๕๐. ปางโปรดพญาชมพูบดี
หรือ
ปางทรงเครื่อง

            พระพุทธรูปปางนี้  ของเดิมอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิตามปกติ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวา คว่ำวางบนพระชานุ  แบบมารวิชัย  ต่างแต่ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์ไทย เรียกกันว่า ปางทรงเครื่อง ก็มี
            พระทรงเครื่องเข้าใจว่า เดิมคงจะมีแต่ปางเดียว คือปางนี้ ปางอื่นยังไม่เห็นมีที่ไหน  ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสร้างปางห้ามพระญาติขึ้น ไว้ในพระอุโบสถพระศรีรัตนศาสดาราม(โบสถ์พระแก้ว) คนจึงพอใจสร้างตามกันดกดื่น และได้เปลี่ยนสร้างปางอื่นๆ ขึ้นเป็นแบบทรงเครื่องอีกหลายปางด้วยกัน บัดนี้ดูเหมือนจะคลายความนิยมสร้างพระทรงเครื่องลงมากแล้ว

 

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            ในปฐมโพธิกาล มีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าชมพูบดี  พระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางกายจนาเทวี  ครองเมืองปัญจาลนคร  พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมาก ด้วยพระองค์ทรงอาวุธวิเศษ เป็นอำนาจเหนือกษัตริย์น้อยใหญ่ทั้งหลาย  ถึง ๓ อย่าง คือ ศรวิเศษ เรียกว่า “วิษสร”  ฉลองพระบาทแก้ว และจักรแก้ว  มีกษัตริย์ในนครต่างๆ ยอมถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เป็นเมืองขึ้นมาก  ยังไม่มีกษัตริย์พระนครใดใกล้เคียง จะหาญเข้ามาต่อต้านได้  พระองค์ปรารถนาความยิ่งใหญ่ ไม่ทรงรู้จักพอ เช่นเดียวกับคนสามัญทั่วไป เมื่อ ทรงเห็นกษัตริย์นครใดมีราชสมบัติมาก มีฤทธิ์น้อย  ก็ทรงใช้วิษสร ไปร้อยพระกรรณ เอามาหมอบกราบแทบพระบาท ให้เป็นเมืองขึ้น

            วันหนึ่งเป็นวันพระจันทร์เพ็ญ  พญาชมพูบดีทรงทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์งามสว่าง อยู่ท่ามกลางหมู่ดาวในท้องฟ้า  ก็ทรงเทียบพระองค์ว่า พระองค์ก็ควรจะมีเดชานุภาพล่วงกษัตริย์ทั้งหมดในชมพูทวีป  เหมือนพระจันทร์มีรัศมี ล่วงดาวทั้งหลายฉะนั้น  ทรงเบิกบานพระทัย ด้วยความหวังในพระทัยเป็นอันมาก  จึงทรงฉลองพระบาทแก้ว เหาะไปในอากาศ ทอดพระเนตรดู หัวเมืองทั้งหลายในชมพูทวีป  ครั้นเสด็จมาถึงพระนครราชคฤห์  ทรงเห็นยอดประสาทสูงสล้างงามยิ่งนัก ก็ทรงจินตนาการว่า ปราสาทของใครหนอ งามยิ่งกว่าปราสาทของเรา  ก็ทรงพระพิโรธด้วยความริษยา  จึงได้เสด็จลงมายกพระบาทขึ้นกระทืบ เพื่อจะให้หักทลายลง  แต่ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า คุ้มครองรักษา  ในฐานะที่พระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระอริยสาวก  เป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างใกล้ชิด  ยอดปราสาทของพระองค์ ก็ไม่รู้สึกสะเทือน  ดูประหนึ่งว่า  เป็นเหล็กกล้า สามารถต่อต้านการกระทบรุนแรง ได้ทุกประการ พญาชมพูบดี ทรงกระทืบเท่าใดๆ ยอดปราสาท ก็มิได้หวั่นไหว  และในขณะเดียวกัน พระบาทของพญาชมพูบดีกลับแตก  พระโลหิตไหลออกโทรมพระบาท พญาชมพูบดี เจ็บพระบาทยิ่ง  ทรงพิโรธชักพระแสงขรรค์ออกฟันจนสุดพระกำลัง  ยอดปราสาทก็หาได้หวั่นไหวแต่ประการใดไม่  แต่พระแสงขรรค์กลับบิดงอ ไม่ยอมต่อต้าน  พญาชมพูบดี ทรงเสียพระทัย และกลับทวีความโกรธขึ้นเป็นอันมาก  รีบเสด็จกลับโดยทรงพระดำริจะใช้วิษสร มาร้อยพระกรรณเจ้าของปราสาทนี้ไป  ครั้นเสด็จมาถึงพระนครแล้ว ก็ทรงใช้วิษสร ให้ไปเอากษัตริย์ในนครราชคฤห์มาโดยเร็ว

            วิษสรจากแล่ง แล่นออกไปในอากาศโดยเร็ว ส่งเสียงร้องกัมปนาทเป็นที่หวั่นหวาดของคนและสัตว์ ที่ได้ยินทั่วกัน  พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับเสียง ก็สะดุ้งพระทัยกลัว  รีบเสด็จออกจากปราสาท ไปเฝ้าพระบรมศาสดา ที่พระเวฬุวันวิหาร แต่เช้าตรู่ เพื่อขอประทานความคุ้มครอง

            เมื่อวิษสรมาถึงปราสาท ก็เข้าค้นคว้าหาพระเจ้าพิมพิสาร ครั้นไม่พบ ก็ทำลายกำภูฉัตร์ กระจัดกระจาย แล้วก็ติดตามออกไปยังพระเวฬุวันวิหาร แผดเสสีงสะเทือนสะท้านน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง  ครั้นพระผู้มีพระภาคเห็นวิษสร เข้ามารุกรานเช่นนั้น  ก็ทรงนิรมิตพุทธจักร แล้วส่งให้ออกไปขับไล่ พุทธจักร
มีอานุภาพยิ่งกว่า  แล่นออกไปไล่ทุบวิษสร ให้สิ้นฤทธิ์ แล้วก็กลับคืน      เมื่อวิษสรพ่ายแพ้ พุทธจักร แล้วก็รีบหนีคืนเข้าแล่งศรพญาชมพูบดี

            ครั้นพญาชมพูบดี เห็นวิษสร พ่ายแพ้มาเช่นนั้น ก็โทมนัส เอาฉลองพระบาทแก้ว ออกทั้งคู่  สั่งให้ออกไปมัดพระเจ้าพิมพิสาร เอาตัวมาทันที  ฉลองพระบาทแก้วทั้งคู่  ได้กลายเป็นพญาวาสุกรี แผ่พังพาน เลื้อยแล่นไปโดยนภากาศ ร้องส่งเสียงดังสนั่นเหมือนฟ้าร้อง  ครั้นถึงเมือง       ราชคฤห์มหานครแล้ว ก็ตรงเข้าค้นคว้าหาพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อไม่พบ ก็พากันทำลายราชบัลลังก์ เสียย่อยยับ แล้วก็แล่นออกจากปราสาท ติดตามพระเจ้าพิมพิสาร ไปยังพระเวฬุวันวิหาร

            ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงเห็นนาคราชของพญาชมพูบดี ติดตามมารุกรานถึงพระเวฬุวันเช่นนั้น  ก็ทรงนิรมิตพญาครุฑให้โบกบินออกไปขับไล่นาคราชทั้งคู่ให้กลับคืนไปยังปัญจาลนคร  เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงขับไล่วิษสร และนาคราช ให้หนีไปแล้ว  ก็ทรงพิจารณาดู อุปนิสัยของพญาชมพูบดี ทรงเห็นว่าท้าวเธอ มีอุปนิสัยสูง ควรตะบรรลุพระอริยผลชั้นสูงได้แล้ว  จึงตรัสเรียก ท้าวสักกะเทวราช ให้ลงมาเฝ้า  แล้วทรงแจ้งพระประสงค์จะทรมานพญาชมพูบดี ผู้มีพระทัยหลงใหลใฝ่ฝันอยู่แต่ในราชสมบัติของพระมหากษัตริย์  โดยพระองค์จะนิรมิตพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราช ให้พระสงฆ์เป็นเสวกมาตย์ราชบริพาร ให้พระเวฬุวันวิหาร กลายเป็นพระราชนิเวศสถานไปชั่วขณะหนึ่ง ขอให้ท้าวสักกะเทวราช เป็นราชทูต ไปเอาตัวพญาชมพูบดีมาเฝ้ายังพระเวฬุวันวิหาร
            ครั้นท้าวสักกะเทวราช ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว ก็จำแลงเพศเป็นราชทูต ที่สง่างามด้วยอาภรณ์งามวิจิตร สูงด้วยค่ามากยิ่งกว่าเครื่องอาภรณ์ของพญาชมพูบดี แล้วเสด็จเข้าไปยืนปรากฏพระกายที่ปราสาทหน้าพระพักตร์พญาชมพูบดี  ในท่ามกลางอำมาตย์ราชบริพารที่เฝ้าแหนกันอยู่ พร้อมพรั่งแล้ว ทรงเปล่งสุรเสียงร้องทูลว่า ดูก่อนพญาชมพูบดี บัดนี้พระเจ้าราชาธิราช เจ้านายของ ข้าพเจ้า มีพระบัญชาให้ข้าพเจ้าเชิญตัวท่านไปในวันนี้

            พญาชมพูบดีทรงพระพิโรธ ด้วยเห็นราชทูตเจรจา ไม่เคารพนบน้อมก็ร้องตวาด  แล้วทรงขว้างจักรแก้ว ให้ไปประหารชีวิตทันที  เมื่อท้าวสักกะเห็นจักรแก้ว ของพญาชมพูบดี ส่งเสียงทำอำนาจ ดังลั่นมาเช่นนั้น  ก็ทรงขว้างจักร ของพระองค์ออกไปกำจัด  จักรของพระอินทร์ได้แล่นออกไปทำลายจักรของพญาชมพูบดีให้พ่ายแล้ว และกระชากพระบาทพญาชมพูบดี ให้ตกจากพระแท่น ที่ประทับและลากไปตามพื้นถึง ๑๒ วา ทั้งกลับกลายเป็นเปลวไฟเผาปราสาท ลุกลามทั่วไป ในพระราชนิเวศน์

            บรรดาเวกามาตย์ ราชบริพารพากันตกตะลึง ด้วยกลัวไปวิ่งวุ่นกระจัดกระจาย  แม้พญาชมพูบดี ก็ยอมพ่ายแพ้ แก่ราชทูต  รับจะทำตามประสงค์ทุกประการ  ต่อนั้นพระอินทร์ก็เรียกจักรของพระองค์กลับคืน ทันใดนั้น เปลวเพลิงที่ลุกลามไหม้ปราสาท ก็ดับลงทันที  ไม่มีสิ่งใดเสียหาย ทุกสิ่งคงตั้งอยู่เป็นปกติ  พญาชมพูบดี ขอผัดสัก ๑ เดือน ก่อนจึงจะไป   แต่ท้าวสักกะไม่ยินยอม เพียงแต่ผ่อนให้เตรียมตัวได้ ๓ วัน  และก่อนที่จะเสด็จไปได้ทรงสำทับว่า  ถ้าพญาชมพูบดีบิดพริ้วไม่ไปตามกำหนด ต้องให้มาตามก็จะเผาเมืองเสียให้ราบ เป็นหน้ากลอง  แล้วก็เสด็จไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

            พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิรมิตพระเวฬุวันวิหาร เป็นพระราชนิเวศน์พร้อมปราสาทกำแพงแก้ว ๗ ชั้น วิจิตรพิสดารเพียบพร้อมด้วยตลาดบก ตลาดน้ำ  งดงามไม่มีนครใดเสมอ  เพื่อต้อนรับพญาชมพูบดีผู้มัวเมาในราชสมบัติ กับทรงให้พระอัครสาวกและพระมหาสาวก นิรมิตกายเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ เข้าเฝ้าประจำอยู่ในตำแหน่ง  ให้พญากาฬนาคราช และนางวิมาลา มเหสีมาจัดตลาดน้ำ ให้ท้าวสักกะเทวราช พร้อมด้วยนางสุธรรมา นางสุจิตรา   นางสุนันทา นางสุชาดา  และพญาครุฑ  มาจัดตลาดเพชรนิลจินดา  ตลาดทอง ตลาดเงิน ตลาดผ้าสรรพาภรณ์  ตลาดอาหาร ตลาดลูกไม้  ตลาดดอกไม้นานาประการ งดงามเป็นระเบียบเรียบร้อย  เป็นที่เจริญตา เจริญใจ ของทุกคนที่ได้เห็น  หาสถานที่ใดงามเสมอเหมือนมิได้
ครั้นถึงวันกำหนดนัดหมาย  พญาชมพูบดี ก็เสด็จขึ้นช้างพระที่นั่ง พร้อมด้วย จตุรงคเสนา ยกพลมาโดยลำดับ ทั้งตั้งพระทัยว่า  ถ้าเห็นว่า มีกำลังพอจะบีบบังคับพระเจ้าราชาธิราชได้  ก็จะจัดการเอาเป็นเมืองขึ้นทันที

            ครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนิรมิต พระวรกายเป็นพระเจ้าราชาธิราช ทรงเครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์ อันวิจิตรงดงาม ขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ เสด็จประทับอยู่ในท่ามกลางมหาอำมาตย์ ราชเสนาบดี ณ ท้องพระโรงรัตนมหาสมาคม  มีพระบัญชา ให้มาฆสามเณร ไปย่นทางเดิน อันมีระยะยาวถึง ๖๐ โยชน์  ที่พญาชมพูบดี เสด็จมาให้สั้นเข้า  เพื่อให้พลันถึงในเวลานี้

            มาฆสามเณรรับพระพุทธบัญชา แล้วก็ออกไปนอกพระวิหาร  ย่นมรรคาให้พญาชมพูบดี พร้อมด้วย พระยา ๑๐๑ กับจตุรงคเสนา  เดินทางมาถึงชานพระนคร ที่นิรมิตแต่เช้า  ครั้นแล้ว จึงแปลงเพศเป็นราชทูต เข้าไปหาพญาชมพูบดีร้องเชิญว่า  บัดนี้พระองค์เสด็จมาถึงพระนครแล้ว ควรจะเสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง แล้วเสด็จดำเนินเข้าพระนครด้วยพระบาท

            เมื่อพญาชมพูบดีขัดขืน ก็แสดงอานุภาพ ฉุดช้างพระที่นั่งให้ล้มลง  พญาชมพูบดีเกรง    เดชานุภาพ   ก็จำใจปฏิบัติตามโดยเสด็จดำเนินมาตาม มาฆสามเณร เข้าพระนคร  ขณะที่เสด็จเข้าพระนคร พอทอดพระเนตรเห็นท้าว จตุโลกบาล คุมทหารพร้อมด้วยศัตราวุธ  รักษาพระนคร ก็เกรงขามพระทัย   ครั้นเสด็จดำเนินเข้าไปผ่านตลาดทั้งหลาย   ทอดพระเนตรเห็นสรรพวัตถุนานาประการ ก็ตลึงแลด้วยความพอพระทัย  เห็นแม่ค้าทั้งหลาย อันมีรูปร่างงาม  ทั้งวิจิตรด้วยสรรพาภรณ์ที่ตกแต่ง   ทั้งวาจาปราศรัยร้องเชิญก็ไพเราะ  ทำให้เพลิดเพลิน มาฆสามเณร ต้องคอยเตือน ให้รีบเสด็จทุกระยะ  จนบรรลุถึงที่ประทับของพระพุทธองค์  ทรงนิรมิตรูปพระโฉมงามดุจท้าวมหาพรหม  ประกอบด้วยพระรัศมีหกประการ  ประทับอยู่บนรัตนบัลลังก์  ในท่ามกลาง   มุขอำมาตย์  ราชเสนาบดี  พร้อมพหลโยธี เฝ้าอยู่ในหน้าที่  มือถือศัตราวุธ อยู่พร้อมสรรพ ก็เกรงกลัวแทบว่า ชีวิต จะออกจากร่าง ทรุดพระองค์ลงนั่ง  แม้อย่างนั้นแล้วก็ไม่ยอมถวายบังคม  ด้วยอำนาจมานะทิฏฐิอันแรงกล้า   เมื่อพระบรมศาสดาทรงให้โอกาสท้าวเธอแสดงฤทธิเดชบรรดามี   พญาชมพูบดี ก็แสดงจักรแก้ววิษสร และฉลองพระบาทแก้ว อันเป็นอาวุธวิเศษ คู่พระกรออกประทุษร้าย พระผู้มีพระภาคเป็นวาระสุดท้าย  โดยหวังจะได้ชัยชนะ   พระผู้มีพระภาคทรงนิรมิตจักรเพชร ทำลายล้างอาวุธวิเศษให้ปราชัย  ให้พญาชมพูบดีสลดใจ ยอมเกรงพระบารมี  ต่อนั้นพระผู้มีพระภาค ก็ตรัสธรรมเทศนา  ชำระอกุศลจิตของพญาชมพูบดี ให้ผ่องใสด้วยอนุปุพพิกถา ให้พญาชมพูบดี มีจิตศรัทธา ในการกุศล ถึงกับยอมมอบกายถวายชีวิตตนในพระศาสนา โดยขอบรรพชาอุปสมบท จึงสมเด็จพระสุคตอนาวรญาณ ก็ทรงคลายทิทธาภิสังขาร  บันดาลพระนคร นิรมิตให้กลับคืนเป็นพระเวฬุวันวิหาร  พระองค์ก็กลายเพศจากพระเจ้าราชาธิราช เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาเหล่ามหาอำมาตย์ ราชเสนาบดีก็กลายเพศเป็นพระสาวกสงฆ์  แวดล้อมองค์พระบรมศาสดา  เหล่าเทพเจ้าตลอดครุฑ นาคาก็พากันกลับคืนทิพยสถาน ต่อนั้น พระศาสดา ก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้พญาชมพูบดีอุปสมบท เป็นพระภิกษุสงฆ์  ทรงจตุปาริสุทธิศีล ในพระพุทธศาสนา

จบตำนานพระพุทธรูป ปางโปรดพญาชมพูบดี แต่เพียงนี้.

 

(( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๒๔๐ - ๒๔๗ )

 

 

ปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting