๔๑. ปางสรงน้ำฝน

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  ทรงห่มผ้าวัสสสิกกสาฏกเฉวียงพระอังสะ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระกาย  ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นลูบที่พระอุระ  เป็นกิริยาสรงน้ำฯ พระพุทธรูปปางนี้ น่าจะเป็นปางเดียวกับปางขอฝน  ทั้งเห็นมีแต่ในหอราชกรมานุสร (ของหลวง) เท่านั้น

 

 

พระพุทธรูปปางนี้  มีตำนานดังนี้

            พระพุทธรูปปางสรงน้ำฝนนี้  นิยมสร้างเป็นพระขอฝน ส่วนมากจึงเป็นพระขนาดเล็ก  สำหรับอัญเชิญเข้าไปประดิษฐานในพิธีมณฑลขอน้ำฝน  ซึ่งจัดทำขึ้นในเวลาฝนแล้ง  แม้ในงานพระราชพิธีพืชมงคล  ทางราชการ ก็นิยมอัญเชิญให้ไปประดิษฐานในพิธีนั้นด้วย

            ครั้งหนึ่ง เมื่อพระสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตะวันวิหาร ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เมืองสาวัตถีเกิดฝนแล้ง  ชาวไร่ชาวนาตลอดชาวบ้านเดือดร้อน ลำบากด้วยน้ำเป็นอันมาก  วันหนึ่งบรรดาคนที่นับถือพระพุทธศาสนา  มีคนที่ฉลาดคนหนึ่งดำริว่า  ขึ้นชื่อว่า อานุภาพของพระพุทธเจ้า หามีอานุภาพอันใดเสมอเหมือนได้  หากพวกเราพร้อมกันไปเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ ถึงความเดือดร้อน  เชื่อว่า พระพทธเจ้าผู้มากด้วยพระมหากรุณาเสมอด้วยห้วงมหาสาคร  จะทรงโปรดให้เราพ้นจากความเดือดร้อนนี้เป็นแน่  ครั้นคิดเช่นนั้นแล้ว  จึงชักชวนคนเป็นอันมาก ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังที่ประทับ  แล้วกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เสด็จออกไปสรงน้ำฝนในที่แจ้ง  ทั้งที่ในขณะนั้น ก็ยังไม่มีวี่แววว่าฝนจะตก  ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์รับอาราธนา  ทรงผลัดผ้าวัสสิกสาฏกแล้ว  เสด็จออกไปประทับในที่แจ้ง  เพื่อทรงสรงน้ำฝนตามคำอาราธนาของมหาชน  ทรงทอดพระเนตรแลดูในทิศทางทั้งหลาย  ด้วยพุทธานุภาพอันมหัศจรรย์ ในทันใดนั้น  มหาเมฆก็ตั้งขึ้น  ให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก  นอกจากพระบรมศาสดาจะได้สรงน้ำฝน ณ ที่นั้นแล้ว  มหาชนก็ได้พากันอาบดื่มกิน เป็นสุขสำราญทั่วกัน  และโห่ร้อง แสดงความยินดี กันทั่วมหานคร

จบตำนานพระพุทธรูปปางสรงน้ำฝน แต่เพียงนี้

 

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ) 
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า ๑๗๙-๑๘๑)

 



ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting