ปางประทานโอวาท
หรือ
ปางแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

 

 

            พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เสมอพระอุระ  คล้ายปางเสด็จลงมาจากดาวดึงส์เป็นกิริยาประทานโอวาท  คือโอวาทปาฏิโมกข์

 

พระพุทธรุปปางนี้  มีตำนานดังนี้

            เมื่อพระผู้มีพระภาค  เสด็จประทับอยู่ในท่ามกลางพระอรหันต์เจ้า ๑๒๕๐ องค์ ที่พระเวฬุ-วันวิหาร  พระนครราชคฤห์  เวลาบ่าย  ทรงอาศัยความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์หมู่ใหญ่  อันประกอบด้วยองค์ ๔ ซึ่งเรียกว่า  จตุรงคสันนิบาต  คือพระสงฆ์ ๑๒๕๐ องค์ นั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ๑ พระสงฆ์ทั้งหมดนั้น  ล้วนได้รับเอหิภิกขุ  คือบวชในสำนักพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็น พระอุปัชฌายะโดยตรง๑ พระอรหันต์ทั้งหมดบังเอิญมีความตั้งใจตรงกัน  พากัน มาเฝ้าพระผู้มีพระถาคอยู่พร้อมเพรียง๑ และประกอบด้วยวันนั้นเป็นวันมาฆบุรณดิถี  พระจันทร์เพ็ญเสวย   มาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือน ๓)  ๑  การประชุมของพระสงฆ์ พร้อมด้วยลักษณะ ๔ ประการเช่นนี้  มีครั้งเดียวนี้เท่านั้น ในพระพุทธศาสนานี้

            ครั้นพระพุทธเจ้าทรงเห็นการประชุมของพระสงฆ์หมู่ใหญ่  เห็นเป็นศุภนิมิตร อันดีเช่นนั้น  จึงได้ทรงพระกรุณาแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ประทานแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย โดยพระบาลีว่า  :-

                                                ขันตี  ปรมํ  ตโป  ตีติกฺขา
                                                นิพฺพานํ  ปรมํ  วทนฺติ  พุทฺธา  เป็นต้น

            ความว่า  ความอดกลั้น  คือความอดทน  เป็นธรรมเผาผลาญบาปอย่างยิ่ง  ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า  ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า  พระนิพพานเป็นธรรมประเสริฐ  ผู้ทำร้าย ผู้อื่นไม่จัดว่า เป็นบรรพชิต แม้ผู้เบียดเบียนผู้อื่น  ก็ไม่นับว่าเป็นสมณะ

            การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑  การยังกุศลให้ถึงพร้อม๑  การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว๑  สามข้อนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

            อนึ่ง  การไม่เข้าไปกล่าวร้าย๑  การไม่เข้าไปทำร้าย๑  การสำรวมในพระปาฏิโมกข์๑  การรู้พอเหมาะพอควรในการบริโภค๑  การนั่งนอนในเสนาสนะอันสงัด๑  การประกอบความเพียรในอธิจิต๑  ทั้ง ๖ ประการนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

            ครั้นทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์  คือธรรมที่เป็นประธานของคำกล่าวสอนทั้งหลาย  แก่พระอริยสงฆ์สาวก ๑๒๕๐  องค์  เพื่อถือเป็นการแนวการสอนสำหรับ พระสงฆ์สาวกที่จะรับปฏิบัติศาสนกิจ  เผยแพร่พระพุทธศาสนาแล้ว ได้ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ร่วมกับพระสงฆ์ ๑๒๕๐  องค์นั้น

            ดังนั้น  การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์  ประทานแก่พระสงฆ์สาวกครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งเดียวในพระศาสนา ที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญ ในหน้าที่พระองค์ เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา  เป็นประธานแห่งพระสงฆ์  และเป็นพระบรมศาสดาของพระสาวกทั้งหลาย ได้ชื่อว่า พระองค์ได้ทรงปฏิบัติธุรกิจของพระพุทธเจ้า โดยชอบแล้วทุกประการ

            จบตำนานพระพุทธรูป ปางประทานโอวาทแต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๐๓-๑๐๖ )

 

 

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting