ปางชี้ อสุภ

 

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ซ้ายห้องลง ข้างพระกายตามปกติ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นชี้นิ้วพระหัตถ์ไปข้างหน้าเสมอพระอุระ  เป็นอาการชี้ อสุภ

ตำนานพระพุทธรูปปางนี้ มีดังนี้

      สมัยพุทธกาล  ที่พระนครราชคฤห์  มีหญิงนครโสเภณี คนหนึ่งรูปงามมาก  ทั้งฉลาดในการร่ายรำ และขับร้อนจับใจของบุรุษให้เมามัน  หลงติดอยู่ใน ความงาม ของรูป และในความไพเราะของเสียงขับร้อง  ทั้งในท่าทีของการร่ายรำ  ไม่มีสตรีใดเทียม  สตรีนี้ชื่อว่า นางสิริมา  เป็นน้องสาวของ นายแพทย์ชีวก โกมารภัจจ์  บุรุษที่มีความประสงค์จะขอเข้าร่วมนอนด้วย จะต้องจ่ายทรัพย์ให้แก่นาง ๑,๐๐๐ กหาปนะ ต่อ ๑ คืน  เท่ากับคืนละ ๔,๐๐๐ บาท ในสมัยนั้น ซึ่งค่าของเงินแพงมาก  ดังนั้นนางสิริมา จึงอยู่ในฐานะ เป็นนครโสเภณีชั้นสุง  ได้รับยกย่องในเวลานั้น

      วันหนึ่ง  นางอุตตราเสฏฐินี  ผู้เป็นภรรยาของท่านเสฏฐีบุตรในพระนครราชคฤห์  แต่ท่านเสฏฐีบุตรผู้นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ  ส่วนนางอุตตรา เป็นอุบาสิกา  มั่นคงในพระพุทธศาสนา  นับแต่นางได้จากเรือนมาอยู่ร่วมกับท่านเสฏฐีบุตรแล้ว  ไม่มีเวลาได้บำเพ็ญทานรักษาศีล  และฟังพระธรรมเทศนาเลย  เป็นความ ลำบากใจมาก  สุดที่จะทนทานได้  นางจึงส่งคนไปแจ้งเรื่องความเดือดร้อน ให้ท่านปุณณเสฏฐีผู้บิดาทราบ  พร้อมกับขอเงินก้อนหนึ่ง เพื่อเอาบำเพ็ญกุศล  เมื่อนางอุตตราได้เงินมาสมใจแล้ว  จึงได้ขอโอกาส ทำบุญต่อสามี ๑๕ วัน  โดยนางจะไปหานางสิริมา  มาปฏิบัติแทนตัว  ครั้นสามียินยอมแล้ว  นางก็ให้ไปเชิญนางสิริมา มาพบ  และขอร้องนางสิริมา ให้ช่วยอนุเคราะห์รับธุระปฏิบัติสามีให้ ๑๕ วัน  โดยจะยอมจ่ายเงินตอบสนองงานให้ตามระเบียบ  แม้อาหารการบริโภค ก็จะไม่ให้เดือดร้อน จะบำรุงให้มีความสุขทุกประการ  ตลอดเวลาที่มารับหน้าที่ แทนชั่วคราวนั้น

            ครั้นนางสิริมา ตกลงรับหน้าที่เป็นภริยาชั่วคราวแทนตัวแล้ว นางอุตตรา ก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระเวฬุวันวิหาร  กราบทุล เรื่องของนาง ให้ทรงทราบดีแล้ว  ก็ทูลอาราธนา ให้พระองค์ พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ เสด็จไปเสวยอาหารบิณฑบาตที่เรือนตน  ตลอดเวลา ๑๕ วัน  พระศาสดาทรง พระมหากรุณาได้ทรงอนุเคราะห์พาพระสงฆ์ไปทรงภัตตกิจ  ทีเรือนนางอุตตรอุบาสิกา  และทรงแสดงธรรมโปรดทุกวัน  นางอุตตรา ก็นำทาสและ คนใช้ในบ้านเข้าโรงครัวใหญ่  จัดทำอาหารด้วยมือของนางเองอยู่ตลอดเวลา  ด้วยศรัทธา และปิติปราโมทย์ เป็นอย่างยิ่ง

            ครั้นวันที่ ๑๔ นางอุตตรา ได้ตระเตรียมอาหารเป็นการใหญ่ ด้วยพรุ่งนี้จะถวายอาหารวันสุดท้ายแล้ว  ขณะนั้น เสฏฐีบุตรสามีของนางอุตตรา ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ยืนอยู่บนเรือน  มองดูอยู่ที่หน้าต่าง  เห็นภรรยาสาละวน อยู่ด้วยการครัว  ดูเนื้อตัวผ้าผ่อนเปรอะเปื้อน ก็นึกด้วยอารมณ์ขันในใจว่า “บัดซบจริงๆ ภรรยาจของเรานี่ จะนั่งเป็นสุขอยู่บนเรือนสิไม่ชอบ” แล้ว ก็หลบเข้าเรือนไป

            ขณะนั้น นางสิริมา ยืนเคียงข้างอยู่  เห็นเสฏฐีบุตรยิ้มๆ แล้วหลบไปเช่นนั้น  กลับคิดไปเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ว่า เสฏฐีบุตร คงจะไม่พอใจ นางอุตตราเป็นแน่  อาศัยที่นางสิริมา อยู่ในฐานะเป็นภรรยาชั่วคราว  มีความสุขและเกียรติอันสูง  ลืมตัวไปว่าเขาจ้างมา  เข้าใจว่าตนเป็นภรรยา  เป็นแม่เรือนของท่านเสฏฐีบิตร  ก็เกิดความหึงหวง  บันดาลโทสะขึ้นมาผลุนผลันลงจากเรือนตรงไปที่โรงครัว  คว้าเอาทัพพีในมือคนทอดขนม  ตักน้ำมัน ใน กระทะ กำลังเดือดพล่าน  เทรดนางอุตตรา ตั้งแต่ศีระษะลงไปจนทั่วตัว

            ด้วยอำนาจเมตตาจิตที่นางอุตตรา มีอยู่ในนางสิริมา  มิได้มีความโกรธเคืองในการเบียดเบียนนั้นเลย  โดยนึกว่า  นางสิริมา เป็นเพื่อน ร่วมทำบุญกุศลใหญ่ครั้งนี้ ถ้านางสิริมาไม่ช่วยรับภาระแม่เรือนให้แล้ว  ที่ไหนตนจะมีโอกาสได้ทำบุญ ดังนั้นน้ำมันที่ราดลงศีรษะของนาง จึงเย็น เหมือนน้ำหอม ที่ชโลมบนผิวกาย  มิได้ระคายผิวกายให้แสบร้อนแม้แต่น้อย

            ขณะนั้น บรรดาคนครัวทั้งหมด  พากันตกตะลึงไปชั่วครู่หนึ่ง  ด้วยคิดไม่ถึงว่า นางสิริมา จะมาทำร้ายนายหญิงของตนถึงเพียงนั้น และแล้วในทันใดนั่นเอง ก็เคียดแค้นแทนนาย  พากันถลันเข้าจิกผมนางสิริมา กระชากมาตบให้ล้มลงไปนอนกลิ้งอยู่กับพื้น  ปากก็พร่ำด่าเสียงสนั่นลั่นครัว

            มิทันที่คนครัวทั้งหมดที่พากันวิ่งประดังเข้ามาจะลงมือตุ๊บตั๊บซ้ำเติมนางสิริมา ให้ถึงใจ ด้วยความเดียดแค้น  นางอุตตราได้ลุกถลัน ยกมือขึ้น พร้อมกับห้ามว่า  “ อย่า ! อย่า! ลูกทุกคนหยุด  ถอยออกไป ลูก!  เจ้าไปทำร้ายเพื่อนรักของแม่ทำไม  ว่าแล้วก็เข้าไปประคองนางสิริมา ให้ลุกขึ้น ลูบเนื้อลูบตัว  พูดให้นางสิริมาเบาใจ  หายความสะดุ้งหวาดกลัว  เตือนความรู้สึก ให้คืนสุ่สภาพเดิม

            เมื่อนางสิริมา ได้สติรู้สึกตัวว่า ตนหาใช่แม่เรือน  หาใช่เจ้าของบ้านนี้ไม่  แท้ก็เป็นเพียงคนรับจ้างนางอุตตรามาปฏิบัติสามีของเธอ  ก็ละอายใจ รู้สึกว่าตนประพฤติผิดมาก  ยิ่งเห็นนางอุตตราไม่โกรธตอบซ้ำแสดงความมีไมตรีจิต ด้วยวาจา และกิริยาน่ารักใคร่เช่นนั้น  ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพยำเกรง ซาบซึ่งในคุณสมบัติของนางอุตตราเป็นทวีคูณ  จึงก้มลงกราบแทบเท้านาง อุตตรา ร้องขอโทษ  ด้วยถ้อยคำอันแสดงชัดว่า ตนได้ทำผิดอย่างน่าสงสาร

            นางอุตตรากล่าวว่า  หากแม่สิริมา รู้สึกว่าทำผิดไปจริงๆ ฉันก็พลอยดีใจด้วย  และถ้าแม่ สิริมา ยังยินดีจะขอให้อดโทษแล้ว  ควรจะไป ขอกะพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบิดา ที่เคารพสูงสุดของดิฉัน
            “ฉันยินดีปฏิบัติตามคำของเธอทุกประการ”  นางสิริมาสารภาพ “แต่ฉันยังไม่รุ้จักกะพระสัมพุทธเจ้า  ซึ่งเธออ้างว่า เป็นพระบิดา ที่เคารพสูงสุด ของเธอนี่”
          ไม่เป็นการลำบากเลย แม่สิริมา”  นางอุตตราเปิดทาง  “พรุ่งนี้พระสัมพุทธเจ้า จะเสด็จมาเสวยเช้าที่เรือนฉัน พร้อมด้วยพระสงฆ์หลายรูปด้วยกัน  แม่สิริมา ปลีกเวลามาเฝ้าพระองค์ที่เรือนฉันซีน๊ะ  พระบิดาของฉันพระทัยดีมาก  จะทรงเอ็นดูเธอ  ฉันคิดว่าเธอจะเลื่อมใสและเคารพรักใน พระเมตตาของพระบิดาฉันมากทีเดียว
          “คนอาภัพอย่างฉันเช่นนี้  หากพระสัมพุทธเจ้า จะทรงพระกรุณา โปรดอย่างเช่นเธอว่า ก็ดูจะมิเป็นคนมีวาสนามากไปรึ แม่อุตตรา!”
          “เอาเถอะ  แม่สิริมา  เธอจะเห็นเอง  ว่าแต่พรุ่งนี้อย่าลืมก็แล้วกัน”
          “ฉันจะมาตามเวลา”  นางสิริมาพูดแล้วก็กราบลานาง อุตตราขึ้นเรือนไป

            รุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาค  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จไปเรือนนางอุตตรา  เพื่อภัตตกิจตามกำหนดอาราธนา  นา'อุตตรา ได้พานางสิริมา พร้อมด้วย หญิงคนใช้ เข้าเฝ้าถวายอภิวาท  พร้อมกับกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นประกอบ  เพื่อให้ทรงพระกรุณาประทานอดโทษ ให้นางสิริมา กับเพื่อให้ทรง แสดงธรรมโปรดอีกด้วย

            พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานอภัยโทษ  และทรงอนุโมทนาในธรรมจริยาของนางอุตตรา  พร้อมกับตรัสคาถาประทานด้วยว่า :-

 บุคคลควรจะชำนะความโกรธของเขา
  ด้วยความไม่โกรธของเรา
บุคคลควรจะชำนะความไม่ดีของเขา
ด้วยความดีของเรา
บุคคลควรจะชำนะความตะหนี่ด้วยการเสียสละ
บุคคลควรจะชำนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยคำจริง

แล้วได้ทรงประทานพระธรรมเทศนา โปรดนางสิริมา กับหญิงคนใช้ให้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล
ในวันรุ่งขึ้น  นางสิริมา ได้ทูล อาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์ ไปเสวยอาหาร บิณฑบาตในเรือนของตน ประกาศตนเป็นอุบาสิกา ในพระพุทธศาสนา  พร้อมกับจัดตั้ง          นิพัทธาหาร ถวายพระสงฆ์  ขอให้พระภัตตุเทศก์ จัดพระภิกษุมารับอาหารบิณฑบาตในที่เรือนของตนวันละ ๘ รูป ทุกวัน  จำเดิมแต่นั้นนางสิริมาก็หยุดกิจการนครโสเภณี  บำเพ็ญกุศลฝักใฝ่อยู่แต่ในกองบุญในพระพุทธศาสนา
ต่อมาไม่นาน นางสิริมา ได้ป่วยด้วยโรคปัจจุบัน คือเพียงแต่เวลาเช้า ยังลุกขึ้นใส่บาตรพระ ๘ รูป  ที่เข้ามารับบาตรที่เรือนได้  พอเวลาเย็นก็ถึงแก่กรรม

            พระเจ้าพิมพิสาร ได้ส่งราชบุรุษให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า บัดนี้นางสิริมา  น้องสาวหมอชีวก  ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว  จะทรงโปรดประการใด  พระเจ้าค่ะ  ในฐานะที่เธอเป็นสาวิกาของพระองค์

            พระศาสดาตรัสสั่งให้ราชบุรุษกลับไปทูลว่า  ขอให้รอการเผาศพนางสิริมาไว้ก่อน  โดยให้เจ้าพนักงานนำศพนางสิริมา ไปรักษาไว้ที่สุสาน ต่อล่วง ๓ วัน จึงให้เผาได้

            พระเจ้าพิมพิสาร  ได้โปรดให้ปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์ทุกประการ  ครั้นเวลาล่วงไปได้ ๓ วัน  ศพนางสิริมา ก็ขึ้นพองเต็มที่  น้ำเหลืองไหลออกจากทวารทั้ง ๙ กลิ่นศพเหม็นตะหลบสุสาน  พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้เจ้าพนักงาน จัดงานพระราชทานเพลิงศพนางสิริมา  โดยประกาศให้ประชาชนไปพร้อมกันที่สุสาน  แม้พระองค์พร้อมด้วยเสวกามาตย์ราชบริพารก็จะเสด็จ  ทั้งได้โปรด ให้กราบทูลพระศาสดาทรงทราบด้วย
ครั้นพระศาสดาทรงทราบแล้ว  ก็โปรดให้ประกาศแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้ไปพร้อมกันเพื่อเยี่ยมศพนางสิริมาที่สุสาน  ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสิริมา ณ บ่ายวันนี้

            ครั้นได้เวลา พระศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์ ก็เสด็จไปยังสุสานนั้น ได้ทรงนำพระสงฆ์ประทับยืนทอดพระเนตรดูศพอยู่ข้างหนึ่ง  ภิกษุณีสงฆ์ก็ยืนอยู่ข้างหนึ่ง  พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยราชบริพาร ก็ประทับยืนอยู่ข้างหนึ่ง  เหล่าอุบาสก อุบาสิกา  ประชาชนชายหญิง  ก็พากันยืนสงบกิริยาดูอยู่ข้างหนึ่ง

            พระศาสดาทรงรับสั่งถามพระเจ้าพิมพิสารว่า “มหาบพิตรใครนั่น”
“น้องสาวหมอชีวิก ชื่อว่า สิริมา  พระเจ้าค่ะ”
“นั่น !  นางสิริมาหรือ  ถวายพระพร”
“ใช่  พระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้น  ขอมหาบพิตรได้โปรดให้ขายทอดตลาดนางสิริมา ใครให้ ๑,๐๐๐ กหาปนะ  ก็ให้รับเอานางสิริมาไปได้ทันที”

            ครั้นพระเจ้าพิมพิสาร โปรดให้ประกาศตามพระพุทธพจน์แล้ว ก็หามีผุ้ใด้ใครผู้หนึ่งมารับซื้อไม่  ดังนั้น จึงโปรดให้ลดราคาลงมาโดยลำดับคือ ห้าร้อยกหาปนะ,  สองร้อยห้าสิบ, สองร้อย, หนึ่งร้อย, ห้าสิบ, สิบห้า, สิบหกกหาปนะ, ห้ากหาปนะ, หนึ่งกหาปนะ, ครึ่งกหาปนะ, ๑ บาท,      ๑ มาสก, ๑ กากนิก  แม้ลดลงจนที่สุดของราคาแล้ว  ก็ยังไม่ปรากฏคนซื้อ  ในที่สุดก็โปรดรับสั่งว่า “ให้เปล่า”  ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีคนรับ  จึงได้กราบทูลพระศาสดาว่า  “แม้แต่ให้เปล่า ก็ไม่มีคนต้องการพระเจ้าค่ะ”

            พระศาสดาทรงชี้ศพนางสิริมา  พร้อมกับรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูนั่น !  สตรีรูปงาม เป็นที่รักใคร่ของมหาชน ในพระนครนี้  แต่ก่อนจะได้ชมนางเพียงหนึ่งวัน จะต้องจ่ายทรัพย์ให้นางถึง ๑,๐๐๐ กหาปนะ  บัดนี้แม้จะให้เปล่า ก็ไม่มีคนต้องการ  ภิกษุทั้งหลาย  รูปกายนี้ถึงความสิ้นไป เสื่อมไปอย่างนี้แหละ  ท่านทั้งหลาย  จงพิจารณาดูอัตตภาพอันอาดูร ให้ตระหนักเถิด  แล้วตรัสคาถาประทานธรรมเทศนา แก่มหาชน ที่ประชุมอยู่ในสุสานนั้น :-

            “สูเจ้าจงพิจารณาดูร่างกายที่ตกแต่งให้งดงามด้วยอาภรณ์พรรณต่างๆ เพียบพร้อมด้วย อังคาพยพน้อยใหญ่  มีทวารทั้ง ๙  สำหรับเป็นทางให้สิ่งปฏิกูลไหล เข้าไหลออกอยู่เป็นประจำ  ปรุงแต่งขึ้นด้วยกระดูกหลายร้อยท่อน อาดูรด้วยความไม่สบายเหมือนเป็นไข้  อันจะต้องแก้ไขด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ  ที่มหาชนมีความใคร่กันอยู่โดยมาก  แต่หาความยั่งยืนมั่นคงมิได้เลย  ในที่สุดก็แปรสภาพมาเป็นเช่นนี้  ซึ่งทุกคน ก็ต้องเป็นเช่นนี้เหมือนกัน”

            พระธรรมเทศนาได้อำนาวยอริยมรรค อริยผล แก่มหาชน ทีประชุมอยู่ ณ ที่นั้น เป็นอันมาก

            จบตำนาน พระพุทธรุปปางชี้อสุภ แต่เพียงนี้

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ  จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า ๑๘๕-๑๙๒ )

 

 

 

 

HOME

 

Free Web Hosting