ปางรำพึง
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นกิริยารำพึง บางแห่งสร้างเป็นแบบนั่งก็มี พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้ ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบวาระจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงร้องประกาศชวน เทพดาทั้งหลาย พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ถวายอภิวาทแล้ว กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค ให้ทรงแสดงธรรม โปรดประชากร เพื่อบุคคลผู้มีชุลีในนัยน์ตาน้อย ทั้งมีอุปนิสัย ในอันจะเป็นพุทธสาวก จะได้ตรัสรู้ธรรมบ้าง พระผู้มีพระภาค ทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ปางก่อนว่า ได้ตรัสรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมโปรดประชากรทั้งหลายประดิษฐาน พระพุทธศาสนา ให้แผ่ไพศาล เพื่อประโยชน์สุขแก่ปัจฉิมชนตาชน คนเกิดมาภายหลัง แล้วจึงเสด็จปรินิพพาน จึงได้น้อมพระทัยไปในอันแสดงธรรมโปรดประชากรในโลกแล้ว ทรงพิจารณาอีกว่า จะมีผู้รู้ถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่ ก็ทรงทราบถึงอุปนิสัยของบุคคลทั้งหลายในโลกย่อมมีต่างๆกัน คือทั้งประณีต ปานกลาง และหยาบ ที่มีนิสัยดี มีกิเลสน้อยเบาบาง มีบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว ซึ่งพอจะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ ก็มีอยู่ ผู้มีอินทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา กล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี เปรียบเหมือนดอกบัว ที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้บางเหล่ายังจมอยุ่ในน้ำ บางเหล่าอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าขึ้นพ้นน้ำแล้ว ในดอกบัว ๓ เหล่านั้น ดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำแล้วน้ำ คอยสัมผัส รัศมีพระอาทิตย์อยู่ จักบาน ณ เช้าวันนี้ ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบาน ณ วันพรุ่งนี้ ดอกบัวที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำ ยังอยู่ภายในน้ำ จักบาน ณ วันต่อๆไป ดอกบัวที่จะบานมีต่างชนิด ฉันใด เวไนยสัตว์ที่จะตรัสรู้ธรรม ก็มีต่างพวกกันฉันนั้น ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นผู้ที่จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย ก็อาจรู้ธรรมพิเศษนั้นได้ ฉับพลัน ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้น เป็นประมาณกลาง ได้รับอบรมในปฏิปทาอันเป็นบุพพภาค จนมีอุปนิสัยแก่กล้า ก็สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษ นั้นดุจเดียวกัน ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้น แต่ยังอ่อน หรือหาอุปนิสัยไม่ได้เลย ก็ยังควรได้รับแนะนำ ในธรรมเบื้องต่ำต่อไปก่อน เพื่อบำรุงอุปนิสัย เมื่อเป็นเช่นนั้น พระธรรมเทศนาคงไม่ไร้ผล จักยัง ประโยชน์ให้สำเร็จแก่คนทุกเหล่า เว้นแต่จำพวกมิใช่เวไนย คือไม่รับแนะนำ ซึ่งเปรียบด้วยดอกบัวอ่อน อันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าฉิบหายเสีย ครั้นทรงพิจารณาด้วยพระญาณ หยี่งทราบเวไนยสัตว์ ผู้จะได้รับประโยชน์ จากพระธรรมเทศนาดั่งนั้นแล้ว ก็ทรงอธิษฐานพระหฤทัยในอันจะแสดงธรรม สั่งสอนมหาชน และตั้งพุทธปณิธาน จะใคร่ดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะได้ประกาศ พระศาสนาแพร่หลาย ประดิษฐานให้มั่นคง สำเร็จประโยชน์แก่ชนนิกรทุกเหล่า พระพุทธจริยา ที่ทรงพระรำลึกถึงธรรมที่จะแสดงโปรดมหาชนนั้น เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า ปางรำพึง ( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ)
|
ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ