๔๙. ปางประทานอภัย

            พระพุทธรูปปางนี้ มี ๒ แบบ คือแบบหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า (แบบห้ามพระญาติ)
อีกแบบหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถ นั่งขัดสมาธิ  ยกพระหัตถ์ทั้งสองป้องเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์หันเข้าหากัน  เบนออกไปข้างหน้าเล็กน้อย
แบบนั่งสมกับเรื่อง  จึงอยู่ในความนิยมของการสร้าง

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่อัมพวันสวน ของหมอชีวก โกมารภัจจ์ ใกล้พระนครราชคฤห์  แคว้นมคธรัฐ  เวลานั้นพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพระมหากษัตริย์ ปกครองแคว้นมคธรัฐ แต่ความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ไม่สู้จะเรียบร้อย ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ๑ พระองค์ทรงพระชนมายุน้อย ๒ ทรงเป็นขบถชิงราชสมบัติจากพระราชบิดา ๓ ทรงคบหานับถือพระเทวทัตต์เป็นอาจารย์  ดังนั้น จึงไม่ได้รับความนิยมนับถือจากประชาราษฎร์ โดยสมบูรณ์

            เนื่องจากพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพระโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ประสูติจากพระนางเจ้าเวเหิ อัครมเหสี สมัยเมื่อยังเยาว์พระชนมมายุอยู่นั้น  ดำรงศักดิ์เป็นรัชทายาท  ได้รับความเอาใจจากพระบิดาและมารดา  ตลอดพระญาติผู้ใหญ่ เสียจนเคยตัว   ทรงทำอะไรตามพระทัยเสมอจนเป็นนิสัย  เป็นเหตุให้ไม่อยู่ในพระโอวาท  เลือกหาครูอาจารย์ตามใจชอบ  ข้อนี้เป็นเหตุให้สมาคมด้วยพระเทวทัตต์  จนนับถือและยกย่องพระเทวทัตต์ขึ้นเป็นอาจารย์ หาได้กราบทูลให้พระเจ้าพิมพิสาร พระชนกนาถให้ทรงทราบก่อนไม่  ยิ่งพระเทวทัตต์ตามประวัติของท่าน  ก็เป็นเจ้าชายสืบสายกษัตริย์พระนครเทวทหะมาแต่เดิม ย่อมจักปฏิบัติงาน ให้ต้องพระทัย อชาตสัตตุราชกุมาร ได้เป็นอย่างดี  แล้วอย่างนี้ ไฉนอชาตสัตตุราชกุมารจะไม่โปรด  แปลว่า ได้พระอาจารย์ที่เคยเป็นเจ้าชาย มีศักดิ์ศรี ควรแก่การเคารพนับถือยิ่งนัก  ดังนั้น  เมื่อพระเทวทัตต์จะถวายโอวาทอย่างใดๆ      อชาตสัตตุราชกุมาร ก็ทรงเชื่อถือ ยินดีอยู่ในโอวาท ของอาจารย์ด้วยความเคารพ

            เมื่อพระเทวทัตต์ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา  มานะ ทิฏฐิ  คิดมักใหญ่ใฝ่สูง  มีความปรารถนาลามก  คิดจะเป็นผู้ปกครองพระสงฆ์  ถึงกับได้ทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้า  เมื่อพระศาสดาไม่ทรงประทาน  ด้วยทรงทราบสันดานพาล ของพระเทวทัตต์ ที่ประพฤติตัวเลว  เกินฐานะ  พระเทวทัตต์ก็ไม่พอใจ ถึงอาฆาต  ชักชวนพระภิกษุบวชใหม่  มีความรู้น้อยให้มาเป็นพวก  ถึงทำสสังฆเภท ทำลายหมู่สงฆ์ แยกคณะออกจากพระผู้มีพระภาคในที่สุด

            ก็เมื่อพระเทวทัตต์มีนิสัยพาลอย่างนี้แล้ว  ไฉนเมื่อได้เป็นอาจารย์อชาตสัตตุราชกุมารแล้ว จะไม่คิดลามกยิ่งขึ้น เพราะตั้งใจจิตไว้ผิด แต่แรก ดังนั้นเมื่อได้โอกาส ก็ถวายคำแนะนำให้อชาตสัตตุราชกุมารขบถ  โดยให้ลอบปลงพระชนม์ชีพพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดาเสีย  เพื่อเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองเสียก่อน  เลยชวด  ไม่ได้เป็นกษัตริย์  เมื่อพระกุมารปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารแล้ว  จะได้ขึ้นเป็นพระราชาปกครองราชอาณาจักร  ส่วนพระเทวทัตต์เอง  ก็จะพยายามปลงพระชนม์พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะขึ้นปกครองพระภิกษุสงฆ์  ถึงความเป็นใหญ่ในพุทธจักรสืบไป

            ครั้นพระกุมารเชื่อถือพระเทวทัตต์  จึงได้ซ่อนกฤช ลอบเสด็จเข้าไปในห้องผทมพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อปลงพระชนม์พระบิดา  แต่บังเอิญถูกราชบุรุษจับได้  พระเจ้าพิมพิสาร ทราบความประสงค์ของพระกุมาร ก็ทรงพอพระทัยให้พระกุมารขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  จึงทรงลาออกจากราชสมบัติ และทรงยกพระโอรส ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  ปกครองราชอาณาจักร ตามพระประสงค์

            แม้เช่นนั้นแล้ว พระเทวทัตต์ ก็หาได้หยุดเพียงเท่านี้ไม่  เพราะมีนิสัยเป็นพา ได้แนะนำให้พระเจ้าอชาตสัตตุราช  ปลงพระชนม์พระราชบิดาเสียอีก  ชั้นต้นพระเจ้าอชาตศัตรู ไม่ทรงทำตาม เพราะไม่ทรงเห็นด้วย  โดยรับสั่งว่า  พระบิดาก็ทรงเมตตา  พระราชทานฐานันดรศักดิ์ สูงสุด ให้สมประสงค์เช่นนี้แล้ว

            พระเทวทัตต์ก็ทูลว่า  พระเจ้าพิมพิสาร มีเจ้านาย และข้าราชบริพาร เคารพนับถือมาก  หากปล่อยไว้ภายหลัง ไม่ทรงพอพระทัยขึ้น  ก็สามารถจะกำจัดพระองค์เสียเมื่อใดก็ได้  พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงเห็นตาม  ในที่สุดก็รับสั่ง ให้จับพระราชบิดาจำคุก  และทรมานจนสิ้นพระชนม์  เป็นอันว่า ได้ทรงทำปิตุฆาตุ  อันเป็นอนัจตริยกรรมบาปอย่างมหันต์  เพราะการแนะนำของพระเทวทัตต์โดยแท้

            ส่วนพระเทวทัตต์  ก็เริ่มวางแผนทำร้ายพระพุทธเจ้า  เมื่อปกครองพระภิกษุด้วยสันดานพาล โดยทูลขอนายทหารแม่นธนู  พระเจ้าอชาตศัตรู ลอบส่งไปประทุษร้าย พระผู้มีพระภาคด้วยธนู อันกำซาบด้วยยาพิษหลายครั้ง หลายหน  แต่ด้วยพุทธานุภาพ  นายทหารเหล่านั้น  กลับเลื่อมใส ในพระธรรม เทศนาแสดงตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัย เสียทุกคน

            เมื่อไม่สมประสงค์  พระเทวทัตต์ ก็ผูกใจเจ็บยิ่งขึ้น  วันหนึ่งได้พยายามลอบขึ้นไปภูเขาคิชฌกูฏ ในเวลาเช้า  ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงมาโปรดสัตว์  ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับขึ้นไป  พระเทวทัตต์ได้กลิ้งก้อนศิลาใหญ่ ลงมาหมาย จะล้างพระชนม์ชีพ ของพระผู้มีพระภาค แต่ด้วยพุทธานุภาพ ก้อนศิลาใหญ่ ก็หาได้ถูกต้องพระกายแต่อย่างใดไม่  เพียงแต่สะเก็ดหิน ชิ้นหนึ่ง ได้กระเด็นไปต้องพระบาท ให้ห้อพระโลหิตขึ้นเท่านั้น  แม้อย่างนั้น ก็จัดว่าทำอนันตริยกรรมบาปหนัก  ด้วยการทำร้ายพระพุทธเจ้า จนถึงให้พระบาทห้อพระโลหิตขึ้น

            แม้จะประทุษร้ายได้เพียงนั้นแล้ว  พระเทวทัตต์ก็ยังไม่พอใจ เพราะปลงพระชนม์ไม่ได้ดังประสงค์ ต่อมาจึงได้ทูลขอพระราชทานพญาช้างนาฬาคิรี  ซึ่งกำลังซับมันคลั่งและดุร้ายที่สุด โดยให้นายควาญช้างมอมเหล้าถึง ๑๖ กระออม  และสั่งให้ควาญช้าง ให้ปล่อยช้างทำร้ายพระพุทธเจ้า  ยามเสด็จออกไปโปรดสัตว์ ในเวลาเช้า  แต่ด้วยพุทธานุภาพ  พระพุทธเจ้าได้ทรงทรมานช้างให้สร่างเมา  และหมอบถวายบังคม แทบพระยุคลบาท  และเดินกลับโรงช้าง ด้วยอาการอันสงบ ปรากฏแก่มหาชน เป็นอันมาก  แทนที่ผลร้ายจะเกิดแก่พระสัมพุทธเจ้า การกลับปรากฏเป็นผลดีแก่พระพุทธศาสนา เป็นเกียรติอันสูงแก่พระสัมพุทธเจ้า มหาชนพากันลงโทษพระเจ้าอชาตศัตรู  และพระเทวทัตต์  ขึ้นโพทนาติเตียน อย่างสาดเสียเทเสีย  เป็นอเนกประการ  ซ้ำก่อความไม่สงบ เป็นภัยแก่การบริหารพระนครอีกด้วย

            เรื่องนี้ได้ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูตกพระทัยมาก  ทรงนึกถึงความผิดของพระองค์ ที่ทรงหลงเชื่อถือพระเทวทัตต์  ซึ่งเป็นพาลขึ้นทันที  ฉะนั้น เพื่อป้องกันเหตุร้าย อันจะพึงมีแก่ราชบัลลังก์ ของพระองค์  จึงทรงตัดสินพระทัย เลิกคบค้า พระเทวทัตต์ เด็ดขาด  ตัดไทยทานอาหารที่ถวาย บำรุงพระเทวทัตต์ ตลอดบริษัทบริวาร พระเทวทัตต์ ออกเสียทุกประการ

            เวลานั้น พระเจ้าอชาติศัตรูต้องทรงโทมนัสเป็นทุกข์ใจมาก  พระองค์กลายเป็นบุคคลไม่มีศาสนา  เป็นบุคคลไม่มีหลักธรรมทางใจ ว้าเหว่  ทรงลำบากพระทัยมาก  เพราะโดยปกติพระองค์ทรงมีพระปรีชา  ไม่ทรงเลื่อมใสลัทธิของครูทั้ง ๖ ซึ่งมหาชนพากันนิยมนับถืออยู่แล้ว  ครั้นทรงหันมาทางพระเทวทัตต์ ก็ผิดหวังอี  เป็นการหนีเสือปะจระเข้  ทำให้พระองค์รำลึกถึงพระพุทธเจ้า อยากจะไปเฝ้า  ไปขอประทานอภัยโทษที่ทรงล่วงเกิน  ไปขอประทานพระโอวาท ซึ่งแน่พระทัยว่า พระพุทธเจ้าจะทรงพระกรุณาประทานด้วยพระเมตตา  แต่จู่ๆจะหันเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  ก็ทรงรู้สึกขวยพระทัย เพราะทรงระลึกถึงความผิดที่ได้ทรงทำไว้นั้น  เป็นการสร้างพระองค์เป็นศัตรูต่อพระพุทธเจ้าอยู่ไม่น้อย คือ :-

  1. การที่พระองค์ทรงปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดา ซึ่งเป็นพระโสดาบันสาวกของพระพุทธเจ้า  และเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา อย่างสำคัญนั้น  เป็นการกระทบกระเทือนต่อพระพุทธเจ้า  และการพระศาสนาอย่างรุนแรง
  2. การที่พระองค์พระราชทานนายทหารแม่นธนูแก่พระเทวทัตต์ เพื่อส่งไปปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าก็ดี พระราชทานช้างนาฬาคิรี แก่พระเทวทัตต์  เพื่อปล่อยไปประทุษร้ายพระพุทธเจ้าก็ดี  ย่อมบ่งชัดว่า  พระองค์ได้ทรงเป็นศัตรูต่อพระพุทธเจ้าอย่างหนัก
  3. ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงเป็นพระราชกุมารเป็นรชทายาท และเป็นพระเจ้าแผ่นดินมา พระองค์ไม่เคยเฝ้าพระพุทธเจ้า ไม่ทรงรู้จัก ไม่เคยบำรุงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแต่ประการใดเลย  หันหลังให้พระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นการที่จะผลุนผลันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า อย่างหาเหตุผลมิได้ เช่นนั้นย่อมเป็นการผิดวิสสัยพระมหากษัตริย์อย่างพระองค์มาก  พระองค์จะต้องรักศักดิ์ศรี โดยขัตติยะมานะ เสมอด้วยพระพระชนม์ชีพทีเดียวเข้าหลักว่า “ทิฏฐิของพระ มานะของกษัตริย์”  แก้ยาก  อย่างไรก็ตามเมื่อพระองค์มีความรู้สึกว่าพระองค์ประพฤติผิด  แสดงว่า ยังรักที่จะประพฤติถูก  แปลว่า ยอมให้แก้ ดังนั้นการแก้ก็ไม่ยาก  เพียงแต่รอจังหวะอยู่เท่านั้น

ต่อมา วันหนึ่ง  เป็นวันเพ็ญเดือนกัตติกมาส  กลางเดือน ๑๒ ฤดูดอกโกทุทบาน  พระเจ้อชาตศัตรู เสด็จประทับอยู่ในท่ามกลางเสนามาตย์ราชบริพาร ณ พระมหาปราสาทชั้นบน  ขณะนั้น พระองค์ทรงรับสั่ง กะอำมาตย์ทั้งหลายว่า  ราตรีวันนี้มีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่ารื่นรมย์จริงๆ น่าเบิกบานจริงๆ วันนี้เราควรจะไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ  ซึ่งพอที่จะให้เราผู้เข้าไปหาเกิดความเลื่อมใสสบายใจได้

ทันใดนั้นอำมาตย์ผู้หนึ่งได้กราบทูลว่า  ขอเดชะท่านบุรณะกัสสป ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่
เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง  มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลิทธิ  ชนส่วนมากยกย่องว่าดี  เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน  มีอายุล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ  ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่าน บุรณะกัสสปนั้นเถิด  เห็นด้วยเกล้าว่า  เมื่อพระองค์เสด็จไปหาแล้ว  คงพอพระหฤทัยแน่  เมื่ออำมาตย์นั้นกราบทูลแล้ว  ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

            ต่อนั้น อำมาตย์อีก ๕ คน ได้กราบทูลเชิญให้พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปหาท่าน         มักขลิโคศาล ท่านอชิต  เกสกัมพล  ท่านปกุธะ  กัจจายนะ  ท่านสัญชัย  เวลัฏฐบุตร  และท่านนิครณถ์นาฏบุตร  ว่าทรงคุณสมบัติ ดังท่านบุรณะปัสสป  ควรที่พระองค์จะเสด็จไปหา รวมความว่า อำมาตย์ทั้ง ๖ ซึ่งเป็นศิษย์ของครูทั้ง ๖ ต่างได้ยกย่องอาจารย์ของตน เพื่อเทิดขึ้นให้เป็นที่เคารพของพระมหากษัตริย์  ซึ่งเป็นเกียรติอันสูงสำหรับลัทธิของตน  แม้อย่างนั้น  ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

            ความจริงครูทั้ง ๖ นั้น เป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงจริง  แต่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้จักดีแล้ว  ด้วยเคยเสด็จไปรเวศ  ไปสนทนาถึงสำนักครูทั้ง ๖ นั้นมาแล้ว  ไม่ทรงเลื่อมใส  ดังนั้น  เมื่ออำมาตย์ทั้ง ๖ นาย กราบทูลจึงไม่ทรงศรัทธา  เพราะไม่ทรงเห็นด้วย จึงประทับนิ่งเสีย

            เวลานั้น  หมอชีวกโกมารภัจจ์  นั่งนิ่งอยู่ในที่เฝ้านั้นด้วย  ท้าวเธอจึงมีพระดำรัสกะ      หมอชีวิกโกมารภัจจ์ว่า  “ชีวก สหายรัก  ทำไมจึงนั่งนิ่งไม่ออกความเห็นอย่างไรบ้างเล่า”  เมื่อหมอชีวก ได้โอกาสเช่นนั้น จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ  พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนี้เสด็จประทับอยู่ที่สวนอัพวันของข้าพระพุทธเจ้า  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป ขอเชิญพระองค์ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด  เห็นด้วยเกล้าๆว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าแล้ว  คงจะพอพระหฤทัยแน่

            ท้าวเธอจึงมีพระดำรัสว่า  ชีวก สหายรัก  ถ้าอย่างนั้น  ท่านจงเตรียมคชยานไว้  หมอชีวิกโกมารภัจจ์ รับสนองพระราชโองการแล้ว ได้ออกมาเตรียมช้างพัง ๕๐๐ เชือก  และช้างพระที่นั่งเสร็จแล้ว  ได้เข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบฯ พระเจ้าอชาตศัตรู โปรดให้สตรีในราชสำนักแต่งกายปลอมเป็นบุรุษ ขึ้นช้างเชือกละ ๑ คน ด้วยในเวลานั้น การปกครองในพระนครไม่สงบ ไม่น่าวางใจ  ท้าวเธอเสด็จขึ้นช้างพระที่นั่ง  โปรดให้มวลราชบริพารถือคบเพลิง เสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ ด้วยพระราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่  ตรงไปสวนอัมพวัน ของหมอชีวกโกมารภัจจ์  พอเสด็จใกล้จะถึง ท้าวเธอเกิดทรงหวาดหวั่นครั่นคร้าม และความสยดสยอง ถึงพระโลมชาตก็ชูชัน  จึงตรัสกะ     หมอชีวก โกมารภัจจ์ว่า  ชีวกสหายรัก ท่านไม่ได้ลวงเราหรือ  สหายรัก  ท่านไมได้หลอกเราหรือ  สหายรัก  ท่านไม่ล่อเรามาให้ศัตรูหรือ  เหตุไฉนเล่า  ที่วิหารจึงเงียบสงัด พระอยู่ตั้ง ๑๒๕๐ รูป ไง ! ไม่มีเสียงจาม  เสียงกระแอม  เสียงสนทนากัน บ้างเลย

            หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลว่า  ขอพระองค์ อย่าได้ทรงหวาดกลัวอะไรเลย  พระเจ้าข้า  ข้าพระพุทธเจ้า ไม่ได้ลวงพระองค์  ไม่หลอกพระองค์ ไม่ได้ล่อพระองค์ มาให้ศัตรูเลยพระเจ้าข้า  นนั่นประทีปที่พระวิหารกลม ยังตามสว่างอยู่  ขออัญเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเถิด  ลำดับนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู ได้เสด็จลงจากช้างพระที่นั่งแล้วเสด็จดำเนิน เข้าประตูพระวิหารกลม  พลางรับสั่งกะหมอชีวก  โกมารภัจจ์ ว่า  ชีวก !  ไหนพระผู้มีพระภาค  หมอชีวิกโกมารภัจจ์  กราบทูลว่า  ขอเดชะ  นั่น  พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิงเสากลางผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา  ภิกษุสงฆ์แวดล้อมอยู่  ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  ประทับยืนชำเลืองดูภิกษุสงฆ์  ซึ่งสงบนิ่งเหมือนห้วงน้ำใส  ทรงพอพระหฤทัย  ถึงกับทรงเปล่งพระอุทานว่า  ขอให้อทัยภัทร ลูกของเรา จงมีความสงบ อย่างภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้เถิด  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูกรมหาบพิตร  พระองค์เสด็จมาทั้งความรัก พระโอรสด้วย  ทรงทูลรับว่า เป็นความจริงอย่างพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า  พระเจ้าข้าอุทัยภัทร  เป็นลูกที่รักของหม่อมฉัน ขอให้อุทัยภัทร ลูกของหม่อมฉัน  จงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้เถิด

            นี้แสดงว่า  อุทัยภัทรกุมาร  พระโอรสอของพระเจ้าอชาตศัตรู คงจะทรงดื้อ  รักการอยู่ไม่สุข  หาความไม่สงบ  ก่อความเดือดร้อน สร้างความลำบากใจให้แก่พระบิดาอยู่เนืองๆ เป็นแน่  จึงทำให้พระราชบิดาต้องออกอุทาน  เมื่อได้ทรงเห็นพระภิกษุสงฆ์ มีความเรียบร้อย อย่างคาดไม่ถึงเช่นนั้น

            ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรู  ทรงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค  และประนมอัญชลีแก่พระภิกษุสงฆ์ แล้วเสด็จประทับนั่ง  ต่อนั้นได้ทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  หม่อมฉันใคร่จะขอทูลถามปัญหาบางเรื่อง สักเล็กน้อย  ถ้าพระองค์จะประทานพระโอกาส พยากรณ์ ปัญหา      แก่หม่อมฉัน

            พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า เชิญถามเถิดมหาบพิตร  ถ้าทรงพระประสงค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระองค์อาจบัญญัติผลแห่งสมณะปฏิบัติที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน  เหมือนอย่างการงาน ที่ให้ผลประโยชน์ แก่คน ทำได้บ้าง หรือไม่ พระเจ้าข้า

            มหาบพิตร  ทรงจำได้หรือไม่ว่า  ปัญหาข้อนี้  มหาบพิตร เคยตรัสถามใครมาบ้างแล้ว

            จำได้อยู่พระเจ้าข้า  ท้าวเธอตรัสตอบ  ปัญหาข้อนี้  หม่อมฉันได้เคยถาม สมณพราหมณ์มาบ้างแล้ว

            สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์ถวายอย่างไร  พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่ง  ถ้ามหาบพิตร ไม่หนักพระทัย  ก็โปรดตรัสเถิด
ณ ที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  หม่อมฉันไม่หนักใจเลยพระเจ้าข้า
ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตร ได้โปรดตรัสเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ครั้งหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์นี้เอง  หม่อมฉันได้ไปหาครูทั้ง ๖ มีครู      ปูรณกัสสปะ เป็นต้น ถึงที่อยู่ทั้ง ๖ สำนัก  ได้ถามปัญหาข้อนี้มาแล้วถึง ๖ ครั้ง  แต่ครูทั้ง ๖ นั้นหาได้พยากรณ์ตรงตามปัญหาไม่  หม่อมฉันถามถึงผลแห่งสมณะปฏิบัติ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันนี้  ครูทั้ง ๖ พยากรณ์ไปเสียทางอื่น  เหมือนถามถึงมะม่วง  ตอบขนุนสำมะลอ ฉะนั้น หม่อมฉันดำริว่า คนอย่างเรา จะพึงไปรุกรานสมณะ หรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต เพื่อประโยชน์อันใด  หม่อมฉันไม่ยินดี  แต่ก็มิได้คัดค้านคำของท่าน  ไม่พอใจ  แต่ก็มิได้ออกวาจา แสดงความไม่พอใจ  ไม่เชื่อถือ  ไม่ใส่ใจถึงถ้อยคำนั้น  ลุกจากที่นั่งหลีกไป

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  หม่อมฉันขอทูลถามพระผู้มีพระภาคบ้างว่า พระองค์อาจบัญญัติผลแห่งสมณะปฏิบัติ  ที่เห็นประจักษ์ ในปัจจุบันนี้ เหมือนอย่างการงานที่ให้ผลแก่คนทำได้หรือไม่ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  อาจอยู่มหาบพิตร ต่อนั้นได้ทรงพยากรณ์ ผลแห่งสมณะปฏิบัติ ที่เห็นประจักษ์ ในปัจจุบัน อย่างวิจิตรพิสดาร (ผู้ประสงค์จะทราบ โปรดดูสามัญญผลสูตรนั้นเถิด)

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว  พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลแสดงความพอพระทัยว่า  พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งนัก พระเจ้าข้า, พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งดีมากพระเจ้าข้า, เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, หรือเหมือนส่องตะเกียงในที่มืด ฉันใด  พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรม  โดยอเนกปริยาย  ฉันนั้นเหมือนกัน หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาค,  พระธรรม, และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นอุบาสิกา ผู้มีสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

            ต่อนั้นท้าวเธอ ได้ทูลของประทานอภัยโทษพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน  ซึ่งเป็นคนเขลาคนหลง ไม่ฉลาด หม่อมฉัน ได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดา ผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่  ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรรับทราบความผิด ของหม่อมฉัน โดยเป็นความผิดจริง เพื่อสังวรต่อไปเถิด

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  เป็นความจริง มหาบพิตร, อาตมภาพ ขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร,  การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง,  แล้วสารภาพตามความเป็นจริง, รับสังวรต่อไปนี้ เป็นความชอบในธรรมวินัยของพระอริยเจ้าแล

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสประทานอภัย ตามเยี่ยงอย่างพระอริยเจ้า อย่างนี้แล้ว  ท้าวเธอได้กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันขอทูลลากลับ หม่อมฉันมีกิจอันจะต้องปฏิบัติมากพระเจ้าข้า, ตามสะดวกเถิดมหาบพิตร,  พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่ง  พระเจ้าอชาตศัตรู ได้เสด็จลุกจากอาสนะ  ถวายบังคมลา พระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณ แล้วเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

            เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรู เสด็จกลับแล้ว  พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า  ภิกษุทั้งหลาย พระราชาองค์นี้ ได้ถูกกรรมของพระองค์ราญรอนเสียแล้ว  หากท้าวเธอจะไปไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดา ผู้ดำรงธรรม  เป็นพระราชาโดยธรรมแล้ว  ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลีมลทิน  คือพระโสดาปัตติผล จะเกิดแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว  ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี ในภาษิตของพระผุ้มีพระภาคเจ้าทั่วกัน

จบตำนานพระพุทธรูปปางประทานอภัยแต่เพียงนี้

 

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ  จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า ๒๒๙-๒๓๙)

           

 

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting