงหมู่บ้านที่พัก  ทั้งคนและวัวต้องสิ้นกำลังไปไม่รอด  จะต้องตายกลางทาง  พระโพธิสัตว์ไม่ทรงยอมตายในทำนองนั้น  ได้พยายามเดินตรวจดูสถานที่ซึ่งพอจะขุดบ่อน้ำได้  ครั้นเห็นที่ชายเนิน แห่งหนึ่งมีกอหญ้าเขียวขจีงาม  ก็แน่ใจว่า ที่ตรงนี้ จะต้องมีน้ำ  จึงไปเรียกคนเกวียนที่ร่วมใจมาช่วยกันขุด พยายามสกัดงัดแผ่นศิลาใหญ่ที่ปิดทางเดินน้ำออก  ในที่สุดก็สำเร็จได้น้ำใสสะอาด  มีตาน้ำใหญ่ไหลออกมา  จึงไปตามคนในเกวียน  และนำวัวทั้งหลายมาดื่ม  อาบเป็นที่สำราญ  พร้อมกับตักใส่กระบอกได้ไปกินตามทางอีกด้วย  ก่อนที่จะไปจากที่นั้น ได้เขียนหนังสือบอกไว้ ใกล้ทางเดิน  ให้คนผ่านไปมา ได้ทราบว่า สถานที่ถัดจากทางนี้ไปเล็กน้อย  มีบ่อน้ำจืด  ใส บริสุทธิ์ ควรแก่การดื่มดีนัก  อานุภาพของบุญในการสร้างบ่อน้ำของพระองค์ครั้งกระโน้น  ได้ตามมาสนองผลดลบันดาลให้น้ำขุ่นข้นพลันกลับใสบริสุทธิ์  ให้พระองค์ได้เสวยระงับความกระหายได้ความสุข สบายสมพระประสงค์  ด้วยประการฉะนี้

            จบตำนานพระพุทธรูปปางทรงรับอุทกัง แต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๓๑๗
๓๒๑ )

 

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting