๒๘. ปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
           
            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ  พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระกาย  พักพระชานุเบื้องขวา พระปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถอื่นก็มี  ส่วนมากเป็นภาพเขียน และภาพแกะสลักติดผนัง

 

 

พระพุทธรูปปางนี้  มีตำนานดังนี้

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า  เสด็จประทับอยู่ยังพระเวฬุวันวิหาร  อาศัยกรุงราชคฤห์นคร เป็นที่โคจรภิกษาจาร และประทานเทศนา  โปรดสัตว์ผู้มีจฉาจิตดำเนินไปในทางที่ผิด  ให้เกิดกุศลจิตกลับมา  ดำเนินในอริยมรรค อันเป็นทางเกษมสันต์  อันจะนำผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงซึ่งสวรรค์  และนิพพาน เกียรติศัพท์ของพระองค์ก็แผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศ  ให้มหาชนเกิดศรัทธาน้อมจิต เข้าถึงพระรัตนตรัย ตลอดกาล

            เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะ  พระพุทธบิดา  ณ พระนครกบิลพัสดุ์ ได้ทรงทราบพระเกียรติคุณของพระสัมพุทธเจ้า ฟุ้งขจร ไปทั่วทุกทิศ  ก็ทรงปิติโสมนัส ที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมพิญาณ สมดังคำพยากรณ์ของท่านอาจารย์อสิตดาบส  และพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน  ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า  เมื่อใดพระสัมพุทธเจ้า จึงจะเสด็จไปพระนครกบิลพัสดุ์

            ครั้นไม่ได้ข่าววาแววมาเลยว่า พระสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ก็ทรงร้อนพระทัย ปรารถนาจะให้ พระสัมพุทธเจ้า เสด็จพระนครกบิลพัสดุ์  จึงทรงส่งอำมาตย์ พร้อมด้วยบริวาร คณะหนึ่ง ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระเวฬุวันวิหาร  กราบทูลอาราธนาให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสดุ์  ครั้นอำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางจากพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครราชคฤห์  อันมีระยะทาง ๖๐ โยชน์  ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ได้โอกาสฟังธรรมด้วย  ครั้นฟังธรรมแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตต์ทั้งคณะ  ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  ไม่ได้โอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา
ครั้นล่วมาหลายเวลา  พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์คณะนั้นหายไป ก็ทรงส่งอำมาตย์ คณะใหม่ออกติดตาม  และกราบทูลความประสงค์ของพระองค์ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ  แม้อำมาตย์ราชทูตคณะนี้ ก็ได้ฟังธรรม บรรลุมรรคผล  และได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา  เช่นอำมาตย์คณะก่อน  พระเจ้าสุทโธทนะ ส่งอำมาตาย์ไปอาราธนา  ไม่เป็นผลสมพระทัยดังนี้ถึง ๙ ครั้ง  ครั้งสุดท้าย ทรงน้อยพระทัย  รับสั่งเรื่องนี้แก่กาฬุทายี อำมาตย์ผู้ใหญ่ ขอมอบเรื่องให้  กาฬุทายี อำมาตย์ ช่วยจัดให้สมพระราชประสงค์  ด้วยทรงเห็นว่า  กาฬุทายีเป็นอำมาตย์ ผู้ใหญ่ ที่สนิทสนม  เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสัมพุทธเจ้า มาแต่ก่อน   ทังเป็นสหชาติของพระบรมศาสดา ด้วย

            กาฬุทายี รับสนองพระบัญชาพระเจ้าสุทโธทนะว่า “จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จ ให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้”  แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย  เพราะแน่ใจว่า ตนควรจะได้อุปสมบท  ในสมัยที่เป็นโอกาสอันดีงามเช่นนี้แล้ว  พระเจ้าสุทโธทนะจำต้อง พระราชทานให้กาฬุทายี ตามที่ทูลขอ ด้วยความเสียดาย หากแต่ดีพระทัยว่า  กาฬุทายีอำมาตย์ จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมพุทธเจ้า ให้สมประสงค์
ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์  พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว  ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร  ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตต์ พร้อมด้วยบริวาร  แล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุด้วยกันทั้งสิ้น  เมือ่พระกาฬุทายี เถระเจ้าบวชแล้วได้ ๘ วัน  ก็พอสิ้นเหมันตฤดู  จะย่างเข้าฤดูมหันต์  ถึงวันผคุณมาสปุรณมี คือวันเพ็ญ เดือน ๔ พอดี

            พระเถระเจ้ากาฬุทายี จึงดำริว่า  พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน บรรดาเหล่าชาว กสิกรทั้งหลาย ก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ  มรรคาที่จะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์  ก็สะดวกสบาย พฤกษชาติที่เกิดเรี่ยรายอยู่ริมทาง  ก็ให้ความร่มเย็นเป็นอย่างดี  สมควรที่พระชินศรีบรมศาดา จะเสด็จดำเนินไปกรุงกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระมหากษัตริย์ สุทโธทนะ พระพุทธบิดา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ศากยราช  ดำริแล้ว พระเถระเจ้า ก็เข้าเฝ้าพระบรมโลกนาถ ยังพระคันธกุฏี กราบทูลพรรณนาทางไปกบิลพัสดุ์บุรีว่า  เป็นสุขวิถีทางดำเนินสะดวกสบาย ตลอดมรรคา  ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักร้อน  เป็นที่รื่นรมย์ตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์  หากพระองค์จะทรง บำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดพระประยูรญาติ ยังกบิลพัสดุ์นคร  ก็จะเป็นที่สำราญพระกาย ไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพุทธลีลา  ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทา  ก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร  ด้วยตามระยะทาง มีโคจรคาม เป็นที่ภิกษาจารตลอดสาย

            อนึ่ง พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมาย  ใคร่จะได้ประสบพบพระองค์  ตลอดพระภิกษุ สงฆ์ทั้งหมด  หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปให้สม มโนรสของพระชนกนาถ  ตลอดทั่ว พระประยูรญาติศากยวงศ์  แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนา ลงที่กบิลพัสดุ์ บุรี  ก็จะเป็นเกียริเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา  นำมาซึ่งประโยขน์สุขแก่ปวงมหาชน  เป็นสิริมงคล แก่อนุชน คนภายหลังชั่วกาลนาน  ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมาร เสด็จสู่กบิลพัสดุ์บุรี  โปรดพระชนกและพระยูรญาติ ให้ปิติยินดีในคราวนี้เถิด

            เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถาที่กาฬุทายีเถระเจ้ากราบทูล พรรณนารวม ๖๔ คาถา วิจิตรพิสดาร  ก็ทรงตรัสสาธุการแก่พระกาฬุทายี ตรัสว่า “ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์บุรี ตามคำของท่าน ณ กาลบัดนี้  ฉะนั้นท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ให้ตระเตรียม การเดินทางไกล  ตามตถาคตประสงค์ที่จะเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์บุรี”

            เมื่อพระกาฬุทายี ออกมาประกาศให้มวลพระสงฆ์ ที่มาสันนิบาตอยู่พร้อมหน้า ให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว  บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุกๆองค์ ก็เตรียมบาตรจีวร  มาสโมสร รอเสด็จ พระบรมศาสดาตามวันเวลาที่กำหนด ครั้นได้เวลา  พระบรมศาสดาจารย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ ๒ หมื่น เป็นประมาณ เสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสดุ์นคร  เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย ประมาณระยะทางเดินได้วันละ ๑ โยชน์พอดี

            ฝ่ายพระกาฬุทายี ได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์  ของพระชินศรี สัมพุทธเจ้าแต่พระเจ้า สุทโธทนะบรมกษัตริย์  ท้าวเธอได้ทรงทราบ ก็ทรงโสมนัสเบิกบาน  แจ้งข่าวสารแก่มวลพระประยูรญาติทั้งศากยราชและโกลิยวงศ์ ในเทวหนคร  พระญาติทั้งสองฝ่ายได้มาสโมสรประชุมกันต้อนรับ ที่กบิลพัสดุ์บุรี  ด้วยความปิติยินดีเกษมศานต์  ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธมหาวิหาร  พร้อมด้วย เสนาสนะ และพระคันธกุฏี  เพื่อรองรรับพระชินศรี และพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัท เป็นสถานที่งดงาม  และเงียบสงัด ควรแก่สมณวิสัยเป็นอย่างดี

            ครั้นสมเด็จพระชินศรี  พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสดุ์นคร  บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสร ต้อนรับอยู่ทั่วหน้า  มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาเป็นประธาน  ต่างแสดงออก ซึ่งความเบิกบาน ตามควรแก่วิสัย แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธาราม พระมหาวิหาร  พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบน พระบวรพุทธอาสน์ บรรดาพระสงฆ์ ๒ หมื่น ต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนานาสน์อันมโหฬาร ดูงามตะการปรากฏสมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี

            ครั้งนั้น  บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลายมีมานะทิฏฐิอันกล้า  นึกละอายใจอาจน้อมประนม หัตถ์ถวายพระบรมศาสดาได้  ด้วยดำริว่า  “พระสิทธัตถกุมารมีอายุยังอ่อน ไม่ควรแก่   ชุลีกร นมัสกการ  จึงจัดให้พระยูรญาติราชกุมารที่พระชนมายุน้อย  คราวน้อง  คราวบุตร  หลาน ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า  เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา  ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย  ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่ พากันประทับนั่ง อยู่เบื้องหลัง เหล่าพระราชกุมาร  ไม่ประนมหัตถ์ ไม่นมัสการ  หรือคารวะแต่ประการใด  ด้วยมานะจิต คิดในใจว่า  ตนแก่กว่าไม่ควรจะวันทาพระสิทธัตถกุมาร

            เมื่อพระบรมศาสดาได้ทรงประสบเหตุ  ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิตคิดสังเวช แก่พระประยูรญาติ  ที่มีมานะจิต คิดมมังการ  จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ  ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาท ได้หล่นตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย  ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์

            ครานั้น  พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช  พระพุทธบิดา  ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์  จึงประนมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า

            “ข้าแต่พระผู้มีภาค แต่กาลก่อน  เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน  หม่อมฉันได้ให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส  พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บน ชฏาพระกาลเทวิลอาจารย์ แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม  ต่อมางานพระราชพิธี นิยม ประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ  พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรมใต้ร่มไม้หว้า  ครั้นเวลาบ่าย  เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ ได้ปรากฏ  แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการ เป็นคำรบสอง  ควรแก่การสดุดี  รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้ ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ”

            เมื่อสิ้นสุดพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช  บรรดา เหล่าพระประยูรญาติ สิ้นทั้งหมด  ก็พากันยอกรประณมอภิวาท พระบรมศาสดา ด้วยคารวะเป็นอันดี
ต่อนั้น  พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ ในท่ามกลางพระประยูรญาติสมาคม  เป็นที่ชื่นชม โสมนัสสุดจะประมาณ  ด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ ขณะนั้น  มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ บันดาลหยาดฝน โบกขรพรรษ ให้ตกลงในที่   พระขัติยะ ประยูรวงศ์ประชุมกัน   น้ำฝนโบกขพรรษนั้นมีสีแดง หลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล  เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา  ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย จึงจะเปียกาย  ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว  แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว เหมือนหยาดน้ำตกลงบนใบบัว  แล้วก็กลิ้งตกลงไป มิได้ติดอยู่ ให้เปียก  ดังนั้น  จึงได้นามขนานขานเรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ”  เป้นมหัศจรรย์

            ครั้นนั้น  พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ชวนกันพิศวง  ต่างองค์ก็สนทนาว่า มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล  พระองค์จึงมีพระพุทธบรรหารตรัสว่า  “ฝนโบกขรพรรษ นี้มิใช่จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น  ก็หาไม่  ในอดีตสมัยเมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษ  ก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้”  แล้วสมเด็จพระ มหามุนี จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา  เรื่องมหาเวสสันดรชาดก  ยอยกพระมหาทานบารมี  เป็นพุทธานุสาสนี โปรดพระประยูรญาติ  ซึ่งเป็นโอกาสอันควร แก่พระธรรมเทศนา  ที่ทรงพระอุตสาหะ เสด็จมเป็นปฐม  ให้พระประยูรญาติมีความนิยมเบิกบาน

จบตำนานพระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ แต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ) จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๒๑ - ๑๒๗ )

 

 

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting