๓๘. ปางสมาธิเพ็ชร

            พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งเป็นพิเศษ  คือนั่งขัดสมาธิไขว้พระชงฆ์  ยกฝ่าพระบาททั้งสองหงายขึ้นมาวางบนพระเพลา  พระหัตถ์ทั้งสอง ก็ยกขึ้นมาวางซ้อนกัน  ทับฝ่าพระบาทอีกทีหนึ่ง  นิยมเรียกว่า พระขัดสมาธิเพ็ชร

 

 

พระพุทธรูปปางนี้  มีตำนานดังนี้

            พระปางสมาธิเพ็ชร  นิยมสร้างขึ้นเป็นพระบูชาสำหรับคนเมื่อพระเกตุเสวยอายุ
ตำนานพระพุทธปางนี้ ไม่ปรากฏ ทราบกันแต่เพียงว่า เป็นปางประทับนั่งพักในเวลากลางวัน  ความจริงการนั่งท่านี้ไม่ใช่นั่งสบาย จะว่านั่งพัก็ดูกระไรอยู่  กลับจะตรงข้าม  สังเกตดูตามอาการจะต้องเป็นเรื่องทรง ตั้งพระทัยทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  ไม่ใช่นั่งพักหาความสบายอย่างนั่งไขว้ห้าง แต่ไม่มีเรื่องเล่าไว้  จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะยกขึ้นพูดเอาเองตามใจชอบ  ขอฝากผู้สนใจในพระปางนี้ ไว้จะพึงค้นคว้าสืบไป

            พระปางนี้ ในสมัยก่อน  คงจะมีผู้สนใจน้อย  จึงหาชมยาก  จะมีบ้างก็เป็นพระขนาดเล็ก ในสมัยรัตนโกสินทร์  สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔  ทรงนำสร้างขึ้นเมื่อปลายรัชกาล เรียกว่าพระนิรันตราย  แต่ก็เป็นพระขนาดเล็ก แบบพระบูชา  มีคนศรัทธาสร้างตามเสด็จน้อย  ไม่เหมือนปางทรงเครื่อง ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงนำสร้าง ปรากฏว่า มีคนศรัทธาสร้างตามเสด็จมากมาย  แม้เมื่อในปลายรัชกาลที่ ๖  สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างพระนิโรคันตราย เป็นพระบูชา อย่างพระนิรันตราย ในรัชกาลที่ ๔  ก็ไม่โปรดแบบสมาธิเพ็ชร  โปรดแบบสมาธิธรรมดา

            ดังนั้น พระปางสมาธิเพ็ชร จึงมีน้อย  หาบูชายาก  ในที่ทั่วๆไปไม่สู้จะเห็นนัก

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ  จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า๑๖๕-๑๖๗)

 


ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting