๒๔. ปางชี้อัครสาวก
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้น ชี้นิ้วพระหัตถ์ขวาตรงออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาประกาศอัครสาวกให้ปรากฏ ในที่ประชุมสงฆ์
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้
ในครั้งนั้น มีมาณพ ๒ คน เป็นมิตรสหายที่สนิดชิดเชื้อกันเป็นอันมาก ชื่อว่า อุปติสสะ คนหนึ่ง แต่คนชอบเรียกว่า สารีบุตร ด้วยเป็นบุตรของนางสารีพราหมณี ภรรยานายบ้านที่มั่นคั่ง ชื่อโกลิตะ คนหนึ่ง แต่คนชอบเรียกว่า โมคคัลลานะ ด้วยเป็นบุตรของนางโมคคัลลี ภรรยานายบ้านที่มั่งคั่งทั้งสองนี้รักใคร่กันมาก มีอายุรุ่นราวคราวเดียว เป็นเพื่อนกันมาแต่เล็กแต่น้อย เล่าเรียนศิลปะศาสตร์ในสำนักเรียนเดียวกัน แม้เสร็จการเรียนแล้ว ก็ยังสนิทสนมกันไปไหนไปด้วยกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กันฉันมิตรอยู่เสมอ
วันหนึ่ง สองสหายนี้ พร้อมด้วยเพื่อนฝูง ไปดูงานบนยอดภูเขาเกิดความสลดใจ ไม่สนุกร่าเริงเหมือนวันก่อนๆ ด้วยคิดเห็นว่า คนเหล่านี้รวมทั้งตัวเรา อยู่อีกไม่ถึงร้อยปี ก็จะตายสิ้น สิ่งที่เป็นสาระอันควรจะได้จะถึง ซึ่งควรจะแสวง ก็ยังมิได้แสวง แม้เพียงแต่คิดก็ยังมิได้คิด ครั้นสองสหายปรึกษาหารือกัน และมีความเห็นร่วมกันแล้ว จึงพร้อมกันออกมาบวชเป็นปริพาชก ซึ่งเป็นนักบวชจำพวกหนึ่ง ในสำนักท่านสัญชัยปริพาชก อันเป็นสำนักใหญ่มีชื่อเสียงสำนักหนึ่งในเวลานั้น
เนื่องจากสารีบุตรและโมคัลลานะ ปริพาชกทั้งสองนี้เป็นคนมีปัญญา มีการศึกษาดีมาก่อน ทั้งเมื่อบวชก็บวชมุ่งแสวงหาโมกขธรรม ดังนั้นครั้นบวชเป็นปริพาชกในสำนักท่านอาจารย์สัญชัยแล้ว จึงได้ตั้งหน้าเรียนและปฏิบัติตามด้วยความอุตสาหะ ครั้นศึกษาอยู่ไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของท่านอาจารย์ และได้รับยกย่องจากสัญชัยปริพาชกว่า ทั้งสองสหายนี้ มีความรู้เสมอกับท่าน และแต่งตั้งให้ท่านเป็นครูช่วยสั่งสอนศิษย์ในสำนักด้วย แต่สารีบุตรปริพาชก ก็มีเพียงเท่านี้ หาเป็นทางตรัสรู้ไม่ จึงไม่พอใจอยู่ แต่เมื่อยังไม่เห็นทางใดดีกว่า ก็ยังอาศัยอยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชกไปพลางก่อน ต่างได้ทำสัญญากันไว้ว่า “ต่างจะพยายามแสวงหาครูอาจารย์ ที่สามารถสอนโมกขธรรมได้ ในสองคนเรานี้ ผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน ผู้นั้นจะต้องมาบอกกัน”
วันหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกกลับจากธุระ มุ่งหน้าเดินมายังอารามของปริพาชกแต่เช้า บังเอิญได้เห็นพระอัสสชิเถระเจ้ากำลังเดินบิณฑบาตอยู่ ครั้นได้เห็นแล้ว ก็รู้สึกพอใจในอากัปกิริยาของท่าน ตั้งตาจับดูกิริยาตลอดเวลา ในเมื่อท่านอัสสชิเถระ จะก้าวหน้า จะถอยหลัง จะเหยียดมือออก จะคู้มือเข้า ก็ล้วนอยู่ในอาการสังวร เรียบร้อย ทอดตาไปพอประมาณ งามสมแก่สมณสารูปยิ่งนัก เดินติดตามดูท่านไปตลอด ดูพลางนึกพลางว่า ที่มหาชนร่ำลือกันว่า พระอรหันต์มีอยู่ในโลกนี้นั้น พระองค์นี้จะต้องเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนของพระหัตถ์ทั้งหลายเป็นแน่แท้ ไฉนหนอเราจะได้เข้าไปใกล้ ได้ศึกษาธรรมกับท่าน และแล้ว ก็นึกต่อไปว่า เวลานี้ ยังไม่สมควรด้วยท่าน กำลังแสวงหาอาหารอยู่ จึงได้พยายามติดตามไปโดยลำดับ
ครั้นพระอัสสชิเถระเจ้า ได้บิณฑบาตพอฉันแล้ว ก็หลีกออกจากทางไปยังที่ซึ่งพอจะเป็นที่นั่งพักฉันบิณฑบาต ฝ่ายสารีบุตรปริพาชกติดตามมาอย่างใกล้ชิด จึงถือโอกาสทำเป็นอุบาสกที่ดี เข้าปฏิบัติจัดที่นั่งถวาย จัดน้ำถวาย แล้วนั่งปฏิบัติพระอัสสชิเถระ ขณะที่ฉันบิณฑบาตอยู่ในที่พอสมควร เมื่อพระเถระเจ้าฉันอิ่มแล้ว สารีบุตรปริพาชก ได้เข้าไปใกล้ กราบลงด้วยความเคารพ แล้วเรียนถามท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญอินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวพรรณก็หมดจดสดใส ท่านผู้เจริญ ท่านบวชจำเพาะใคร ใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร พระอัสสชิเถระ ตอบว่า ท่านปริพาชก พระมหาสมณศากยบุตร ซึ่งเสด็จออกบวชจากศากยตระกูล พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นสัมมาสัมพุทธะ ฉันบวชจำเพาะพระองค์ พระองค์เป็นอาจารย์ของฉัน ฉันชอบใจธรรมของพระองค์
ท่านผู้เจริญ อาจารย์ของท่าน กล่าวสอนอย่างไร
ฉันเพิ่งบวชใหม่ ท่านปริพาชก ฉันมาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นาน ไม่อาจแสดงแก่ท่านโดย วิจิตรพิสดารได้ แต่ฉันจะแสดงให้ท่านฟังเพียงใจความย่อๆ
เป็นพระคุณยิ่ง ท่านผู้เจริญ! นิมนต์ท่านแสดงแต่ใจความเถิดขอรับ และความจริงกระผมก็มีความประสงค์ แต่ใจความเท่านั้น เรื่องมากถ้อยมากคำ มิใช่สิ่งที่ผมขอประทานเลย
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิ ได้แสดงธรรมแก่สารีบุตรปริพาชก โดยย่อว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เป็นอาทิ ความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของธรรมนนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้ สารีบุตรปริพาชกได้ฟังธรรม ก็ทราบชัดโดยปรีชาญาณ ของตนว่า ธรรมทั้งปวงเกิดแต่เหตุ และจะสงบระงับไป ก็เพราะดับเหตุก่อน พระศาสดาทรงสอนให้ปฏิบัติ เพื่อสงบระงบเหตุแห่งธรรม อันเป็นเครื่องก่อให้เกิดทุกข์ เกิดดวงตาเห็นธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมจักษุ อันเป็นตัวอริยมรรคญาณ ขึ้นทันทีว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนต้องมีความดับเป็นธรรมดา สารีบุตรปริพาชก ได้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ในทันใดนั้น จึงนมัสการพระเถระเจ้า เรียนถามว่า เวลานี้พระบรมศาสดา ของเราเสด็จประทับอยู่ที่ไหนขอรับท่านอาจารย์ฯ อยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น นิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถิดขอรับ กระผมจะต้องกลับไปบอกโมคคัลลานะ สหายที่ให้สัญญากันไว้แล้ว จะพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา
ครั้นพระอัสสชิเถระไปแล้ว สารีบุตรปริพาชก ก็กลับมายังอารามของปริพาชก เล่าเรื่องที่ตนได้พบกับพระอัสสชิเถระเจ้า ให้โมคคัลลานะ สหายฟัง พร้อมกับแสดงโมกขธรรมที่ตนได้บรรลุแล้ว ให้โมคคัลลานะฟังด้วย
โมคคัลลานะปริพาชกฟังแล้ว กำหนดพิจารณาตามด้วยปรีชาญาณของตน ก็พลันได้บรรลุธรรมจักษุ เป็นอริยบุคคล เช่นเดียวกับสารีบุตรปริพาชก แล้วถามสารีบุตรปริพาชกว่า พี่สารีบุตร เวลานี้พระบรมศาสดาของเราประทับอยู่ที่ไหน ?
ท่านอาจารย์บอกพี่ว่า ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร
ถ้าเช่นนั้น เราควรรีบไปเฝ้า พระบรมศาสดาดีกว่า
แต่สารีบุตรปริพาชก เป็นผู้มีน้ำใจมากด้วยความกตัญญู หนักในความเคารพครูอาจารย์ จึงกล่าวว่า โมคคัลลานะ พี่ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่อยากจะไปชวนท่านอาจารย์สัญชัยไปด้วย ความจริงท่านก็มีปัญญามาก พี่คิดว่า ถ้าท่านได้เฝ้าพระบรมศาสดา และได้ฟังธรรมแล้ว ก็จะได้บรรลุมรรคผลเป็นแน่แท้
โมคคัลลานะปริพาชก ตอบว่า ความจริงก็น่าจะเป็นอย่างพี่ว่า แต่โธ่ ! พี่น่าจะรู้ดีว่า ท่านอาจารย์สัญชัย เป็นคนมีทิฏฐิมาก ที่ไหนจะยอมเคารพคนอื่น ที่ไหนจะพอใจรับเอาคำสั่งสอนของผู้อื่นมาปฏิบัติ ผมคิดว่า การยอมตนเป็นศิษย์ของคนอื่น คงจะไม่เคยมีอยู่ในห้วงนึกคิดของท่านเป็นแน่
โมคคัลลานะ ใช่ว่าพี่จะไม่รู้ สารีบุตรปริพาชก เปิดความมีแก่ใจให้โมคคัลลานะสหายฟัง อันธรรมดาคนถ้ายังไม่รู้ว่า มีใครดีเหนือกว่า ก็ย่อมทะนงตนด้วยมานทิฏฐิทั่วๆกัน แต่เมื่อทราบว่ามีใครดีเหนือกว่าเกิดขึ้น ความทะนงตนก็ย่อมจะลดน้อยลงจากความรู้สึกเดิม อีกประการหนึ่งท่าน ก็เป็นครูอาจารย์ ควรที่เราจะไปนมัสการลาท่านก่อน แล้วถือโอกาสชักชวนทีเดียว ถ้าท่านไม่เชื่อ ยังถือตนว่าเป็นผู้วิเศษอยู่ เราก็ช่วยอะไรท่านไม่ได้
เอา! เป็นตกลงตามความเห็นของพี่ โมคคัลลานะ ปริพาชก กล่าวอนุวัตร ตามความเห็นชอบด้วย แล้วสองคนก็เข้าไปหาอาจารย์สัญชัย เล่าเรื่องที่ตนทั้งสอง มีความเลื่อมใสในธรรมของพระผู้มีพระภาค ด้วยเห็นว่า เป็นทางให้ถึงความหลุดพ้น โดยชอบ จึงอยากจะไปบวช เป็นภิกษุอยู่ในพุทธสำนัก และมีความปรารถนา ที่จะชวนท่านอาจารย์ไปด้วย ถ้าท่านอาจารย์มีความเห็นตามนี้
ทีนั้น สัญชัยปริพาชก เจ้าสำนักฟังถ้อยคำของศิษย์ผู้ใหญ่ทั้งสองตลึงไปครู่หนึ่ง แล้วจึงตอบว่า สารีบุตร โมคคัลลานะ ฉันจะทิ้งสำนักไปตามคำชวนของเธอไม่ได้ดอก บริษัทบริวารมีมาก ไปไม่ได้จริงๆ เธอพากันไปเถิด
พระสารีบุตร ยังไม่สิ้นความพยายาม จึงได้วอนกล่าวกะอาจารย์สัญชัยต่อไปอีกว่า ท่านอาจารย์ เมื่อมหาชนเขาเลื่อมใสพากันไปยังสำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดแล้ว จะมีใครมาสำนักท่านอาจารย์เล่า สำนักท่านอาจารย์จะมิว่างเปล่าผู้คนหรือ
สารีบุตร เธอเข้าใจอย่างนั้นรึ อาจารย์สัญชัยท้วงถาม พร้อมกับแสดงความรู้สึกในใจ ให้สารีบุตรและโมคคัลลานะฟังอีกว่า ฉันคิดว่าจะไม่เป็นอย่างที่เธอเข้าใจแน่ แต่เอาเถอะสารีบุตร ลองตอบคำถามฉันสักหน่อยถี ฉันคิดว่า ถ้าเธอตอบด้วยความจริงใจตามคิดเห็นแล้ว คำตอบของเธอนั่นแหละ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความคิดของฉันผิดหรือถูก แล้วอาจารย์สัญชัยก็ตั้งปัญหาแก่ศิษย์คนใหญ่ว่า สารีบุตร ในโลกนี้คนฉลาดมาก หรือคนโง่มาก
คนโง่มากขอรับ ท่านอาจารย์ สารีบุตรปริพาชกตอบทันที
สัญชัยปริพาชกยิ้มอย่างมีชัย แล้วพูดแช่มช้าว่า ถูกอย่างสารีบุตรพูด ฉันเองก็นึกอย่างนั้น และก็เมื่อคนโง่มากกว่าคนฉลาดแล้ว อย่างไรสำนักเรา จะว่างเปล่าจากผู้คนอย่างสารีบุตรพูดเล่า สารีบุตร เป็นธรรมดาเหลือเกินว่า คนฉลาดก็ย่อมจะไปหาคนฉลาด และคนโง่ ก็ย่อมจะไปหาคนโง่ เหมืองฝูงโค ก็ย่อมจะไปอยู่รวมกับโค ฝูงม้าก็ย่อมจะไปอยู่รวมกับม้า สารีบุตร โมคคัลลานะ เป็นคนฉลาดมีสติปัญญา ก็จะพากันไปยังสำนักพระสมณโคดม ส่วนคนที่เหลือนอกนั้นเป็นคนโง่ ก็จะพากันมายังสำนักเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ สำนักเราก็คงยังหนาแน่นด้วยผู้คน จะไม่ว่างเปล่าอย่างเธอนึกเป็นแน่
เมื่อสารีบุตรปริพาชก ถูกศอกกลับของท่านอาจารย์ ด้วยคำละเมียดละไมในเชิงชั้น โดยตั้งใจจะเอาชนะด้วยเล่ห์เหลี่ยมของถ้อยคำข้างเดียวเช่นนั้นก็จนใจ หมดกำลังใจที่มาชักชวนด้วยความปรารถนาดี ด้วยความเคารพอาจารย์ เพราะจิตมุ่งความหลุดพ้นเป็นโลกุตตรจิต จิตสุงใช่วิสัยสามัญ ส่วนจิตของอาจารย์สัญชัย เป็นจิตสามัญ ต่ำด้วยมานะทิฎฐิ มิได้มุ่งความหลุดพ้น มุ่งความเป็นใหญ่ ติดอยู่ในลาภยศ จึงไปด้วยกันไม่ได้ ครั้นเห็นว่า ไม่อาจจะกลับใจท่านอาจารย์สัญชัยได้แล้ว สองสหายก็ลาอาจารย์พาบริวารของตน ในสำนักประมาณ ๕๐๐ คน มุ่งหน้าเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันวิหาร ขณะนั้น พระบรมศาสดาประทับนั่ง ณ พระวิหารใหญ่ในที่ประชุมพระสงฆ์ทั้งหลาย ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตร โมคคัลลานะ สองสหาย กำลังพาบริวารมาเฝ้าแต่ไกลเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส ยกพระหัตถ์ชี้ตรงไปพร้อมกับตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า โน่นคู่อัครสาวกซ้ายขวา ของตถาคต กำลังเดินเข้ามาแล้ว
ครั้นสารีบุตร และโมคคัลลานะ สองสหาย พาบริวารมาถึงแล้ว ก็เข้าเฝ้าถวายอภิวาท ขอประทานโอกาสสดับพระธรรมเทศนา พระบรมศาสดาก็ทรงแสดงสัจจธรรมโปรดปริพาชกทั้งหลาย ให้บรรลุอรหัตตผล ด้วยกันสิ้น เว้นแต่สารีบุตรและโมคคัลลานะสองคน และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้อุปสมบท เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นด้วยกัน
หลังจากอุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน พระโมคคัลลานะ จึงบรรลุพระอรหัตตผล ณ บ้านกัลล-วาลมุตตคาม แขวงมคธ และอีก ๗ วันต่อมา พระสารีบุตร จึงได้บรรลุอรหัตตผล ในยามเช้า แห่งวัน มาฆบุรณมีดิถี พระจันทร์เพ็ญ เสวยมาฆฤกษ์ ณ ถ้ำสุกรขาตา ข้างภูเขาคิชฌกูฏ แขวงเมือง ราชคฤห์ ครั้นพระสารีบุตร แลพระโมคคัลลานะ ได้บรรลุอริยผลเบื้องสูงแล้ว ก็ได้รับยกย่องจาก พระบรมศาสดา ให้เป็นอัครสาวกซ้ายขวา สมดั่งพระวาจาที่ทรงยกพระหัตถ์ชี้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลาย ในวันแรกที่พาบริวารเข้ามาเฝ้า และสมดั่งปณิธานที่พระเถระเจ้า อัครสาวกทั้งสอง ได้ตั้งไว้ แต่อดีตชาติ.
จบตำนานพระพุทธรูปปางชี้อัครสาวก แต่เพียงเท่านี้
( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร ๒๕๓๓ หน้า ๙๕-๑๐๒)
|