๖๕. ปางโปรดสุภัททะ พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นกิริยาแสดงธรรมโปรด
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้ “อานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้” ทรงรับสั่ง “อานนท์เมืองกุสินารานี้ แต่ปางก่อนเคยเป็นมหานครราชธานี มีนามว่า “กุสาวดี” เป็นนครใหญ่ไพศาล พระเจ้ามหาสุทัศน์จักรพรรดิราช เป็นพระมหากษัตริย์ครอบครอง เป็นเมืองที่มีผู้คนมากประชาชนสงบสุข สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สรรพสิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ชีวิต ของมนุษย์ทุกประการ เสียงร้องเรียกร้องหา ค้าขายสัญจรไปมาหาสู่กัน ไม่หยุดหย่อน ทั้งกลางวันกลางคืน ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรื่องกุสินารา บรรเทาความข้องใจ หายความปริวิตกแก่พระอานนท์เถระเจ้าแล้ว ทรงรับสั่งว่า “อานนท์จงเข้าไปบอกพวกมัลลกษัตริย์ให้ทราบว่า บัดนี้ พระตถาคตเจ้า จักปรินิพพาน ณ ยามที่สุดแห่งราตรีในวันนี้ อย่าให้มัลลราชทั้งหลายมีความเดือดร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตเจ้า มาปรินิพพานในคามเขตของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายสิกลับไม่ได้เห็นพระองค์ในกาลสุดท้าย” พระอานนท์รับบัญชาแล้ว รีบเข้าไปแจ้งความนั้นแก่มัลลกษัตริย์ ทั้งหลายตามพระประสงค์ ของพระตถาคตเจ้าทุกประการ เมื่อมัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ทราบแล้ว ต่างมีความทุกข์โทมนัสพร้อมด้วยโอรส สุณิสา และปชาบดี กับทั้งอำมาตย์ พร้อมด้วยบุตรและภริยา รีบเสด็จออกไปยังสาลวันอุทยาน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอานนท์เถระเจ้าดำริว่า ถ้าจะให้มัลลกษัตริย์ทั้งหลายเรียงองค์กันเข้าเฝ้า ราตรีก็จะสว่างเปล่าไม่สิ้นเสร็จ จึงได้จัดให้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสกุลๆ เป็นคณะๆ แล้วกราบทูลชื่อและวงศ์ตระกูลถวายโดยลำดับ ให้มัลลกษัตริย์ ได้เข้าถวายอภิวาทเสร็จภายในปฐมยามเบื้องต้นแห่งราตรีนั้น
สมัยนั้น ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อว่า สุภัททะ ชาวเมืองกุสินารา สุภัททะปริพาชกนั้น ได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดม จักปรินิพพานในที่สุดแห่งราตรีนี้แล้ว จึงคิดว่า ความสงสัยของเรามีอยู่ ควรจะรีบออกไปเฝ้าทูลถามให้พระองค์ตรัสบอกบรรเทาความในใจของเรานั้นเสีย แล้วสุภัททปริพพา-ชก ก็ออกจากเมืองกุสินารา เข้าไปพบพระอานนท์ ยังสาลวันอุทยาน เพื่อขอโอกาสได้เข้าเฝ้า พระอานนท์เถระเจ้าได้ทัดทานว่า “อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเจ้าเลย ขณะนี้พระตถาคตเจ้า ก็ทรงลำบากพระกายหนักอยู่แล้ว” แม้สุภัททะปริพพาชกจะได้วิงวอนแล้วๆเล่าๆ อยู่ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระอานนท์เถระเจ้า ก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงได้สดับเสียงพระอานนท์ และสุภัททะ ปริพพาชกเจรจากันอยู่ จึงตรัสเรียกพระอานนท์ว่า “อานนท์ อย่าห้ามสุภัททะเลย ให้สุภัททะได้เห็นตถาคตเถิด แม้สุภัททะจะถามปัญหาอันใดกับตถาคต ก็จักไม่เบียดเบียนตถาคตให้ลำบาก สุภัททะจักตรัสรู้ทั่วถึงธรรมในปัญหาทั้งปวง ที่ตถาคตได้พยากรณ์แล้ว” ลำดับนั้น พระอานนท์จึงบอกปริพาชกว่า “สุภ้ททะ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้แก่ท่านแล้ว ท่านจงเข้าไปเฝ้าเถิด” สุภัททะปริพพาชก มีความเบิกบานใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ได้ทูลถามถึงครูทั้ง ๖ ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ มีปูรณกัสสป เป็นต้น ปฏิญญาว่าเป็นผุ้วิเศษ ได้ตรัสรู้ยิ่งด้วยปัญญานั้น สมจริงดังคำปฏิญญาหรือไม่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย สุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟัง แล้วทำไว้ในใจให้สำเร็จประโยชน์เถิด” แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอริยมรรค ๘ ประการ ว่าเป็นมรรคประเสริฐมีอยู่ในธรรมวินัยใดแล้ว สมณะ คือท่านผู้สงบระงับดับกิเลสได้จริง อนึ่งอริยมรรค ทั้ง ๘ นั้น ก็มีอยู่เฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น แม้สมณะดังกล่าวแล้ว ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้แห่งเดียว สุภัททะ หากภิกษุทั้งหลาย จะถึงปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในธรรมนี้แล้วไซร้โลกนี้ ก็จักไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมนี้ สุภัททปริพพาชก มีความเชื่อ เลื่อมใสสรรเสริญพระธรรมเทศนา พร้อมกับขอปฏิญญาณตนเป็นอุบาสก ทูลขอบรรพชา อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระอานนท์ รับธุระจัดให้สุภัททะ บรรพชาอุปสมบท ตามความปรารถนา เมื่อสุภัททะ ได้อุปสมบทแล้ว หลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ในราตรีนั้น ได้เป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทันพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา จบตำนานพระพุทธรูปปางโปรดสุภัททะปริพพาชก แต่เพียงนี้
( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารี มหาเถระ)
|