๓๗ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิรยาบถ  ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ  แบบพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติพิพาทกันในเรื่องน้ำในสมุทร  ต่างกันแต่จีบนิ้ว พระหัตถ์ทั้งสองเป็นกิริยาแสดงธรรม

 

 

            ตำนานพระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานพระพุทธรูปปางเปิดโลกและปางลีลา  ซึ่งเป็นปางที่ ๓๕  ที่ ๓๖  รวมอยู่ด้วย  มีเรื่องเล่าติดต่อกันดังนี้

            เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปประทับจำพรรา ในดาวดึงส์สวรรค์แสดงพระอภิธรรมโปรด พระพุทธมารด  ครั้นเวลาจวนใกล้จะออกพรรษาเข้าแล้ว  ประชาชนทั้งหลาย ที่ตั้งตาคอย จะเฝ้าพระบรมศาสดา  จึงเข้าไปหา พระมหาโมคคัลลานะเรียนถามว่า   พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงจากสวรรค์เมื่อใด และจะเสด็จลงที่ไหน  เพื่อข้าพเจ้าทั้งหลาย จะได้พากันไปเฝ้าพระองค์ ณ ที่นั้น  พระมหาโมคคัลลานะเถระตอบว่า  จะต้องขึ้นไปเฝ้าทูลถามพระบรมศาสดาดูก่อน  ได้ความอย่างไรจากพระองค์แล้ว จึงจะแจ้งให้ทราบ  แล้วพระเถระก็สำแดงอานุภาพแห่งสมบัติ ขึ้นไปสู่ดาวดึงส์พิภพ  สำแดงกายให้ปรากฏแก่มหาชน ในขณะขึ้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยฤทธิ์แห่งอภิญญา

            ครั้นพระเถระเจ้าเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว ก็กราบทูลตามเรื่องที่มหาชนมีความประสงค์
            พระบรมศาสดารับสั่งว่า  โมคคัลลานะ  บัดนี้  สารีบุตรพี่ชายเธอยู่ ณ ที่ใด
            พระมหาโมคคัลลานะก็กราบทูลว่า  เวลานี้พระสารีบุตรเถระเจ้า จำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะนคร พระเจ้าข้า
            ถ้าเช่นนั้นตถาคต  ก็จะลงที่ประตูเมืองสักัสสะนคร ในวันมหาปวรณา  โมคคัลลานะ จงแจ้งให้มหาชนทราบตามนี้  ผู้ใดประสงค์จะเห็นตถาคต ก็จงพากันไปยังที่นั้นเถิด
            พระมหาโมคคัลลานะ รับพระพุทธบัญชาแล้ว ก็ลงมาแจ้งข้อความนั้น แก่ชนทั้งหลายผู้ต้องการทราบเรื่องนี้อยู่
           
            ฝ่ายมหาชนทั้งหลาย  ที่ตั้งใจคอยเฝ้าพระบรมศาสดา เสด้จลงมาจากดาวดึงส์สวรรค์  เมื่อได้ทราบข่าวจากพระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้าก็ดีใจ พร้อมกับออกเดินทางไปยังเมือง     สังกัสสะนคร  ประชุมกันอย่างคับคั่งตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย  อันมีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน  มาประชุมกันต้อนรับพระบรมศาสดาอยู่ ณ ที่นั้นอย่างพร้อมเพรียง

            ครั้นถึงวัน ปุรณมีแห่งอัสสยุชมาสเพ็ญเดือน ๑๑  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณา พระวัสสาแล้ว  ทรงรับสั่งแก่ท้าวสักกเทวราชว่า  ตถาคตจะลงไปสู่มนุสสโลกในวันนี้  เมื่อท้าวโกสีย์ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว จึงทรงนิรมิตบันไดทิพย์ ๓ บันได  สำหรับพระพุทธดำเนินเสด็จลงมาสู่มนุสสโลก บันไดแก้วอยู่กลาง  บันไดทองอยู่ข้างขวา  บันไดเงินอยู่ข้างซ้าย  เชิงบันไดทั้ง ๓ นั้น ประดิษฐานอยู่ภาคพื้นปฐพี ที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร  ศีรษะบันไดเบื้องบน จรดยอดภูเขาสิเนรุราช  บันไดแก้วนั้น เป็นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง  บันไดทองเป็นที่เทพดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ  บันไดเงินเป้นที่พรหมทั้งหลายตามส่งเสด็จ  ขณะนั้นเทพดาและพรหมทั้งหลาย  ได้มาประชุมกัน บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า เต็มทั่วจักรวาล
            เมื่อได้เวลาเสด็จ  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ก็เสด็จมาประทับยืนที่ฐานศีรษะบันได  ในท่ามกลาง เทพ พรหม บริษัท ซึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร จึงได้ทรงทำ “ โลกวิวรรณปาฏิหาริย์” เปิดโลก  โดยพระอาการทอดพระเนตรไปในทิศต่างๆ รวมทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง  รวมเป็น ๑๐ ทิศด้วยกัน  และด้วยพระพุทธานุภาพ  ในทันใดนั้น  ทุกทิสทุกทาง จะแลโล่งตลอดหมด ไม่มีอันใดกีดกัน เทวดาในสวรรค์ จะมองเห็นมนุษย์  เห็นยมโลก  เห็นนรก  และมนุษย์ก็มองเห็นเทวดา เห็นสัตว์นรก  แม้สัตว์นรกก็มองเห็นมนุษย์ ตลอดเทวดา ในสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดปิดบัง  พระผู้มีพระภาคทรงทำ ปาฏิหาริย์เปิดโลก  พร้อมกับเปล่งฉัพพัณณรังสี  พระรัศมี ๖ ประการ  เป็นมหาอัศจรรย์  ( นี้เป็นมูลเหตุอันสำคัญ ให้สร้างพระพุทธรูปปางเปิดโลก)

            ครั้งนั้น เทพดาในหมื่นจักรวาล ได้มาประชุมกันในจักรวาล นี้เพื่อชื่นชมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำปาฏิหาริย์ พร้อมกันทำสักการบูชาสมโภช พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยทิพย์บุบผามาลัย เป็นอเนกประการ

            พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เยื้องย่างลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยบันไดแก้วมณีมัย ท่ามกลางเทพดา ในหมื่นจักรวาล มีท้าวสักกะ เป็นต้น โดยบันไดทองสุวรรณมัย ในเบื้องขวา  ท้าวสหัมบดีพรหม กับหมู่พรหม เป็นอันมากลงโดยบันไดเงิน หิรัญญมัย ในเบื้องซ้าย  ปัญจสิขรคนธรรพ์ เทพบุตร ทรงพิณมีสีดังผลมะตูมสุก  ดีดขับร้องด้วยมธุรเสียงอันไพเราะมาในเบื้องหน้า พระบรมศาสดา  ท้าวสันตุสิตเทวราช  กับท้าวสุยามเทวราชทรงทิพย์จามร ถวายพระบรมศาสดา ทั้งสองข้าง  ท้าวมหาพรหมปชาบดี ทรงทิพย์เศวตรฉัตร กั้นถวายพระบรมศาสดา                     ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราช ประคองบาตรเสลมัย ถวายพระบรมศาสดา  เสด็จเป็นมัคคุเทศก์ นำพระบรมศาสดาลงมา ในท่ามกลางทวยเทพยดาแลพรหม ทั้งหลาย  พากันแวดล้อมห้อมเป็นบริวาร

            เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์โดยบันไดแก้วลงมาถึงเชิงบันได  มหาชนทั้งหลาย ได้เห็นพระรูปพระโฉมของพระผู้มีพระภาค  ได้เห็นการเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ ในท่ามกลางเทพยดาและพรหมเป็นอันมาก  ครั้งนั้นงามจับอกจับใจอย่างที่ไม่เคยคิดเคยเห็นมาแต่ก่อน  ก็พากันลิงโลดแซ่ซ้องสาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว  แม้แต่พระสารีบุตรพุทธสาวก ยังได้กล่าวคาถา สรรเสริญด้วยความยินดี  ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า  น  เม  ทิฏฺโฐ  อิโต  ปุพฺเพ เป็นอาทิ  ความว่า  ข้าพระองค์ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยิน  มาก่อนเลยว่า  พระผู้มีพระภาคซึ่งงามด้วย ศิริโสภาค ยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งมวล  มีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้  เสด็จลงมาจากสวรรค์

            นี้เป็นมูลเหตุให้พุทธบริษัทสร้างพระพุทธรูปปางลีลา และปางเสด็จลงมาจากดาวดึงส์
            ขณะนั้น  พระบรมศาสดา ซึ่งมีพระทัยมากด้วยพระมหากรุณามุ่งต่อนรานรประโยชน์ จึงได้แสดงธรรม โปรดพุทธบริษัท  ผู้กำลังมีความโสมนัส พึงตา พึงใจ ชมในพระรูปพระโฉม  อยู่ในท่ามกลางเทพยเจ้าและหมู่พรหม  ที่พร้อมกันถวายสักการบูชาด้วยทิพยบุบผานานาวรามิส  ให้เกิดกุศลจิตสัมปยุต ด้วยปรีชาญาณ  หยั่งรู้ในเทศนาบรรหาร ตามควร แก่อุปนิสัย  เมื่อจบเทศนานัยธรรมานุสนธ์  ต่างกก็ได้บรรลุอริยมรรค  อริยผล ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงเบื้องปลาย  ตามอริยุปนิสัยที่ได้สั่งสมมา

 

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๖๐ - ๑๖๔ )

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting