๕๖. ปางโปรดพกาพรหม

            พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืนทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ พระหัตถ์ทั้งสองประสานอยู่ที่พระเพลา  พระหัตถ์ขวาประทับพระหัตถ์ซ้าย  อยู่ในอาการสร้างสังวรจงกรมอยู่บนเศียรพกาพรหม

            พระพุทธรูปปางนี้ ทำกันพิถีพิถันมาก  คือสร้างเป็นรูปพกาพรหม มี ๘ มือ ถือศัตราวุธครบ ยืนอยู่บนหลังโคอุสภราช มีทีท่าน่ากลัว  แต่มีพระพุทธรูปยืนอยู่บนศีรษะ  บางรูปก็มีพระพุทธรูปติดอยู่เหนือหน้าผาก องค์พระพุทธรูปขนาดเล็กมาก แทบไม่รู้ว่ารูปอะไร  ดูเหมือนว่า  ถ้าไม่มีใครบอกให้รู้มาก่อนเห็นจะรู้ไม่ได้  ความจริงพระพุทธรูปนั้นพอเราแลเห็นเราก็รู้ได้ทันที  เพราะรูปและลักษณะบอกให้เรารู้ชัด  แต่ถ้าดูพระพุทธรูปองค์น้อยๆ อยู่บนศีรษะของท้าวผกาพรหม ที่ทำทีท่าเป็นสง่าน่าเกรงขาม อยู่บนหลังโคอุสภราชเช่นนั้น  คนดูอาจลืมดูพระพุทธรูปองค์เล็กนั้น มัวไปจ้องดูรูปท้าวพกาพรหม เสียอย่างเดียวก็ได้  เลยไม่รู้ว่ารูปอะไร

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับยังป่าสุภวัน  ทรงทราบความปริวิตกของท้าวพกาพรหมว่า  พกาพรหม กำลังจะจมลงในห้วงแห่งสัสสตทิฏฐิ  โดยดำริผิดคิดเห็นไปว่า  สิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยวแท้ ไม่แปรผัน จะเป็นอะไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง  จะอ่อน จะแข็ง จะร้าย  จะดี อย่างไร  ก็ไม่แปรไปเป็นอย่างอื่น  จะแช่มชื่นขมขื่นทุกข์สุกอย่างใดๆ ก็เป็นธรรมดาหาใช่บาปบุญคุณโทษอะไรๆ มานำพาก็หาไม่  เมื่อยู่ในสถานะใดๆ  ก็คงอยู่ในสถานะนั้นๆ ตามภูมิตามชั้นของสัตว์  ขัดแย้งต่อศาสนาปฏิบัติของพระทศพล ที่ตรัสสอนว่า  สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  กรรมดีและกรรมชั่ว ย่อมจะให้ผลสุขและทุกข์ตามสนองตามโอกาส ไม่มีผู้ใดใครจะขัดขืนอำนาจของกรรมได้  ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของกรรม สุดแต่กรรมนั้นจะเป็นธรรมหรือไม่  ตลอดแม้สรรพสิ่งทั้งหลาย  ตั้งแต่สังขารร่างกายเป็นต้น  ย่อมเป็นอนิจจังจลาจล  ผันแปรแตกสลายด้วยสรรพภัยพิบัติ  ไม่มีสิ่งใดในวงวัฏฏ์จะทนทานเที่ยงคงธำรงอยู่  หากไม่มีปัญญาญาณ ก็ไม่สามารถจะหยั่งรู้ได้ถ่องแท้  ดังพกาพราหมที่จมอยู่ในห้วงแห่งกระแสสัสสตทิฏฐิ  จึงทำให้เกิดความดำริไปในทางผิด  คิดไม่ชอบขัดกับมัมมัสสกตาญาณ  สมควรที่พระตถาคตเจ้าจักประทาน พระสัทธรรมโปรดให้ปล่อยทิฏฐิอันเป็นโทษ  ใช่ทางเกษมศานต์  ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยังพรหมโลก  เพื่อประทานธรรมวิโมกข์ ด้วยพระมหากรุณา  แล้วเสด็จพระพุทธลีลา ไปยังวิมาน อันเป็นนิวาสสถานที่อยู่ของพกาพรหม ผู้มีทิฏฐิวิบัติ

            ตํ  ทิสฺวา  เมื่อพกาพรหมได้เห็นพระผู้ทรงสวัสดืสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงวิมาน  ก็มีความชื่นบานเป็นอย่างมาก  ทูลอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคให้เสด็จประทับ ณ พระแท่นที่อันวิจิตรตระการ  ต่อนั้นก็แสดงความโสมนัส เบิกบาน แห่งดวงจิตให้ปรากฏ ที่ได้เห็นพระบรมสุคต ทรงพระกรุณาเสด็จมาถึงนิวาสถาน  แล้วสำแดงออก ซึ่งอหังการ  มมังการ  ด้วยอำนาจทิฏฐิว่า  ข้าแต่พระสัมพุทธะ  ที่พระองค์ตรัสสอนว่า  สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นภัย  เห็นจะผิด  ข้าพระองค์เห็นว่า  ทุกสิ่งจะต้องดำรงคงสภาพอยู่เป็นนิตย์ ไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่จำเป็นต้องแสวงหาธรรมอันใดมาปรุงแต่งให้เกิดสุข  ปลดเปลื้องสรรพุทกข์แต่ประการใด  ถ้าไปคิดเห็นว่า  ทุกข์ ก็เกิดทุกข์  หากคิดว่าสุข ก็มีสุข ไม่เดือดร้อนทุกๆประการ

            ลำดับนั้น  พระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสว่า  ดูกรพกาพรหม  เอย!   ท่านนี้อยู่ในพรหมโลก เสียเคย จึงมองไม่เห็นความทุกข์  เพราะโทษที่อยู่ในความสุขสำราญ ทั้งขาดวิจารญาณ เพ่งพินิจ  จึงทำให้หลงผิดคิดไปว่า  สิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงถาวร  อันความจริงนั้น  ทุกสิ่งจะแน่นอนมั่นคงอยู่ไม่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของเหตุ ทุกสิ่ง ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกรรมเป็นผู้บันดาล

            พกาพรหม ก็โต้แย้งพระศาสดาจารย์ว่า  หามิได้  ด้วยสิ่งทั้งหลายในโลกธาตุย่อมเกิดแต่อำนาจของมหาพรหม ผู้เสกสร้างมาทั้งสิ้น  แม้ฟ้าและดิน ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์ และดวงดาว  ที่สุดความร้อนความหนาว  ลม ฝน ทุกประการ  ล้วนแต่มหาพรหมบันดาลให้เกิดมี  ทุกสิ่งในโลกนี้หมาพรหม ย่อมรู้แจ้งจบ  สิ่งใดๆ ที่มหาพรหมจับไม่พบ  ไม่เห็น ไม่รู้มิได้มี  แม้สิ่งนั้น จะอยู่ในพื้นปฐพีหรือท้องทะเลเวหาส  มหาพรหมก็สามารถรู้เห็นไม่มีใครจะคิดทำซ่อนเร้น ให้ลี้ลับถึงกับมหาพรหมจับไม่ได้

            ครั้งนั้น สมเด็จพระจอมไตร ใคร่จะทรมานพกาพรหม ผู้มีจิตอหังการ ด้วยทิฏฐิวับัติให้สำนึกว่า ตนเองยังเป็นสัตว์ที่เวียนว่ายในสงสาร  ยังมีน้ำใจเป็นพาลด้วยคิดผิด  เพียงแต่เรื่องฤทธิ์ในโลกก็โอหังฮึกเหิมว่า ตนรู้แจ้งจบสรรพวิชา  จึงมีพระพุทธฏีกาตรัสว่า  ดูกรพกาพรหม!  ถ้าท่านยังยืนยันว่าท่านเป็นผู้อุดมสยัมภูญาณ ยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหมด  ท่านจงสำแดงฤทธิ์ให้ปรากฏโดยอันตรธานกายหายไปจากที่นี้  ไปซุกซ่อนอยู่ในที่ซึ่งตถาคตไม่สามารถจะรู้เห็นได้เมื่อใด  เมื่อนั้นตถาคตจึงจะยอมให้ว่าท่านเป็นสยัมภูผู้ใหญ่ในบัดนี้

            ความจริง พกาพรหม ปรารถนาจะสำแดงอิทธิหาฏิหารย์ของตนให้ประจักษ์แก่พระสัมพุทธเจ้า และบรรดาพรหมทั้งหลายอยู่แล้ว  ดังนั้นเมื่อได้โอกาส ก็สำแดงอานุภาพกำบังกายหายไปจากที่นั่น  แต่ก็ไม่พ้นพระพุทธญาณหยั่งรู้ได้  ไม่ว่าจะไปซุกซ่อนในที่ใดพระพุทธเจ้าก็ทรงทราบและตรัสบอกได้ ที่สุดแม้พกาพรหม จะนิรมิตกายให้ละเอียด ไปซ่อนเร้นอยู่ในเมล็ดทรายในท้องทะเลลึก  โดยนึกว่าพระพุทธเจ้าไม่หยั่งรู้  แต่สมเด็จพระบรมครู ก็ทรงรู้ได้ ตรัสบอกว่า ขณะนี้ ท่านไปซ๋อนอยู่ในเมล็ดทรายนั้นๆ  พกาพรหม ไม่สามารถจะกำบังปัญญาญาณของพรตถาคตเจ้า ได้บังเกิดโทมนัส ขัดใจที่หลบหลี้หนีไม่พ้น  ที่สุดพกาพรหม ก็คืนเข้าไปซ่อนอยู่ในวิมานของตน  เป็นที่อดสูอย่างล้นพ้นแก่บรรดาพรหมทั้งหลาย  แต่แล้วก็ระงับความละอาย ออกมาเฝ้าสมเด็จพระสัมพุทธเจ้าแล้วทูลว่า  ข้าแต่พระสมณะชาวโลกยกย่องท่านว่าเป็นนาถะที่พึ่งด้วยพึงใจ  ถ้าพระองค์จะสามารถอันตรธานกายหายไป  จนข้าพระองค์จะมองเห็นไม่ได้  นั่นแหละ ข้าพระองค์ จึงจะสรรเสริญ นับถือว่าพระองค์คือ สัพพัญญูผู้ควรเคารพบูชา

            ถควา  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงทรงทำปาฏิหาริย์อันตรธนพระกายหายไปในที่เฉพาะหน้า แห่งบรรดามหาพรหม  เสด็จประทับอยู่ในท่ามกลางประชุมพรหมสันนิบาต  แต่ไม่มีพรหมองค์ใดจักสามารถเห็นพระองค์ได้  ทั้งทรงแสดงพระธรรมเทศนา  บรรดามหาพรหมทั่วหน้าได้ฟังแต่พระสุรเสียงไพเราะเสนาะโสต  แต่มิได้เห็นพระรูปพระสุคต  พากันสงสัย ประหลาดใจ ตะลึงลาน  เลื่อมใสในพระพุทธปาฏิหาริย์ของพระบรมศาสดา

            ครั้งนั้น  พกาพรหม พยายามใช้กำลังทิพจักษุ และทิพพปัญญาสอดส่อง ค้นคว้าหาพระบามศาสดา ทั่วทุกสถานตลอดโลกธาตุ  ก็ไม่สามารถแลเห็นพระสัมพุทธเจ้าได้ จนใจจนปัญญา  หมดกำลังที่จะค้นคว้าบอกพรหม ทั้งหลายว่า  พระพุทธเจ้าปะทับอยู่ที่ใดได้  ขณะนั้นสมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสเรียกว่า ดูกร พกาพรหม  เราตถาคตกำลังเดินจงกรมอยู่บนเศียรเกล้าของท่านอยู่ในขณะนี้  ตรัสแล้วพระมหามุนีสุคตเจ้า  ก็สำแดงพระกาย ให้ปรากฏแก่มหาพรหมทั้งหลาย ด้วยพระอิริยาบถเสด็จจงกรมอยู่บนเศียรเกล้าของพกาพรหม  พรหมทั้งหลาย ต่างก็ยกกรประนมนมัสการ ชื่นชมอิทธิปาฏิหาริย์ ที่สูงกว่า เทพยดาและพรหมมารทั้งหมด  ทำให้พกาพรหม อัปยศหมดมานะยอมจำนน

            ต่อนั้น สมเด็จพระทศพล ก็เสด็จลงมาประทับนั่งบนพระพุทธอาศน์ แล้วตรัสประภาษกับพกาพรหมว่า ดูกรพกาพรหมเอ๋ย!  ท่านได้ละเลยสมาบัติ เมื่อครั้งเป็นพระดาบส  มาได้รับความสุขสมมโนรถในพรหมโลกเสียนาน  จำเนียตกาลนับได้หลายกัปหลายกัลป์  เมื่อครั้งแรกที่ขึ้นมาบังเกิดอยู่ในชั้นเวหัปพละ แล้วจุติเลื่อนขึ้นมาชั้นสุภกิณหกะ  ถึง ๖๔ กัปป์  ด้วยความชื่นชม ต่อมาได้จุติขึ้นมาอยู่ชั้นอาภัสสรพรหมตลอดการ  พกาพรหมเอ๋ย!   ท่านยังหารู้จักสถานที่บังเกิดครั้งแรกของท่านไม่  จึงเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิไป  น่าสังเวชเพราะท่านไม่มีปัญญาหยั่งเห็นเหตุแห่งสมบัติ และวิบัติที่ตนมีความกำหนัด และเบื่อหน่าย  หมกมุ่นอยู่ในความสุข ทั้งหลายในพรหมโลก  ห่างจากมรรคผลและวิโมกข์ที่เคยมุ่งหมาย  กลับไปเห็นผิดคิดว่า สิ่งทั้งหลาย  เป็นของคงที่ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่มีบาปบุญอันใดมาตกแต่งให้สัตว์มีสุข มีทุกข์  ไม่มีกรรมใดๆ จะมาทำนุกให้เปลี่ยน สถานะผิดจากธรรมของพระอริยะ ที่กล่าวสอน  พกาพรหม เอ๋ย!   แต่ปางก่อนท่านซิ  บังเกิดเป็นมนุษย์ในสกุลพราหมณ์ ภายหลังเห็นโทษในเบญจกาม  แล้วสละออกบวช เป็นดาบส บำเพ็ญพรต ตามฤาษีวิสัย  มีจิตมมั่นอยู่ในสมาบัติภาวนา

            สมัยหนึ่ง ท่านมีศรัทธาสร้างลำธารน้ำ  ปล่อยน้ำเลี้ยงพ่อค้าเกวียน ๕๐๐  ซึ่งอดน้ำใกล้จะถึงแก่ความตาย   ให้ทุกคนดื่มดับกระหายให้สดชื่นยั่งยืนชีวิต  กลับไปโดยสวัสดี  อีกครั้งหนึ่งพวกโจรมาโจมตีปล้นทรัพย์สมบัติของชาวบ้านทั้งหลาย  ใกล้จะถึงความย่อยยับ  ท่านยังกรุณาช่วยขับโจรทั้งหลาย ให้ความปลอดภัย แก่หมู่มนุษย์ด้วยกุศลจิต  อีกครั้งหนึ่งพญานาคกำลังจะฆ่าเหล่าพาณิชย์พ่อค้าเรือสำเภาในทะเลใหญ่  ท่านก็ช่วยกำจัดพญานาคให้หนีไปด้วยเมตตา  ให้บรรดาหมู่พ่อค้าได้รอดตาย รวมเป็นกุศลมากมายที่ท่านได้ทำมา  ดูกรพรพรหม  ท่านอย่าประมาท จงใช้ปรีชาสามารถหยั่งเห็นอำนาจของบุญกรรมและบาปกรรม  ที่ทำให้คนมีฐานะสูงต่ำตามควรแก่เหตุ  จงใช้ปัญญาสังเกต ถึงความไม่จีรัง ยั่งยืนของสมบัติ และความสุขทุกสถาน  แม้แต่อารมณ์ของใจก็ไม่ยืนนาน  ล้วเป็นสมุฏฐานที่ตั้งแห่งความไม่สงบสุข  ยังสรรพกิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทมนัส  ซึ่งทำให้จิตห่างจากนิโรธสัจจ์บำบัดเข็ญ พกาพรหมเอ๋ย!   ท่านจงบำเพ็ญอัฏฐางติกมรรค  จำเริญอานุภาพธรรมช่วย พิทักษ์ความสงบจิตใจของท่าน ก็จักแนบสนิทเข้ากับพระนิพพาน  โดยกาลไม่นานนี้แล

            ในอวสานกาล เป็นที่จบลง แห่งพระธรรมเทศนา  พกาพรหม ก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล  แล้วน้อมศิโรราบกราบพระบาทยุคล โดยคารวะ เป็นอันดี  มอบตนเป้นสาวกของพระชินศรี  ศาสดาจารย์ พรหมทั้งหลาย  พราหมณ์ทั้งหลายก็พากันแซ่ซ้องสาธุการว่า  สมเด็จพระพิชิตมาร ทรงชำนะพกาพรหม  ด้วยธรรมอุดมญาณ วิเศษ  จัดเป็นมงคลอุดมเดช ของพระบรมศาสดา

จบตำนานพระพุทธรุปปางโปรกพกาพรหม แต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๒๘๓-๒๘๙ )

 

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting