๒๖.ปางประทับเรือ

 

 

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถ นั่งประทับบนพระแท่น  ห้อยพระบาททั้งสองข้างวางอยู่บนดอกบัว  พระหัตถ์ทั้งสองคว่ำ วางที่พระชานุทั้งสอง

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า  เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬวนาราม อาศัยกรุงราชคฤห์มหานคร เป็นที่โคจรภืกขาจาร  และประทานพระธรรมเทศนา  โปรดสัตว์ผู้มีธุลีในนัยน์ตาน้อย ให้เห็นแจ้งในอริยธรรม  ทรงประทานข้อปฏิบัติแต่เบื้องต่ำ  เบื้องกลาง และเบื้องสูง  ทรงแนะนำชักจูงผู้หลงดำเนินในทางผิด ให้เกิดกุศลจิตกลับมาดำเนินในทางชอบ  ปฏิบัติตามระบอบแบบอริยบรรพ์  อันเป็นทางเข้าถึงซึ่งสวรรค์และนิพพาน  เกียรติศัพท์ของพระสัมพุทธเจ้าก็แผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศ  ครอบงำกำลังของเหล่าเดียรถีย์มิจฉาจิต ให้สิ้นแรง  ด้งหิ่งห้อย ต้องสิ้นแสงในยามพระอาทิตย์อุทัย  มหาชนพากันเลื่อมใส ศรัทธาปสาทะน้อมจิต เข้าถึง ซึ่งพระไตรสรณะตลอดกาล  พร้อมกันบำรุง พระศาสนาด้วยไทยทานเป็นนิรันดร  พระศาสนา ก็รุ่งเรืองสถาพร ดังร่มโพธิ์ร่มไทร  ที่สมบูรณ์ด้วยดอกใบ ทุกก้านกิ่งให้ความร่มเย็น แก่ปวงสัตว์ที่เข้าพึ่งพิงทุกทิวาราตรี
           
            สมัยนั้น  พระนครไพศาลี  ซึ่งปรากฏว่า เป็นราชธานี ที่กว้างใหญ่เป็นที่เจริญ ด้วยวิทยาลัย และเศรษฐกิจ  มากด้วยพ่อค้าพานิชพำนักอยู่ดูสลอน ทั้งแผ่นดินก็เป็นทรัพยากร ควรแก่การเพาะปลูก ทั้งไม้หมากรากลูก  และดอกใบ เจริญยิ่งกว่านนคใดๆในแคว้นวัชชี  ดังนั้นชาวเมืองไพศาลี จึงมั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน  ตลอดพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองราชธารินทร์ ก็เป็นกษัตริย์มหาศาล เพียบพร้อมด้วย ปราสาท ราชศฤงคารงามวิจิตร  อีกอำมาตย์ราชปุโรหิต และโยธาทหาร  ก็สามารถด้วยศิลปะศาสตร์ ราฃการทุกถ้วนหน้า เป็นที่นิยม ทั้งพระราชอุทยานสถานรื่นรมย์ และสระโบกขรณี ก็เป็นที่ยินดี เจริญตาเจริญจิต งามด้วยพฤกษานานาชนิด อเนกประการ ประชาชน มีความชื่นบานทุกเวลา
            ต่อมาสมัยหนึ่ง  เมืองไพศาลีเกิดอาเพศ  ประชาชนประสพอุบัติเหตุ อย่างสาหัส ด้วยทุพภิกขภัยพิบัติเกิดบีฑา  คือ ข้าวกล้าในนา เสียหาย แห้งตาย เป็นส่วนมาก  ข้าวปลาหายากเพราะฝนแล้ง  ข้าวยากหมากแพง เป็นที่สุด บรรดาเหล่ามนุษย์ที่ขัดสน  ยากจนเพราะเกียจคร้าน การงานไม่นำพา  รักแต่การเที่ยวเตร่เฮฮาเป็นอาจิณ  การทำมาหากิน ไม่ใฝ่ฝัน  ใส่ใจแต่การพนันในทางบาป  จิตละโมบ โลภลาภในทางผิด ในที่สุด ก็สิ้นคิด เพราะขัดสน  ต้องทุกข์ทน ต่อความหิว  ลงหน้านิ่วตาลาย นอนตายอยู่เกลื่อนกลาด  เป็นที่เอน็จอนาถอนิจจา

            อนึ่งเล่า  เมื่อตายแล้ว ก็ไม่มีใครนำพาในซากศพ  ทิ้งให้เน่าเหม็นกลิ่นตระหล่บอยู่ริมทางดูเกลื่อนกลาด  ต่อนั้นอมนุษย์ปีศาจในป่า ก็พากันหลั่งไหล เข้าพระนคร  กินศพมนุษย์ ที่ม้วยมรณ์ เป็นจำนวนมาก  ที่ต้องตายลงเพราะ อดอยากหิวโรยแรง ลงดับจิตยังพวกที่ต้องสูญเสียชีวิต  เพราอหิวาตโรค เพราะบ้านเรือนโสโครก ด้วยก่ลิ่นไอ  เนื่องจากของกินของใช้ไม่สะอาด  เป็นเชื้อโรคที่ร้ายกาจสให้พลันตาย  อหิวาต์พากให้มนุษย์ วอดวายเหลือประมาณ ยังปีศาจ สันดานพาลที่แฝงอยู่พากันเข้าสิงสู่สำแดงฤทธิ์  ล้างผลาญชีวิตประชาชน  ให้วอดวาย ทุกวันวาร  รวมเป็นภัย ๓ ประการน่าสะพรึงกลัว เพราะร้ายแรง คือ :-

  1. ทุพภิกขภัย  เกิ ดจากข้าวยากหมากแพง  ฝนแล้งข้าวตาย
  2. อมนาสภัย  เกิดจากภูตผีปีศาจ ทั้งหลายเบียดเบียน
  3. อหิวาตภัย  เกิดจากอหิวาตกโรค  เพราะบ้านเรือนโสโครก อาหารสกปรกเป็นสมุฏฐาน

ภัยเกิดพร้อม ๓ ประการไม่เคยมี  ชาวเมืองไพศาลี เคราะห์ร้ายมาก ที่มีกำลังก็พากันหนีจากไปสู่เมืองไกล
            ครั้งนั้นประชาชนคนทั้งหลายประชุมกันคิด  ภัยร้ายทั้ง ๓ ชนิดนี้ไม่เคยมี อาจจะเป็นเพราะพระราชา แห่งนครไพศาลี ประพฤติผิด  ทำงานนอกจารีต ราชประเพณี  ไม่ตั้งอยู่ในราชธรรมอันเดีอย่างกษัตริย์ ทั้งหลาย จึงอาเพศ ให้เกิดภัยร้าย ๓ ประการ  แล้วชวนวกันไปยังพระราชสถานที่สถิตแห่งประมุขชาติ ราชบพิตร พระเจ้ากรุงไพศาลี  กราบทูลว่า ข้าแต่อธิบดินทร์ ปิ่นแคว้นวัชชีมหาราช  บัดนี้  ภัยร้ายกาจ ๓ ประการ เกิดขึ้นแล้วในพระนคร  ซึ่งแก่กาลก่อน มิเคยมี นับได้ ๗ พระราชาธิบดี ที่เถลิงราชสมบัติมา  ท่านผู้รู้กล่าวว่า  ภัยเห็นปานนี้ ย่อมไม่เกิดมี ในรัชกาล ของพระราชาผู้บริหารประเทศ ตั้งอยู่ในทสพิธราชธรรม

            ลำดับนั้น  พระเจ้ากรุงไพศาลี  โปรดให้มุขอำมาตย์ราชมนตรี ประชุมชาวประชาชี ที่ข้องใจสงสัยในราชกิจ  ยังท้องพระโรงหลวง รัตนวิจิตร ในราชฐาน  ให้สำรววจวตรวจดูงานของพระมหากษัตริย์  ว่าสิ่งใดทีเราปฏิบัติ ไม่ชอบด้วยราชประเพณี  ทำให้เกิดภัยกาลีร้าย ๓ ประการ  เมื่อมหาชนตรวจดูงานของพระมหากษัตริย์  ก็มิได้เห็นข้อปฏิบัติอันใดของพระองค์ ที่บกพร่อง อันเป็นช่องที่จะให้เกิดภัยพิบัติได้  จึงกราบทูลว่า โทษใดๆ ของพระองค์มิได้ทรงมี  แล้วบรรดาชาวประชาชี จึงปฤกษากันว่า เราท่านทั้งหลาย จะพากันทำฉันใดภัย จึงจะสงบลงด้วยดี  ดังนั้น  เมื่อผู้ใดเสนอว่า  พิธีกรรทมเหล่านี้มีพลีกรรม การบรวงสรวงเป็นต้น จักเป็นมงคลระงับภัยพิบัติได้  เมื่อคนทั้งหลายพากันทำหมดทุกวิธี  ก็ไม่สามารถปัดเป่าภัยกาลีให้สงบได้

            ครั้งนั้น มีหมู่ชนที่สนใจในพระพุทธศาสนา เสนอความเห็นขึ้นมาชวนให้น่าคิดว่าบัดนี้  สมเด็จพระธรรมสามิสสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงประทานธรรมวิโมกข์แก่ปวงสัตว์ ทรงพระปรีชาญาณสมบัติอันวิเศษ สมบูรณ์ด้วยพระฤทธ์ พระเดชและอานุภาพทุกประการ  ถ้าได้ปราบทูลอาราธนา ให้เสด็จมาประทานธรรม ในพระนครนี้  เหล่าภัยพิบัติทั้งมวลมีก็คงจะสงบได้ คำเสนอ เรื่องนี้เป็นที่พึงใจแก่คนเป็นอันมาก  จึงพากันถามว่า  บัดนี้  พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ที่ใด  ครั้นทราบแล้ว  ก็พากันเข้าไปยังพระราชสถาน กราบทูล ให้พระเจ้ากรุงไพศาลี ทรงประทานโอกาส จัดราชปุโรหิตอำมาตย์ นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ยังราชถฤห์มหานคร  เพื่อขออารธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้บทจรมาระงับดับความเดือดร้อนของชาว พระนครไพศาลี ด้วยอานุภาพ พระบารมี แต่ครั้งเดี๋ยวนี้เถิด
            ในเวลานั้น  เป็นเวลาใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษา  พระบรมศาสดาทรงประทานปฏิญญา แต่พระเจ้า พิมพิสาร  เพื่อทรงอยู่จำพรรษากาล ณ พระเวฬุวัน

            อนึ่งเล่าในสมัยนั้น  เจ้าลิจฉวี  พระนามว่า  มหาลี  เป็นผู้มีความสนิทสนมกันอย่างดี กับพระเจ้าพิมพิสาร  จึงได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นหัวหน้านำเครื่องราชบรรณาการ ไปพร้อมด้วยบุตรปุโรหิต  เพื่อปฏิบัติราชกิจยังแคว้นมคธ  แล้วเจ้ามหาลีก็รีบสัญจรบทจากไพศาลี ไปมคธรัฐ  เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารราชาธิปัตย์ยังราชถฤห์นคร  กราบทูลวิงวอนขออัญเชิญพระบรมศาสดา  ครั้นได้รับพระราชบัญชาเปิดโอกาส ให้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวัน  เจ้ามหาก็ขมีขมัน่ชวนคณะราชทูต ไปเฝ้าพระสัมพุทธที่พระมหาวิหาร  ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาจารย์ ผู้ทรงพระมหากุรณา  เพื่อบำเพ็ญโลกัตถจริยา ระงับความเดือดร้อน  ประทานความร่มเย็น แก่ชาวนครไพศาลี ด้วยอานุภาพ พระบารมีด้วยเถิด

            เมื่อพระบรมศาสดา ทรงสดับคำของเจ้าลิจฉวี  พร้อมชาวไพศาลีทูลอาราธนา  จึงทรงใคร่ครวญ ดูแล้ว ก็ทรงรู้ชัดว่า ถ้าตถาคต ไปยังไพศาลีนคร ก็สามารถ ระงับดับความเดือดร้อนของประชาราษฎร์ ภัย ๓ ประการก็จะพินาศไม่ตั้งอยู่ได้  ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัย  ในรัตนสูตรพุทธอาณาจึงรับคำอาราธนาของคณะเจ้าลิจฉวี

            ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าว นัยว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาของเจ้า   ลิจฉวี จึงเสด็จไปเฝ้าพระมหามุนีแล้วทูลถาม  ครั้นทรงทราบความว่าจักเสด็จเป็นแม่นมั่น  จึงกราบทูลว่า  ถ้าเช่นนั้น  ขอให้พระองค์ทรงรอก่อน  ด้วยวิถีทางที่จะเสด็จบทจรยังไม่สู้ดี จึงโปรดสั่งให้ปราบพื้นวิธีทางสถลมารค ถวายพระผู้มีพระภาคประมาณ ๕ โยชน์  จากกรุงราชคฤห์ถึงแม่น้ำคงคา  ห้าสม่ำเสมอแก่การขาตรา โดยสวัสดี ทุกระยะวิถีทางหนึ่งโยชน์ ก็โปรดให้สร้างวิหาร  สำหรับพระศาสดา ประทับพัก  พร้อมด้วยที่พำนักของพระสงฆ์ทั้งหลาย ที่ติดตามเสด็จ
           
            ครั้นทางสำเร็จเรียบร้อยดีแล้วทั้งวิหาร  พระเจ้าพิมพิสาร จึงเสด็จไปเฝ้า  พระศาสดาจารย์  กราบทูลให้ทรงทราบว่า  บัดนี้ควรแก่เวลา  พระบรมศาสดาจึงเสด็จเดินทางพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ โปรดให้ประชาชน ที่ชุมนุมคอยส่งเสด็จโปรยดอกไม้ ห้าสีถวายเป็นพุทธบูชา  ทั้งโปรดให้ยกธงชัยและธงแผ่นผ้า พร้อมด้วยต้นกล้วย  ในที่สุดระยะทางโยชน์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งพระวิหาร โปรดให้กั้นเศวตฉัตร ซ้อนถวายพระศาสดาจารย์ และพระสงฆ์บริวาร   ทั้งจัดไทยทานถวายทุกระยะ ที่พักพำนักแรมราตรี  รวม ๕ วันพอดี ก็เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำคงคา  เสด็จลงราชนาวาเรือพระที่นั่ง  ซึ่งโปรดให้จัดตั้งบัลลังก์ภายใต้พลับพลาหลังคาสี  จัดลาดอาสนะเป็นอย่างดีตลอดหมด  พระบรมสุคตเสด็จประทับบนพระพุทธอาสน์ พระสงฆ์ก็ลีลาศลงนั่งแวดล้อมเป็นบริวาร พระเจ้ากรุงราช คฤห์นคร จึงโปรดให้แจ้งข่าวสารไปยังเจ้าลิจฉวี ให้ชาวเมืองไพศาลี จัดแจงวิถีทางต้อนรับ พระบรม ศาสดา ซึ่งจะเสด็จมาโดยเรือพระที่นั่ง  กำหนดระยะทางที่จะถึงฝั่งนครไพศาลี  เป็นทางยาวโยชน์หนึ่งพอดี  ทางเสด็จชลมารค  พระเจ้าพิมพิสาร เสด็จลงส่งเรือพระผู้มีพระภาคลุยลงไปในแม่น้ำ ประมาณเพียงพระศอ  แล้วกราบทูลว่า  หม่อมฉันจะมารอรับเสด็จ ณที่นี้  ในยามที่พระชิน-สีห์เสด็จยังราชถฤห์นครอีกครั้งหนึ่ง

            ในขณะที่เรือพระที่นั่งทรงขององค์พระผู้มีพระภาคเสด็จจากท่า  มหาชนพากันทำสักการบูชายิ่งใหญ่  ไม่มีการเสด็จเรือครั้งใดเสมอเหมือน  จึงเป็นการเสด็จด้วยพระเกียรติอย่างมโหฬาร  ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารจัดถวาย  ทั้งเป็นการเสด็จไปจากพระนครหนึ่งสู่นครหนึ่ง  โดยพระมหากษัตริย์ทรงจัดรับจัดส่งทั้งสองพระนคร  จึงเป็นการเสด็จที่มีกิตติศัพท์ขจรไปไกลในพระประวัติของพระศาสดา

จบตำนานพระพุทธรูปปางประทับเรือแต่เพียงนี้

 

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๐๗ - ๑๑๓ )

           

 

 

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting