๓๙. ปางประทับยืน

            พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืนตามปกติ  ห้อยพระหัตถ์ทั้งสองลงชิดพระกาย อย่างสบายๆ แสดงว่า ยังไม่มีเหตุการณ์อะไร อันจะทำให้ต้องไหวพระกาย คือประทับยืนเฉยๆ น่าจะเรียกตามเหตุว่า “ ปางเมตตาการุญ”

 

 

            พระพุทธรูปปางนี้ ไม่มีตำนานอันควรจะนำมาเล่า  แต่เนื่องด้วยพระพุทธจริยาสำหรับปางนี้  เป็นที่ประทับอยู่ในความทรงจำของพระสาวกทั้งหลาย คือในยามเช้าของทุกๆวัน ไม่ว่าจะเป็นเวลาเสด็จเข้าไปในบ้านที่คนใจบุญทูลอาราธนาไว้พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกก็ดี  เมื่อเสด็จออกจากพระคันธกุฏีแล้ว  จะต้องมาประทับยืนในท่านี้  ณ ที่หน้าพระคันธกุฏี เป็นปกติ  เพื่อทอดพระเนตรดูความพร้อมเพรียงของพระสงฆ์สาวก เมื่อทรงเห็นพระสงฆ์สาวกพร้อมเพรียงดีแล้ว  ก็เสด็จเป็นประธานนำพระสงฆ์ไป

            ความจริง  ก่อนแต่จะเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เพื่อเป็นประธานนำพระสงฆ์สาวกไปนั้น พระพุทธอุปัฏฐาก มีพระอานนท์เถระเจ้า เป็นต้น จะต้องเข้าไปกราบทูล ให้ทรงทราบก่อนแล้วว่า  พระสงฆ์พร้อมแล้ว  เป็นเวลาสมควร ที่พระองค์จะเสด็จได้แล้ว  แม้อย่างนั้น เมื่อเสด็จออกมาแล้ว ก็ต้องเสด็จมาประทับยืนที่หน้าพระคันธกุฎีก่อน  เพื่อทอดพระเนตร ดูความพร้อมเพรียง ความเป็นระเบียบอันดีของพระสงฆ์  ไม่ทรงด่วนเสด็จนำพระสงฆ์ไปทันที โดยไม่ทันได้ชมความพรั่งพร้อมเป็นอันดี ของพระสงฆ์  ต่อเมื่อทรงได้ความยินดี  ตอบพระสงฆ์ให้ทราบว่า  ทรงพอพระทัยในความพร้อมเพรียงเป็นอันดี ของพระสงฆ์แล้ว  จึงเสด็จนำพระสงฆ์ไป

            พระพุทธจริยาอันนี้  จึงเป็นพระจริยาวัตรที่สำแดง ซึ่งน้ำพระทัยให้ปรากฏว่า ทรงมากด้วยพระเมตตา, พระกรุณา, ในพระสงฆ์สาวก ทั้งเป็นเนติอย่างดี สำหรับพระสงฆ์สาวก ผุ้เจ้าหมู่เจ้าคณะ จะพึงอนุวัตรตาม เป็นความงามในพระธรรมวินัยนี้

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ  จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า ๑๖๘-๑๗๐ )

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting