๔๘. ปางประทานพร

            พระพุทธรูปปางนี้มี ๒ แบบคือแบบหนึ่งอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ และพระหัตถ์ซ้าย วางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาแบฝ่าพระหัตถ์ ยื่นออกไปวางที่พระชานุ
            อีกแบบหนึ่งอยู่ในพระอิรยาบถยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระหงายพระหัตถ์ออกไปข้างนอกบ้าง ยกขึ้นเสมอพระอังสา ถือชายจีวรบ้าง พระหัตถ์ขวาห้อย  หันฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า  เป็นกิริยาประทาน
            แบบนั่งสมกับเรื่อง จึงอยู่ในความนิยมของการสร้าง

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            พระพุทธรูปปางประทานพรนี้ มีเรื่องที่ทรงประทานพรอันควรจะยกขึ้นบรรยายถึง ๓ เรื่องคือ :-

  1. เรื่องประทานพรแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์
  2. เรื่องประทานพรแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา
  3. เรื่องประทานพรแก่พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก

จะขอเล่าเรื่องประทานพร แก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา  เพียงเรื่องเดียว ซึ่งมีตำนานดังนี้ :-

            ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปแสดงธรรมสั่งสอนพุทธเวไนย ณ พระนครพาราณสี ครั้นใกล้เทศกาลเข้าพรรษา  จึงเสด็จพระพุทธดำเนิน มาพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก  เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี
            เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ทราบข่าวก็ดีใจ  รีบไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่       พระเชตะวันมหาวิหารนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประทานธรรม มีกถา ให้นางวิสาขาซาบซึ้งในธรรม  น้อมรับเอาข้อปฏิบัติ มีความอาจหาญร่าเริงในธรรม  เมื่อสิ้นสุดกระแสพระโอวาทแล้ว นางวิสาขา ได้กราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคเจ้า  พร้อมด้วยพระสงฆ์ ขอให้ทรงพระกรุณาเสด็จไปรับภัตตาหารยังนิเวศน์ของท่านในวันรุ่งขึ้น
            ครั้นนางวิสาขามหาอุบาสิกา  ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนา ก็ดีใจถวายบังคมลา  ทำประทักษิณ พระผู้มีพระภาคแล้วกลับไป

            รุ่งขึ้นเช้าฝนตกหนัก  ท้องฟ้ามืดมัวไปทั่วทุกทิศ  พระผุ้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า  ฝนตกที่พระเชตะวันวิหารวันนี้  ไม่น้อยกว่าตกในที่อื่นทั่วๆไป ฉะนั้นพวกเธอควรอาบน้ำฝนกันเสีย  เพราฝนห่านี้ จะเป็นห่าสุดท้ายของมหาเมฆที่ตั้งขึ้นในเช้าวันนี้

            ภิกษุทั้งหลายรับสนองพระบัญชาแล้ว ก็พากันออกมาเปลื้องจีวรสบงออก ใช้ชุดวันเกิดสรงน้ำฝนกันกลางแจ้ง อย่างชื่นอกชื่นใจ  ด้วยในเวลานั้นสงฆ์ยังไม่มีผ้าอาบน้ำฝน  เพราะยงไม่มีพุทธบัญญัติ ให้พระสงฆ์มีผ้าอาบน้ำฝนใช้

            ในเวลาเช้าก่อนฝนตกที่นิเวศน์ของนางวิสาขา  ได้จดแจงแต่งขาทนียะโภชนียาหาร อันประณีตเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ท่านวิสาขา จึงสั่งจริยาหญิงสาวใช้ต้นห้องว่า  จริยาเธอจงรีบออกไปที่พระเชตะวันวิหาร  เผดียงพระสงฆ์ว่า ท่านเจ้าขา !  ได้เวลาแล้วเจ้าข้า  อาหารสำเร็๗แล้วเจ้าข้า

            จริยาหญิงต้นห้องของนางวิสาขา  รับคำสั่งแล้วรีบกระวีกระวาดออกไปยังพระวิหาร  ด้วยเห็นฝนตั้งเค้าใหญ่มืดไปหมดทุกทิศ  ตั้งใจจะไปให้ถึงพระอารามก่อนฝนตก  แม้นางจะรีบสาวเท้าเท่าใด ก็หาทันรอดสายฝนที่กระหน่ำลงมาจั๊กๆไม่  แต่เคราะห์ดีที่บังเอิยได้อาศัย ซุ้มประตูพระอารามหลบฝนที่เทลงมา อย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น พอหนักเป็นเบา  เพื่อรอเวลาฝนขาดเม็ด  จะได้เข้าไปในพระวิหาร  แต่ฝนก็ไม่หยุดสักที  จริยาเดินวนเวียนอยู่ที่ซุ้มประตูจนรำคาญ จึงได้โผล่ศีรษะ เข้าไปภายใน  ใช้สายตากวาดมองดูทั่วๆไปที่ลานวัด

            ทันใดนั้น จริยาก็ได้เห็นพระภิกษุอาบน้ำฝนกันเป็นอันมาก อยู่ในรูปลักษณะที่นางไม่เคยคิดฝันว่าจะเห็นหรือจะเป้นไปได้เช่นนั้น  ก็ตกใจถึงสะดุ้ง ถอยหลังหดตัวเข้าบังอยู่ในความหนาของผนังซุ้มประตู บ่นอยู่ในลำคอว่า “แหม !  ผิดถนัด  เจ้าแม่วิสาขา ทราบจากใครมาว่า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์อยู่ที่วัด  เราก็พลอยดีใจว่า เป็นโชคดีของตัวที่ได้โอกาสเข้าเฝ้าถวายบังคม พระยุคลบาทในวันนี้ด้วย  แท้ก็พวกชีเปลือยทั้งเพ  ประเดกันเข้ามาหลบเล่นน้ำฝน อยู่ในลานวัด  ต๊าย ! ตาย น่าบัดสีเสียจริงๆ เดชะบุญที่เราไม่ทันถลันแล่นเข้าไปในลานวัด  และเป็นเคราะห์ดีที่พระพิรุณกระหน่ำลงมาห้ามมิให้เราเข้าไป  หาไม่จะอัปรีย์กินตัวไม่น้อยทีเดียว  จริยาร้อนใจ มิทันจะรอให้ฝนขาดเม็ด รีบเดินกรำฝนกลับบ้าน เข้ารายงานนางวิสาขา

            “เจ้าแม่ค๊ะ  ที่พระเชตะวัน  ไม่มีพระดอกเจ้าค่ะ”
            “ไม่มีพระ”  ท่านวิสาขาทวนคำด้วยความประหลาดใจ
            “ ค่ะ  ไม่มีพระค่ะ” ต้นห้องเรียนย้ำอีก
            “นางวิสาขา กล่าวด้วยความไม่พอใจว่ “พระไม่มีสักองค์เดียวเจียวรึจริยา”
            “เจ้าค่ะ” จริยายืนยัน   “แม้แต่องค์เดียวก็ไม่มีเจ้าค่ะ”
            “อืม์” ท่านวิสาขาครางออกมาด้วยความสนเทห์ ที่ผิดความตั้งใจ แล้วถามเพื่อค้นหาความจริงต่อไปอีกว่า “ จริยา ที่วัดอนาถบิณฑิกะน่ะ!  ว่างผู้ว่างคน เอาเทียวหรือ”
            “ คนแยะค่ะ เจ้าแม่ แต่ไม่ใช่พระที่เจ้าแม่ต้องการ  มีแต่ชีเปลือย พากันชื่นใจอยู่กับน้ำฝน เต็มวัดเต็มวาไปหมด”  จริยาเบิกตาพูดแสดงว่าไปตกใจมา ที่ได้พบเห็นเช่นนั้น

            นางวิสาขางงงัน  ในถ้อยคำของต้นห้องมาก  จึงถามติดไปว่า จริยาไปพบเห็นชีเปลือยเหล่านั้นอย่างไร  ไหนเล่าให้ฉันฟังถี”

            จริยาได้เล่าถึงพฤติการณ์ ที่ตนไปเห็นมา ให้นางวิสาขาฟังจนตลอด
            อาศัยที่นางวิสาขา เป็นสตรีมีปัญญา  ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี ดำรงอยู่ในพระอริยผลชั้นพระโสดาบัน  เป็นมหาอุบาสิกา รอบรู้ในพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อจริยาหญิงต้นห้องของท่าน เล่าจบลงความจริงของเรื่อง ก็ประจักษ์แก่ท่านโดยแจ่มแจ้ง  ครั้นท่านนิ่งรำพึงอยู่ด้วยกุศลจิตสักครู่  ใบหน้าท่านก็สดชื่นดีใจว่า  เป็นโชคดีของท่านที่จะได้โอกาสบำเพ็ญกุศล เป็นพิเศษในวันนี้  ครั้นแล้ว ท่านก็ปราศรัยกะต้นห้องของท่านว่า “จริยาขอบใจเธอน๊ะ ที่อุตสาห์รีบกรำฝนมาบอก จนผ้าชุ่มไปด้วยน้ำ  นี่ฝนก็หายแล้ว  ฉันของให้เธอเปลี่ยนผ้าเสีย  แล้ว กลับไปวัดพระเชตะวันอีกสักเที่ยว  เชื่อว่าพวกชีเปลือย  ที่เธอพบเห็นเหล่านั้น คงจะออกจากวัดไปหมดแล้ว  เธอคงจะไม่ได้เห็นสภาพที่น่าทุเรศเช่นนั้นอีกเป็นแน่ และคงจะได้พบพระตามที่ฉันมุ่งหมาย  รีบไปหน่อยนะจริยา เวลาจะสาย”
            จริยาหญิงสาวใช้ รับคำนายหญิงโดยเคารพแล้ว  รีบออกจากบ้านมุ่งหน้าไปวัดพระเชตะวันทันที
            เนื่องจากเช้าวันนั้นฝนตกมาก  น้ำไหลนองไปทั่ว  ลางแห่งน้ำท่วมลึกถึงเข่าถึงสะเอว ยากแก่การเดินทางไปมาในที่ไหนๆทั้งสิ้น  แต่ก็หาเป็นข้อขัดข้อง หรือเป็นภัยแก่การเดินทางของท่านผู้ทรงอภิญญาแต่ประการใด

            ฉะนั้น ก่อนเวลาที่หญิงสาวใช้ของท่านวิสาขา จะไปถึงพระเชตวันวิหาร และเมื่อเป็นกาลอันสมควร ที่พระศาสดา และพระสงฆ์จะเสด็จไปยังนิเวศน์ท่านวิสาขาแล้ว  พระผู้มีพระภาค จึงรับสั่ง ให้พระสงฆ์ ทั้งหมด เตรียมบาตรจีวร  เพื่อเดินทางไปยังนิเวศน์ของท่านวิสาขาพร้อมกัน  เมื่อทรงเห็นพระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว  ก็ทรงปาฏิหาริย์นำพระสงฆ์หายจากเชตะวัน ไปปรากฏพระกายที่ซุ้มประตูเรือนท่านวิสาขาโดยฉับพลัน  เหมือนบุรุษที่มีกำลัง  งอแขนเข้า  เหยียดแขนออกได้ทันใจ นึกฉะนั้น  แล้วเสด็จขึ้นประทับบนพุทธอาสน์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ โดยความเรียบร้อยทุกประการ

            ท่านวิสาขา รู้สึกอัศจรรย์ใจมาก  ตื่นเต้นในเหตุการณ์ที่ได้ประสบอย่างไม่เคยนึกเคยฝัน  ด้วยแทนที่จะได้ฟังรายงานจากจริยาหญิงสาวใช้ของท่านว่า พระสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์เสด็จมาแล้ว ก่อนที่พระสัมพุทธเจ้าจะเสด็จถึงเรือน แต่กลับปรากฏแก่นัยน์ตาของท่านในบัดนี้ว่า พระสัมพุทะเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ได้เสด็จถึงเรือนก่อนคนใช้ที่ให้ไปเผดียงเสียอีก  จึงได้ประกาศความยินดีแก่บรรดาบริษัทบริวารในบ้าน ที่มาประชุมกันช่วยเลี้ยงพระอยู่พร้อมหน้าว่า น่าอัศจรรย์ไหม พวกเรา  น่าอัศจรรย์ซีน๊ะ  น่าอัศจรรย์มากทีเดียว มากอย่างคาดไม่ถึง  พระตถาคตเจ้าทรงมีฤทธิ์มากทรงมีอานุภาพมาก ดูซิ ! กระน้ำจากฝนตกเมื่อสักครู่นี้ ไหลนองไปทุกหนทุกแห่ง ลางแห่ง ลุ่มลึกเพียงเข่า  เพียงสะเอว  การเสด็จมาจะต้องลำบาก  จะต้องช้า  จะต้องเปียก  แต่พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงอานุภาพเป็นที่อัศจรรย์ ทรงพาพระสงฆ์ เสด็จมาได้อย่างสะดวกสบาย  รวดเร็ว  จีวรก็ไม่เปียกน้ำ ที่สุดแม้พระบาทก็ไม่เปรอะเปื้อน  หรือเปียกด้วยน้ำ ตามระยะทาง ที่ต้องเสด็จดำเนิน ลุยมาแต่ประการใด  เป็นที่อัศจรรย์จริงๆ ไม่น่า จะเป็นได้เลย
           
            ครั้นท่านวิสาขา ได้ประกาศความยินดี  ให้บริษัทบริวาร เกิดความปิติยินดี เบิกบานใจทั่วกันแล้ว ก็อังคาสพระบรมศาสดา  และพระสงฆ์ สาวกด้วยขาทนียะ โภชนียาหาร อันประณีต ด้วยมือของตนเอง  ด้วยความเคารพ อย่างยิ่ง  เมื่อพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระสงฆ์ วางพระหัตถ์จากบาตร  แสดงว่า ทรงอิ่มหนำสำราญแล้ว  ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา  จึงได้เข้าเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอประทานพร ๘ ประการพระเจ้าข้า

  1.    ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้วนี่  วิสาขา

วิ.         หม่อมฉันจะขอประทานแต่พรที่สมควรและไม่มีโทษแต่ประการใดๆเลยพระเจ้าข้า        ภ.         ไหน วิสาขา  จงบอกไปก่อน  พระศาสดาทรงรับสั่ง “ เธอต้องการพระอะไร”
วิ.         พระเจ้าข้า  พรของหม่อมฉันที่ขอประทานแทบฝ่าพระยุคลบาทก็เพื่อความงามและความสุขสำหรับพระสงฆ์      
พรที่ ๑  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายวัสสิกสาฏก ผ้าอาบน้ำฝน
พรที่ ๒  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอาคันตุกภัตร  อาหารสำหรับพระต่างถิ่นที่จรมา
พรที่ ๓  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคมิกภัตร อาหารสำหรับพระเตรียมจะเดินทางไกล
พรที่ ๔  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานภัตร อาหารสำหรับพระอาพาธ
พรที่ ๕  ขอให้หม่อมฉัน ได้ถวายคิลานภัตร อาหารสำหรับพระอาพาธ
พรที่ ๖  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานเภสัช ยาสำหรับพระอาพาธ
พรที่ ๗  ขอให้หม่อมฉัน ได้ถวายธุวยยาคู ยาคูประจำ
พรที่ ๘  สำหรับภิกษุณีสงฆ์  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอุทสกสาฏก ผ้าผลัดอาบน้ำจนตลอดชีวิต

พระศาสดาทรงรับสั่งว่า “ วิสาขา เธอเห็นประโยชน์อะไร ในพร ๘ ประการที่ขอมานั้น
วิ.         “เห็นประโยชน์มากพระเจ้าข้า”  ท่านวิสาขากราบทูล

พรที่ ๑  ที่หม่อมฉันขอประทานนั้น มีสาเหตุที่สมควรให้หม่อมฉันขอประทาน ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเช้านี้เอง  ก่อนเวลาที่พระองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์จะเสด็จมาเรือนของหม่อมฉัน คือพอหม่อมฉัน สั่งให้จัดอาหาร เพื่ออังคาสพระยุคลบาท พร้อมด้วยพระสงฆ์เสร็จเรียยร้อยแล้ว  ก็สั่งหญิงรับใช้ของหม่อมฉัน ให้รีบออกไปยังพระ   เชตะวันวิหาร  เพื่อทูลอัญเชิญเสด็จ  หญิงรับใฃ้ของหม่อมฉัน  ได้เห็นพระสงฆ์ทั้งหมดเปลือยกายอาบน้ำฝนกันที่ลานวัด  ทำให้เธอเข้าใจผิดคิดไปว่า ไม่มีพระในวัด  มีแต่พวกชีเปลือย พากันหลบเข้ามาเล่นน้ำฝนในวัด  พระเจ้าข้า  ความเปลือยกาย เป็นสิ่งไม่ดีงาม  น่าเกลียด  น่าชัง ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้  จึงขอประทานพรที่ ๑  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายวัสสิกสาฏก ผ้าอาบน้ำฝน  แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต  ขอให้พระสงฆ์ได้มีผ้าอาบใช้เพิ่มบริขารอีกสักอย่างหนึ่งเถิด  พระเจ้าข้า
พรที่ ๒  หม่อมฉันเห็นบรรดาพระอาคันตุกะ  ทีเดินทางมาจากต่างถิ่น เข้ามาพำนักอยู่ในพระนคร  เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค  เนื่องจากท่านเป็นคนใหม่ต่อสถานที่  ไม่ชำนาญทาง  ไม่รู้จักที่ควรไปและไม่ควรไป  เที่ยวบิณฑบาตไม่ได้  ย่อมลำบากด้วยอาหาร  อยู่ในสภาพที่น่าสงสาร  ไม่เป็นความผาสุขแก่การตั้งใจมาเฝ้าพระองค์ด้วยกุศลจิตเลยพระเจ้าข้า  หม่อมฉันเห็นว่าพระอาคันตุกะเหล่านั้น  จะได้ฉันอาคันตุกภัตต์ ของหม่อมฉัน  ในระยะแรก ทีเพิ่งเข้ามา พำนักอยู่ พอหรู้จักทางที่ควรไป และไม่ควรไป  สะดวกแก่การเที่ยวบิณฑบาต สักระยะหนึ่งก่อน หม่อมฉัน เห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงขอประทานพรที่ ๒ ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอาคันตุกภัตต์ แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต  ขอให้พระอาคันตุกะได้ฉันอาคันตุกภัตต์  อาหารสำหรับพระต่างถิ่นที่จรมา  พอได้มีเวลาศึกษาหาความรู้ ลู่ทางเที่ยวบิณฑบาต ชั่วระยะเวลาหนึ่งเถิด พระเจ้าข้า
พรที่ ๓  หม่อมฉันได้เห็นพระที่เตรียมตัว จะเดินทางไกลไปทางถิ่น โดยต้องอาศัยเรือเดินทางก็ดี  หมู่เกวียนก็ดี ซึ่งล้วนแต่มีกำหนดเวลาออก  หรือสถานที่ ที่จะเดินไปอยู่ในเวลาจำกัดไม่พลบค่ำ  เมื่อพระที่เตรียมตัวจะไป  มัวไปเที่ยว บิณฑบาตเสีย ย่อมพลาดเรือ  พลาดเกวียน  เพราะกลับมาไม่ทันกำหนด  หรือไปพลบค่ำตามทาง ย่อมลำบาก  อยู่ในสภาพที่น่าสงสาร  หม่อมฉันเห็นว่าพระที่เตรียมตัว จะเดินทางไกลเช่นนั้น  ควรจะได้รับอนุเคราะห์  ถ้าท่านได้ฉันคมิกภัตต์อาหาร สำหรับพระเดินทางไกล ที่หม่อมฉันจัดถวาย  โดยไม่ต้องไปเที่ยวบิณฑบาต สัก ๑ เวลา ท่านก็จะได้ความสะดวกในการเดินทาง  ไม่พลาดเรือ พลาดเกวียน ไม่ผิดเวลาที่มุ่งหมาย  จะเป็นความผาสุกแก่ท่านหม่อมฉัน เห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงขอประทานพรที่ ๓ ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคมิกภัตต์ แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต ขอให้พระที่เตรียมตัว จะเดินทางไปได้พักการเที่ยวไปบิณฑบาต ฉันอาหารสำหรับ ผู้เดินทาง สักหนึ่งเวลา  เพื่อสะดวดแก่การเดินทาง ของท่านเถิด พระเจ้าข้า
พรที่ ๔  พระเจ้าข้า, ธรรมดาคนไข้ทั่วไปย่อมต้องการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่างร่างกาย ทั้งในทางบำรุง  และในทางไม่แสลงต่อโรค  แม้พระก็เช่นกัน  เมื่ออาพาธไปได้อาหารที่ไม่เป็นสัปปายะ หรือเป็นของแสลงเข้า โรคก็จักกำเริบ  หรือไม่ท่านก็จักมรณภาพ อยู่ในสภาพลำบาก  น่าสงสาร  ควรได้รับการบำรุง, รักษาพยาบาล เมื่อท่านได้ฉันคิลานภัตต์  อาหารสำหรับคนไข้แล้ว อาพาธก็จักทุเลา  จักไม่ถึงมรณภาพ  หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้  จึงขอประทานพรที่ ๔ ขอให้หม่อมฉัน ได้ถวายคิลานภัตต์ แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต ขอให้พระอาพาธ ได้ฉันคิลานภัตต์  อาหารสำหรับคนไข้โดยเฉพาะ ตลอดเวลา ที่ท่านยังอาพาธอยู่เถิด พระเจ้าข้า
พรที่ ๕ พระเจ้าข้า, อีกข้อหนึ่ง  ในการรักษาพยาบาลคนไข้นั้น  คนพยาบาล เป็นบุคคลสำคัญเท่ากับหมอ ดังนั้น พระพยาบาลพระอาพาธ ก็เป็นผู้ควรได้รับการบำรุงเช่นเดียวกับพระอาพาธ เพราะถ้าไม่มีใครเหลียวแลท่าน ปล่อยให้ท่านไปเที่ยวบิณฑบาตเพื่อท้องของท่าน ซึ่งก็จำเป็นอยู่ แล้วจึงให้ท่านนำคิลานภัตต์ ไปปฏิบัติพระอาพาธ ก็สายมาก  ลำบากแก่พระอาพาธหรือถ้าให้ท่านนำคิลานภัตต์ ไปปฏิบัติพระอาพาธเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปบิณฑบาต เมื่อเกินเวลารับบาตรเสียแล้ว  ท่านก็จะอดเป็นโทษ แก่พระพยาบาล เพราะต้องตัดอาหารของท่าน  อยู่ในสถานะลำบาก  น่าสงสาร  ควรได้รับการบำรุง เมื่อพระพยาบาลได้ฉัน               คิลานุปัฏฐากภัตต์เสียก่อน  โดยไม่ต้องกังวัลในเรื่องบิณฑบาต ท่านก็จะได้นำคิลานภัตต์ ไปปฏิบัติพระอาพาธ ได้ตามเวลา  หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้ 
จึงขอประทานพรที่ ๕ ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานุปัฏฐากภัตต์ แก่พระสงฆ์ตอลดชีวิต ขอให้พระพยาบาล ได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตต์ 
อาหารสำหรับพระพยาบาลไข้  ตลอดเวลาที่ทำการพยาบาล อยู่เถิด พระเจ้าข้า
พรที่ ๖  พระเจ้าข้า, อีกข้อหนึ่ง ในการรักษาพยาบาลคนไข้นั้น  เภสัชที่เป็นสัปปายะแก่คนไข้  ก็เป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่ง ดังนั้นหากพระอาพาธไม่ได้เภสัช ทีเป็นสัปปายะ อาพาธก็จักกำเริบ หรือไม่ก็จักถึงมรณภาพ  เป็นการรอนชีวิตให้สั้น และเป็นอยู่อย่างลำบาก  อยู่ในสภาพที่น่าสงสาร  หากพระอาพาธได้เภสัชเป็นที่สัปปายะอาพาธก็จักทุเลา  จักไม่ถึงมรณภาพ เป็นการต่ออายุ ให้ยืนยาวต่อไป  เป็นความผาสุกสำหรับเวลาป่วยไข้  หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้  จึงขอประทานพรที่ ๖  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานเภสัช แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต  ขอให้พระอาพาธ ได้ฉันคิลานเภสัช  ยาสำหรับคนไข้  ตลอดเวลาที่ท่านอาพาธอยู่เถิด พระเจ้าข้า
พรที่ ๗  พระเจ้าข้า,อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้ทราบว่า  พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอานิสงส์ของข้าวยาคูไว้ ๑๐ ประการ และได้ทรงอนุญาต ให้พระฉันได้  เมื่อคราวเสด็จประทับอยู่ที่เมืองอันธกะวินทะ  แม้หม่อมฉัน ก็มีความเห็นชอบในอานิสงส์ ตามที่พระองค์ตรัสนั้น  ดังนั้นหม่อมฉัน จึงขอประทานพรที่ ๗ ขอให้หม่อมฉันได้ถวายยาคูเป็นประจำ แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต  ขอให้พระสงฆ์ ได้ฉันยาคูประจำในกาลอันสมควรตลอดไปเถิด พระเจ้าข้า
พรที่ ๘  พระเจ้าข้า, ประการสุดท้าย  สำหรับภิกษุสงฆ์ ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังมิได้มีพระบัญญัติให้นางภิกษุณี มีผ้าผลัดอาบน้ำ ดังนั้น จึงปรากฏว่าภิกษุณีทั้งหลายได้เปลือยกาย  (ใช้ชุดวันเกิด)  อาบน้ำร่วมท่ากับหญิงแพศยา ณ แม่น้ำ อจิรวดี     นี้  หญิงแพศยาเหล่านั้น มีนิสัยต้านต่อความสะอาด ได้พากันพูดเย้ยหยันภิกษุณีว่า แม่เจ้าเอ๋ย  หล่อนกำลังสาวไปประพฤติพรหมจรรย์ จะได้ประโยชน์อะไร  บริโภคกามมิดีกว่าหรือ  ควรประพฤติพรหมจรรย์ ต่อเมื่อแก่เฒ่าดีกว่า  แล้วหล่อนยังจะได้ชื่อว่า ถือเอาประโยชน์ทั้งสองไว้ได้  คือสาวก็ไม่เปล่า  เฒ่าก็ไม่เสีย  ภิกษุณีเหล่านนั้นถูกพวกหญิงแพศยา เย้ยหยันได้รับความละอายต้องเก้อเขิน  พระเจ้าข้า  ความเปลือยกาย เป็นสิ่งไม่งาม น่าเกลียด  น่าชัง ทำให้ต้านต่อความรู้สึกในการรักษาภาวะเดิม  หม่อมฉันเห็นประโยชน์อย่างนี้ จึงขอประทานพรที่ ๘ ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอุทกสาฏก  แก่ภิกษุณีสงฆ์ตลอดชีวิต  ขอให้ภิกษุณีสงฆ์ ได้มีผ้าอาบน้ำเป็นประจำเถิด พระเจ้าข้า

            พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งว่า “วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์อะไรที่เธอจะพึงได้ในพร ๘ ประการ ที่ขอต่อตถาคตนี้” อย่างนี้ พระเจ้าข้า “ ท่านวิสาขากราบทูล  เมื่อหม่อมฉันแน่ใจว่า  พระสงฆ์มีความผาสุกจากการได้ใช้สอยผ้า วัสสาสิกสาฏก, ได้ฉันอาคันตุกภัตต์, คมิกภัตต์, คิลานภัตต์,       คิลานุปัฏฐากภัตต์,  คิลานเภสัช,  หรือข้าวยาคูเป็นประจำ  จัดเป็นกุศสลยิ่งสำหรับหม่อมฉัน  และเมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนนั้นอยู่ ก็จะเกิดความปลื้มใจ  เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ก็จะเกิดความอิ่มใจ  เมื่อมีใจอิ่มอยู่ในบุญกุศลแล้ว กายก็จะสงบ  เมื่อกายสงบแล้ว ก็จักได้เสวยสุข  เมื่อมีความสุข  จิตตั้งมั่น  เป็นอันว่า หม่อมฉันได้อบรม อินทรีย์ อบรมพละ  อบรมโพชฌงค์ พร้อมกันไป  เพราะหม่อมฉันเห็นอานิสงส์อย่างนี้  จึงขอประทานพร ๘ ประการ ต่อพระองค์ พระเจ้าข้า

            ดีแล้ว, ดีแล้ว, วิสาชา, ชอบแล้ว, วิสาชา, พระผู้มีพระภาคทรงประทานสาธุการและรับสั่งต่อไปว่า  “วิสาขา, ฉันให้พร ๘ ประการแก่เธอ”  แล้วตรัสคาถาอนุโมทนา แก่ท่านวิสาขา อีกว่า “สตรีใดให้ข้าวและน้ำ  มีใจเบิกบาน, สมบูรณ์ด้วยศีล, เป็นสาวิกา ของพระสุคต  ครอบงำความตะหนี่เสียได้ บริจาคทาน อันเป็นทางมาแห่งสวรรค์ เครื่องบรรเทาความโศก  ให้เกิดความสุข  สตรีรนั้นดำเนินตามมรรคปฏิปทา อันปราศจากธุลี ไม่มีกิเลส เครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ 
สตรีผู้ใคร่บุญนั่น, มีความสุข, มีอนามัย, ย่อมปลาบปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน”

            ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา ให้นางวิสาขา เบิกบานได้ปิติในกุศลจริยาแล้ว  ก็เสด็จกลับไปยังพระเชตะวันวิหาร  โปรดให้ประชุมภิกษุทั้งหลาย แล้ว ทรงปรารภถึงท่านวิสาขาอุบาสิกา  ทูลขอพร ๘ ประการ  และได้ทรงประทานไปแล้วนั้น ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่นี้ไป  เราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฏก, อาคันตุกภัตต์, คมิกภัตต์, คิลานภัตต์, คิลานนุปัฏฐากภัตต์, คิลานเภสัช, ยาคู ประจำ  และอนุญาตอุทกสาฏก สำหรับภิกษุณีสงฆ์  จบลงด้วยพระโอวาทที่ตรัสประทาน เตือนให้รู้จักประมาณรู้จักพอดี, ยังความเปรมปรีดิ์ ปราโมทย์ ให้เกิดแก่พระสงฆ์ทั้งหลายทั่วกัน

            จบตำนานพระพุทธรูปปางประทานพร แก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา แต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๒๑๗-๒๒๘ )

 

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting