๓๐. ปางโปรดพุทธบิดา

            พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิรยาบถยืน  พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประคองบาตร  พระหัตถ์ขวา ยกขึ้นจีบนิ้ว  อันเป็นกิริยาแสดงธรรมโปรด

 

 

พระพุทธรูปปางนี้  มีตำนานดังนี้

เมื่อพระบรมศาสดา ทรงพาพระสาวกเสด็จออกบิณฑบาต ในพระนคร กบิลพัสดุ์  ซึ่งมีเค้เรื่องต่อจากประวัติพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรข้างต้น  ครั้นความทราบถึงพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา  ทรงเสียพระทัย รีบเสด็จจากพระที่นั่งไปพบพระบรมศาสดา รับสั่งพ้อต่อว่า พระบรมศาสดา ด้วยความน้อยพระทัย  ที่ทรงเห็นการที่พระบรมศาสดา ทรงบาตร เสด็จโปรดสัตว์นนั้นเป็นเรื่องเสื่อมเสียพระอิสสริยยศ   อันจะทำให้ชาวเมืองดูหมิ่นดูแคลนว่า  สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีจะกิน  ไม่มีญาติมิตรอุปถัมภ์  พระพุทธบิดาก็ไม่รับรองรังเกียจ  ซึ่งบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย จะไม่ทรงทำกัน  เป็นเรื่องน่าอัปยศมาก  ด้วยพระวาจาเพียงสั้นๆว่า “สิทธัตถะ ประเพณีเราเคยทำเช่นนี้หรือ”  อธิบายว่า  เมื่อไม่มีกษัตริย์ องค์ไหนประเทศใดในโลกเขาทำกัน  ทั้งไม่มีประเพณีที่เจ้านายในราชวงศ์ไหน ทรงประพฤติกัน  โดยการถือภาชนะเที่ยวของอาหารชาวบ้าน ไปเลี้ยงชีวิตเช่นนี้   อันเป็นความประพฤติของคนจัณฑาลของยาจก  เ ป็นความเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อย่างมาก  แล้วไฉนพระบรมศาสดา จึงทรงประพฤติเช่นนี้

            พระบรมศาสดากลับทรงรับสั่งตอบ  พระบิดาด้ยพระอาการปกติว่า “นี้เป็นพระเพณีของตถาคต”  อธิบายว่า  การเที่ยวบิณฑบาตนี้  เป็นเนตติ เป็นประเพณี ของเราในฐานะที่เพระบรมศาสดาทรงอยู่ในภาวะ ของสมณเพศ ปกติเหล่ากอของสมณะ จะต้องเที่ยวบิณฑบาต  ซึ่งเป็นประเพณีของพระทั่วไป

            แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่ทรงเข้าพระทัย  โดยทรงถือมั่นว่า  พระองค์เป็นกษัตริย์  แม้พระบรมศาสดา ก็เป็นกษัตริย์  ธรรมดาของกษัตริย์ ย่อมไม่มีประเพณีเลี้ยง่ชีวิตด้วยการเที่ยวบิณฑบาต ดังนั้น  จึงรับสั่งย้ำอีกว่า  “นี้เป็นประเพณีของเราหรือ”  แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสยืนพระวาจาว่า “ นี้เป็นประเพณีของตถาคต”

            เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะตรัสหมายถึงประเพณีกษัตริย์  แต่พระศาสดาตรัสหมายถึงประเพณี ของพระอริยเจ้า  มีความหมายไม่ตรงกัน  ซึ่งความจริง ก็ถูกทั้งสองอย่าง  แต่พระพุทธบิดาไม่ทรงทราบความจริง ของพระวาจาที่พระบรมศาสดารับสั่ง  ดังนั้น  พระบรมศาสดา จึงได้ทรงอธิบาย ความหมายของพระวาจา ที่ตรัสตอบพระพุทธบิดาว่า  นับแต่พระองค์ได้สละราชสมบัติ ทั้งพระราชเทวี และพระโอรส ออกจากพระนครไปอยู่ในป่า  ทรงผนวชอยู่ในเพศของสมณะ  นับว่าพระองค์ขาดจากความเป็นกษัตริย์  ไม่มีความหมายในความเป็นเจ้านาย  ไม่มีประเพณี ของกษัตริย์ อันใดที่พระองค์ทรงถืออยู่  และนับแต่นั้นพระองค์ก็ทรงตั้งอยู่ในประเพณีของสมณะ  ประพฤติตามทางของพระอริยเจ้า แต่ปางก่อนที่ประพฤติมา  มีการเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีวิต เป็นจริยานุวัตร  แล้วพระบรมศาสดา ก็ทรงเล่าการบำเพ็ญเพียรของพระองค์  ที่ทรงแสวงหาพระสัมโพธิญาณ เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความหลุดพ้น  จากสรรพกิเลส ในที่สุดก็ทรงทำลายตัณหา เป็นสมุจเฉทปหาน ตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ  ที่ควงไม้สัตถพฤกษ์โพธิมณฑล  ณ วันเพ็ญวิสาขมาส  กลางเดือน๖ ทรงเปลื้องปลด มานะทิฏฐิ ที่หุ้มห่อดวงปัญญา ของพระพุทธบิดา  ให้ทรเงห็นคุณต่า ของสมณะบ้างแล้ว  จึงได้ทรงแสดงอริยวังสิกสูตร  โปรดพระพุทธบิดา  ตามนัยพระบาลีว่า        อุตฺติฏฺเฐ   นปฺปมชฺเชยฺย  เป็นต้น   โดยพระอิริยาบถยืนทรงบาตร อยู่อย่างนั้น   แม้พระพุทธบิดา ก็ทรงประทับยืน ฟังพระโอวาท ของพระศาสดา ในทำนองเดียวกัน  เมื่อจบเทศนา พระพุทธบิดา  ก็ได้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล แล้วทูลอาราธนาพระบรมศาสดา  พร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย ให้ไปเสวยเช้า ที่พระราชนิเวศน์  พร้อมกัน.

จบตำนานพระพุทธรูปปางโปรดพระพุทธบิดาแต่เพียงนี้

 

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๓๑ - ๑๓๔ )

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting