๑๘. ปางพระเกศธาตุ
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตุ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา ยกฝ่าพระหัตถ์ขวา ขึ้นแนบพระเศียร เป็นกิริยาเสยพระเกศา
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้
เมื่อเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะ ทั้งสองพานิช จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอถึงพระองค์กับพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองเป็นอุบาสก ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าอวสานแห่งชีวิต แล้วกราบทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งควรแก่การอภิวาทในยามอนุสรณ์ ถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในกาลเบื้องต้นต่อไป
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณา จึงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นลูบพระเศียรเกล้าๆ ได้พระเกศา ๘ เส้น นิยมเรียกว่า พระเกศธาตุ แล้วทรงประทานพระเกศธาตุ ทั้ง ๘ เส้นนั้น แก่พานิชทั้งสอง ตปุสสะ ภัลลิกะ น้อมรับเกศธาตุทั้ง ๘ องค์ ด้วยความโสมนัสเป็นอันมาก แล้วกราบถวายบังคมลาไป
พานิชทั้งสองนั้น ได้เป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศานาตั้งอยู่ในเทววาจิกสรณคม คือถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรม ทั้งสองเป็นสรณะ เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ บังเกิดขึ้นในโลก เมื่อพานิชทั้งสองนั้นเดินทางกลับถึงเมืองของตนแล้ว ได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศธาตุ ทั้ง ๘ เส้น ไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน.
( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร ๒๕๓๓ หน้า ๖๖-๖๙ )
|