๑๖. ปางประสานบาตร
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร ซึ่งวางบนพระเพลา ยกฝ่าพระหัตถ์ขวาขึ้นวางปิดปากบาตร เป็นกิริยา ทรงอธิษฐานประสานบาตร
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้
สมัยนั้น พานิชสองคน ชื่อตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ พ่อค้าเกวียนพาเกวียนสินค้าเป็นอันมาก เดินทางไกลมาจาก อุกกละชนบท ผ่านมาในไพรสณฑ์ เข้าตำบลอุรุเวลา เสนานิคมประเทศ เขตที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ขณะนั้นเทพดา ซึ่งเป็นญาติสาโลหิตของพานิชทั้งสองแต่กาลก่อน ปรารถนาจะสงเคราะห์พานิชทั้งสอง จึงบันดาลด้วยเทวานุภาพ ให้เกวียนทั้งหมดหยุดนิ่งเหมือนถูกตรึงล้อเกวียน ไว้กับพื้นพสุธา
ตปุสสะ ภัลลิกะ ตกใจ แม้จะพยายามแก้ไข ให้เฆี่ยนตีวัว ทั้งเข้าช่วยผลักดันล้อเกวียนก็ไม่เป็นผล เกวียนทุกเล่มคงหยุดนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อน ไม่มีท่าทีว่าจะไปได้อีก พานิชจึงทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงเทพดาเจ้าเขาเจ้าป่า ขอให้ตนได้พาเกวียนสินค้าเคลื่อนจากที่นี้ ไปยังที่ซึ่งตนปรารถนาด้วยเถิด
เทพเจ้าองค์นั้น จึงสำแดงกายให้ปรากฏ แล้วยกมือชี้บอกแก่พานิชทั้งสองว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะนี้เสด็จประทับอยู่ในร่มไม้ราชายตนะพฤกษ์นั้น นับว่าเป็นโชคลาภอันดีของท่านทั้งสอง ดังนั้นท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ทำอภิวาทด้วยคารวะแล้วน้อมเอาข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนเข้าถวายพระองค์เถิด ผลทานครั้งนี้จะล้ำเลิศ อำนวยประโยชน์สุขแก่ท่านสิ้นกาลนาน แล้วเทพเจ้าก็อันตรธานมิได้ปรากฏอีกสืบไป
ตปุสสะ ภัลลิกะ ก็บังเกิดพิศวงด้วยได้เห็นองค์เทพดา และได้ทราบข่าวดีอีกด้วยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ก็มีความโสมนัสยินดี ครั้นเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้ ซึ่งเทพดาชี้บอก ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ ร่มไม้เกต ประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ รุ่งเรืองด้วยพระรัศมีงาม โอภาสเป็นที่อัศจรรย์ ก็ยิ่งมีความปรีดาปราโมทย์เปล่งวาจาว่า เป็นลาภอันประเสริฐของเรา พลางนำเอาสัตตุผงและสัตตุก้อน เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาท แล้วนั่งลงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุเคราะห์ รับบิณฑบาต ทานของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระพุทธเจ้า สิ้นกาลนานเทอญ
ความจริงนับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มา ในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่เคยรับบิณฑบาตทานของผู้ใดเลย เมื่อเช้าวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ ก็ทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนแต่ตรัสรู้ ทั้งในเวลารับเล่า ก็ทรงรับด้วยพระหัตถ์ เพราะไม่มีบาตร ด้วยบาตรอันฆฏิการมหาพราหม ถวายในวันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ได้อันตรธานไปเสียแล้ว ดังนั้นเมื่อตปุสสะ ภัลลิกะ พานิชทั้งสองมาถวายสัตตุผง สัตตุก้อน จึงทรงปริวิตกว่า บาตรของเราไม่มี พระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ทรงรับบิณฑบาตด้วยพระหัตถ์ก็มีบ้างหรือ ? และบัดนี้เราควรจะรับสัตตุผง สัตตุก้อน หรือไม่หนอ ?
ในโอกาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ทราบในพระพุทธอัธยาศัย ก็นำบาตรเสลมัยทำด้วยศิลา มีสีดังถั่วเขียว คล้ายหยก มาแต่ ๔ ทิศ ๆละองค์ องค์ละ ๑ ลูก น้อมถวายพระผู้มีพระภาคและกราบทูลให้ทรงรับสัตตุผง สัตตุก้อนด้วยบาตรทิพย์ ทั้ง ๔ พระองค์ผู้มีพระภาคก็ทรงรับบาตรทั้ง ๔ เพื่อรักษาศรัทธาปสาทะ ของท้าวจตุโลกบาล แล้วทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง ๔ ลูก เข้าเป็นลูกเดียว
ข้อนี้เป็นเยี่ยงอย่างอันดีสำหรับพระสงฆ์สาวกตั้งแต่บัดนั้นมา จนบัดนี้ ที่พระทุกรูปจะต้องมีบาตรเพียงลูกเดียว จะมีมากกว่า ๑ ลูกไม่ได้ เป็นหลัในการปฏิบัติตนเป็นบรรพชิต ซึ่งควรจะสันโดษ มักน้อย ไม่ฟุ่มเฟือย ควรจะมีเฉพาะแต่สิ่งที่จำเป็นตามสมณวิสัย.
พระพุทธจริยาที่ทรงอธิษฐานประสานบาตรนี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นอีกปางหนึ่ง เรียกว่า ปางประสานบาตร
( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร ๒๕๓๓ หน้า๖๑-๖๔ )
|