๓๑. ปางรับผลมะม่วง

            พระพุทธรุปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวาทรงถือผลมะม่วง  และวางหลังพระหัตถ์ไว้บนพระเพลา  หงายพระหัตถ์ให้เห็นผลมะม่วง ที่ทรงถืออยู่

 

 

พระพุทธรูปปางนี้  มีตำนานดังนี้
เมื่อพระบรมศาสดาทรงโปรดพระพุทธบิดา  ในเสลาต่อมาให้ดำรงอยู่ในพระอริยผลชั้น  อนาคามีบุคคล  โปรดพระนางปชาบดีโคตรมีและพระนางพิมพาเทวี ให้อยู่ในพระอริยผล ชั้นโสดาบัน  โปรดให้นันทกุการพุทธอนุชา ให้ทรงผนวชเป็นภิกษุ  โปรดให้ราหุลกุมาร ซึ่งเป็นพระพุทธชิโนรส บรรพชาเป็นสามเณร  และโปรดพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้ตั้งอยู่ในพระอริยธรรมควร แก่วิสัย  ตลอดเวลา ๑ พรรษา  ครั้นออกพรรษาแล้ว  ก็เสด็จกลับมาประทับที่ พระเวฬุวันวิหาร  พระนครราชคฤห์

            ต่อมา ท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐี เมืองสาวัตถี มากรุงราชคฤห์ ได้ฟัง พระธรรมเทศนา แล้วบรรลุพระโสดาปัตติผล  ได้ถวายไทยทาน แด่พระบรมศาสดา พร้อมด้วย พระสงฆ์สาวก  กับได้ อารธานา พระบรมศาสดา ให้เสด็จไป ประทับจำพรรษา ณ พระนครสาวัตถี  โดยท่านจะสร้าง พระวิหารถวาย ครั้นพระบรมศาสดา รับอารธนาแล้ว  ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ก็รีบกลับพระนคร สาวัตถี  ขอซื้อสวนของเจ้าชายเชตุกุมาร แล้วสร้างพระมหาวิหาร พร้อมด้วยเสนาสนะสมบูรณ์ ทุกประการ  สิ้นทรัพย์เป็นจำนวน ๕๔  โกฏิ ให้นามขนานว่า “พระเชตะวันวิหาร”  แล้วทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาจารย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ หมู่ใหญ่ ให้เสด็จมาประทับ จำพรรษา ณ พระเชตะวันมหาวิหาร นี้

            พระบรมศาสดา ได้แสดงธรรม ประกาศพระศาสดา   ยังมหาชนตั้งต้นแต่                    พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ลงมา ให้เลื่อมใสตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์เป็นอันมาก  โดยกาล ไม่นานแล้ว  พระบรมศาสดาจารย์ เสด็จกลับมาประทับยังพระเวฬุวันวิหารอีก

            ครั้งนั้น  มีเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ผู้หนึ่ง  ยังมิได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  และก็มิได้เลื่อมใส ในลัทธิของอาจารย์ใดๆทั้งสิ้น  เป็นคนไม่มีพระศาสนา  แต่กำลังสนใจใคร่ครวญว่า ตนควรจะตั้งอยู่ในศาสนาใด  หรือควรตั้งอยู่ในลัทธิของอาจารย์ใดจึงจะดี  ก็บังเอิญท่านเศรษฐีผู้นี้ ได้แก่นไม้จันทน์แดงมาท่อนหนึ่ง  ก็พลันนึกอุบายอย่างหนึ่งได้  จึงให้ช่างไม้เอาจันทน์แดงท่อนนั้น มากลึงเป็นบาตรลูกหนึ่ง  แล้วให้วางในสาแหรกแขวนไว้ที่ปลายลำไม้ไผ่ ต้นหนึ่ง ที่หน้าเรือนของตน  พร้อมกับให้คนใช้ประกาศว่า  เวลานี้มีข่าวโจษจันกันเนืองๆว่า  บัดนี้ มีพระอรหันต์บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว  แต่ว่าเรายังไม่รู้จักพระอรหันต์  ทั้งไม่มีญาณวิเศษ อันใดจะหยั่งรู้ว่า  ท่านองค์ใดเป็น พระอรหันต์อีกด้วย  ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าอยากจะรู้จักพระอรหันต์  เมื่อรู้แล้วจะได้เคารพ  สักการบูชา  ยอมตนเป็นศิษย์  ดังนั้น  ถ้าท่านองค์ใดองค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์  ขอท่านองค์นั้น จงเหาะมาทาง อากาศ ถือเอาบาตรไม้จันทน์ลูกนี้เถิด  ข้าพเจ้าจะยอมรับว่า ท่านองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ด้วยวิธีนี้เป็นสำคัญ

            อนึ่ง  ถ้าภายใน ๗ วัน  นับแต่วันที่ประกาศนี้ไป  หากไม่มีพระอรหันต์องค์ใดเหาะมาเอาบาตรไม้จันทน์แล้วไซร้  ข้าพเจ้าจะตกลงใจว่า โลกนี้ไม่มีพระอรหันต์  คำที่มหาชนกล่าวว่า มีพระอรหันต์นั้น เท็จ  ไม่เห็นความจริง

            อุบายของท่านเศรษฐีนี้ได้ผล  เพราะภายใน ๒-๓ วันนั้นเอง ทำให้เจ้าลัทธิต่างๆ ที่ประกาศตนว่าเป็นอรหันต์  ได้พากันร้อนตัว  จัดส่งศิษย์ของตนมาพบท่านเศรษฐี  พูดจาหว่านล้อมพร้อมกับแสดงวิธีต่างๆประกอบ  เพื่อให้ท่านเศรษฐีตายใจว่า เจ้าลัทธินั้นๆ เป็นอรหันต์  และขอรับบาตรไป  แต่ท่านเศรษฐีเป็นคนรักษาคำพูด  แม้จะถูกผู้ใดใช้อุบายอย่างใด ก็ไม่ยอมให้บาตร ยืนคำขาดว่า  เหาะมาเอาเถิด  ถ้าเป็นพระอรหันต์  และในที่สุด ก็ไม่มีพระอรหันต์เหาะมาเอาบาตร ไม้จันทน์แดง 
จนถึงวันคำรบ ๗

 

            เช้าวันนั้น  พระมหาโมคคัลลานะเถระ กับพระปิณโฑลภารทวาชเถระ  ออกจากพระวิหาร  มายืนห่มจีวรอยู่ที่บนแผ่นหินดาดนอกเมือง  ได้ยินคนโจษกันว่า บัดนี้ครบ ๗ วันแล้ว ไม่เห็นมีพระอรหันต์เหาะมาเอาบาตร  พระอรหันต์ในโลกนี้ ไม่มีแน่แล้ว

            พระมหาโมคคัลลานะ จึงกล่าวกะพระปิณโฑลภารทวาชะว่า  ท่านปิณโฑละ  ได้ยินคนเขาพูดกันไหม  คนเหล่านี้ กำลังย่ำเหยียบ เกียรติของพระศาสนา  ความจริง  ท่านก็มีฤทธิ์มาก  ท่านควรจะเหาะไปเอาบาตรไม้จันทน์แดงนี้เสียเถิด

            พระปิณโฑลภารทวาชะ ตอบว่า  พระคุณท่านนั่นแหละเป็นผู้เลิศใสหมู่พระสาวกที่มีฤทธิ์มาก  ฉะนั้น พระคุณท่านจะไปเอาบาตร แต่เมื่อท่านไม่ไป  กระผมจะไปเอาเอง  พูดแล้ว พระปิณ-โฑลภารทวาชะ ก็เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทของอภิญญา  ทำปาฏิหาริย์สำแดงฤทธิ์ เอาปลายเท้า คีบหินดาดแผ่นนั่น ซึ่งใหญ่ยาวประมาณ ๓ คาวุต  ลอยขึ้นไปบนอากาศ เสมือนปุยนุ่นติดเท้า พระเถระไป  เวียนรอบอยู่บนพระนครราชคฤห์ ๗ รอบ  ลักษณาการของหินดาดนั้น คล้ายกับฝาละมีจะปิดพระนคร

            ชาวเมืองทั้งหลายพากันตกใจกลัวหินจะหล่นลงมาทับ  ร้องขอให้พระเถระจับแผ่นหินไว้ให้มั่นๆหน่อย  พระเถระสลัดแผ่นหินนั้น ให้ปลิวไปตกยังที่เดิมแล้ว  ยืนอยู่ในอากาศ ที่หน้าเรือนท่าน เศรษฐี
ท่านเศรษฐีนั้น เห็นแล้วหมอบลงกราบ อาราธนาให้พระเถระเจ้าลงมานั่งบนอาสนะในเรือนของตนแล้ว  นำบาตรไม้จันทน์ลงมา  จัดอาหารอันประณีต ใส่บาตร ให้เต็มแล้วถวายพระเถระเจ้า  พระปิณโฑลภารทวาชะ รับบาตรแล้ว เหาะบ่ายหน้ากลับพระวิหาร  ในขณะนั้น มหาชน ที่ยังไม่ได้ชมปาฏิหาริย์ของพระเถระ  รวมทั้งคนที่ยัง่ชมไม่จุใจ ได้พากันวิ่งตามไปยังพระวิหาร ร้องขอให้พระเถระ สำแดงปาฏฺหารย์ ให้ชมอีก  เสียงร้องของมหาชนนนั้นอื้ออึงลั่นพระวิหาร

            พระศาสดาทรงสดับเสียงนั้น จึงรับสั่งถามพระอานนทเถระ  ครั้นทราบความแล้วทรงตำหนิ พร้อมกับโปรดทำลายบาตรไม้จันทน์นั้นเสียให้ย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ถวายพระสำหรับทำโอสถ  แล้วทรงมีบัญญัติห้ามมิให้พระสาวกทำปาฏิหาริย์อีกต่อไป

            ครั้นพวกเดียถีย์ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว  พากันดีใจว่า เป็นโอกาสของเราแล้ว  จึงให้สาวกของตน ออกประกาศว่า เราจะทำปาฏิหาริย์กะพระสมณโคดม
เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ได้สดับข่าวนั้นแล้ว  ร้อนพระทัยด้วยความเป็นห่วง  รีบเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระวิหาร  ทูลถามว่า  “พระองค์ทรง่บัญญัติห้ามพระสาวกทำปาฏิหาริย์เป็นความจริงหรือ พระเจ้าค่ะ”
“เป็นความจริง มหาบพิตร”  พระศาสดาทรงรับสั่ง
“ถ้าพวกเดียรถีย์จะทำปาฏิหาริย์แล้วพระองค์จะทำอย่างไร?” 
“ถ้าพวกเดียรถีย์ทำ  ตถาคตก็จะทำด้วย”
“ก็พระองค์ทรงบัญญัติห้ามแล้วมิใช่หรือ?”
“ถูกแล้วมหาบพิตร  ตถาคตห้ามพระสาวก ต่างหาก  หาได้ห้ามอาตมาไม่  เหมือนเจ้าของสวนห้ามเก็บผลไม้ ความจริงก็หาได้ห้ามเจ้าของสวนเก็บมิใช่หรือ มหาบพิตร”

            พระเจ้าพิมพิสาร ทูลถามต่อไปว่า  “พระองค์จะทำที่ไหน  และจะทำเมื่อใด”
“ถวายพระพร อาตมาจะทำที่เมืองสาวัตถี ในวันเพ็ญเดือน ๘ นับแต่นี้ ไปอีก ๔ เดือน”

            ครั้นพระศาสดา เสด็จอยู่ที่พระนครราชคฤห์ พอสมควรแก่อัธยาศัยแล้ว ก็เสด็จไปยังพระนคร สาวัตถี  พวกเดียรถีย์ พากันกลั่นแกล้ง โจษว่า พระสมณโคดม หนีไปแล้ว  เราจะไม่ลดละ  จะติดตามไปทำปาฏิหาริย์ด้วย
ครั้นย่างเข้าเดือน ๘ ใกล้เวลาทำปาฏิหาริย์ พวกเดียรถีย์ได้จัดสร้างมณฑปใหญ่ประดิษฐ์ด้วยไม้ตะเคียนงามวิจิตร  ประกาศให้มหาชนทราบว่า ตนจะทำปาฏิหาริย์ที่นี้

            ครั้นนั้น  พระเจ้าปัสเสนทิโกศล  เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา  รับจะทำมณฑปถวาย เพื่อทำปาฏิหาริย์   พระศาสดาไม่ทรงรับ  ตรัสว่า  อาตมานะไม่ใช้มณฑป ทำปาฏฺหารย์
ครั้นพวกเดียรถีย์ทราบว่า  พระบรมศาสดา จะทรงทำปาฏิหาริย์ที่ร่มไม้มะม่วง จึงจ่ายทรัพย์จ้างหใคนทำลายต้นมะม่วง ในที่สาธารณะทั้งในเมืองและนอกเมืองให้หมด  เพื่อมิให้โอกาส แก่พระสัมพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์

            ครั้นถึงวันเพ็ญแห่งอาสาหฬมาส คือเวลาเช้าแห่งวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๘  พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก  เสด็จเข้าไปภายในพระนครสาวัตถี  เพื่อบิณฑบาต  ประจวบกับ ราชบุรุษผู้รักษาสวนหลวงคนหนึ่ง  ชื่อคัณฑะ เห็นมะม่วงทะวายมดแดงทำรังหุ้มอยู่  กำลังสุก  จึงได้สอยผลมะม่วง ผลนั้นลงมา  เมื่อทำความสะอาดดีแล้ว ก็จัดใส่ภาชนะนำไปจากสวน  เพื่อถวายพระราชา  พอดีเห็นพระสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ก็มีความเลื่อมใส  พลางดำริว่า มะม่วงผลนี้  พวกเราจะเอาไปถวายพระราชา ก็คงจะได้รับพระราชทานรางวัลไม่เกิน ๑๖ กหาปนะ  แต่ถ้าเราจะน้อมถวายพระสัมพุทธเจ้าแล้ว  จะป็นมหากุศลอำนวยอานิสงส์ผลให้ประโยชน์สุข แก่เราสิ้นกาลนาน  เมื่อนาย คัณฑะ ดำริเช่นนี้แล้ว  ก็น้อมมะม่วงสุกผลนั้น เข้าไปถวายพระสัมพุทธเจ้า

            ครั้นพระบรมศาสดา ทรงรับผลมะม่วงของนาย คัณฑะแล้ว  ประสงค์จะประทับนั่ง ณ ที่ตรงนั้น  พระอานนทเถระเจ้า ก็จัดอาสนะถวายประทับตามพุทธประสงค์  ครั้นประทับนั่งแล้ว  ทรงหยิบผลมะม่วงในบาตรส่งให้พระอานนท์ ทำปานะ  พระอานนทเถระ ก็จัดทำปานะมะม่วง  คือนำผลมะม่วงคั้นถวาย ตามพระประสงค์  ครั้นพระบรมศาสดาเสวยแล้ว ก็ทรงส่งเมล็ดมะม่วงให้นายคัณฑะว่า  คัณฑะ  เธอจงคุ้ยดินร่วนขึ้น ทำเป็นหลุม ปลูกมะม่วงเมล็ดนี้ ณ ที่นี้เถิด
นายคัณฑะ  ก็จัดปลูกมะม่วงเมล็ดนั้นถวายพระบรมศาสดา ณ ที่นั้น
พระศาสดา  ทรงล้างพระหัตถ์บนเมล็ดมะม่วงนั้น ในทันใดนั้นก็พลันบังเกิดความอัศจรรย์ขึ้น  เมล็ดมะม่วงนั้นเกิดงอกออกต้นขึ้นทันที  และในชั่วขณะที่นายคัณฑะ พร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย มองดูอยู่ด้วยความพิศวง  ต้นมะม่วงต้นน้อยๆนั้น ก็ค่อยเติบโต ออกกิ่งใหญ่ๆ ถึง ๕ กิ่ง  แต่ละกิ่งยื่นยาวออกไป ถึง ๕๐ ศอก  ทั้งล้วนตกดอกออกผล มีทั้งผลดิบผลสุก  แลอร่ามไปทั้งต้น ร่วงหล่นเกลื่อนพื้นพสุธา

            นายคัณฑะ มีปิติเลื่อมใส ได้ประสบความอัศจรรย์เฉพาะหน้า  ก็เก็บผลมะม่วงสุก ที่หล่นลงมาถวายพระสงห์ทั้งหลาย ที่ติดตาม มาให้ฉันจนอิ่มหนำสำราญทั่วกัน

จบตำนาน พระพุทธรูปปางรับผลมะม่วง แต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๓๕ - ๑๔๑ )

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting