๕๘. ปางพิจารณาชราธรรม

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถ นั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่ที่พระชานุทั้งสอง

 

 

พระพุทธรุปปางนี้  มีตำนานดังนี้

            จำเดิมแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้แล้ว  แสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนา  โปรดพระปัญจวัคคีย์ภิกขุทั้ง ๕  ให้พระโกณฑัญญะบรรลุอริยมรรคอริยผล  เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา แล้วต่อนั้นก็แสดงธรรมประกาศพระธรรมเทศนาให้แพร่หลาย  ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ให้มั่นคง  ทำพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ให้ดำรงอยู่ในอริยธรรม  แสดงธรรมให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชุมชนเป็นอันมาก  เสด็จพระพุทธดำเนินไปสั่งสอนเวไนยนิกร  ในคามนิคมชนบทราชธานีต่างๆ  มีนครราขคฤห์ในมคธรัฐเป็นต้น ประดิษฐานสังฆมณฑล ให้เจริญร่งเรือง เป็นหลักฐาน ประมาณได้ ๔๔ พรรรษา

            ในพรรษาที่ ๔๕  อันเป็นพรรษาที่สุดท้ายแห่งพระชนมายุ  ได้เสด็จจำพรรษา ณ บ้าน  เวฬุวคาม   ในเขตเมืองไพศาลี  ครั้นภายในพรรษากาลพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประชวรหนัก  เกิดทุกขเวทนา ใกล้มรณชนม์พินาศ แต่พระองค์ทรงดำรงพระสติสัมปชัญญะมั่นคง  ทุกขเวทนาที่กล้าแข็งนั้นไม่เบียดเบียนให้อาดูร เดือดร้อนระส่ำระสาย ได้ทรงอดกลั้นเสียได้ ซึ่งทุกขเวทนา ด้วยอธิวาสนะขันติคุณ  ทรงเห็นว่า ยังมิควรที่จะปรินิพพานก่อน  จึงทรงประณามขับไล่  บำบัดอาพาธพยาธิทุกข์นั้นให้สงบระงับไป  ด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนา  ครั้นดำรงพระกายเป็นปกติจากชราพาธปราศจากพยาธิทุกข์  มีความสุขตามควรแก่วิสัยแล้ว  วันหนึ่ง เสด็จนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ซึ่งปูลาดอยู่ในร่มเงาพระวิหาร  พระอานนทเถระเจ้า ไปเฝ้าถวายนมัสการยังที่ใกล้

            ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปราศรัย  เรื่องชราธรรมประจำพระกายกะอานนท์เถระว่า  ดูกรอานนท์  บัดนี้เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยเสียแล้ว  ชนมายุกาลของเราถึง ๘๐ ปีเข้านี้แล้ว  กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อมมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่  อันมิใช่สัมภาระเกวียนฉะนั้น

            ดูกรอานนท์  เมื่อใดพระตถาคตเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ  ตั้งจิตสงบมั่นไม่มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ  ดับเวทนาบางเหล่าเสียและหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตตสมาธิ  เมื่อนั้นกายแห่งตถาคตย่อมผ่องใส  มีความผาสุกสบาย

            ดูกรอานนท์  เพราะธรรมคืออนิมิตสมาธิ  มีอานุภาพสามารถทำให้ร่างกายของผู้ที่เข้าถึง  และหยุดอยู่ด้วยสมาธิธรรม นั้นมีความผาสุก  ฉะนั้น  ท่านทั้งหลาย  จงมีตนเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง  มิใช่บุคคลมีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง  คือจงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด  ครั้นตรัสดังนี้แล้ว  ได้ทรงแดงธรรมในข้อว่า มีตนเป็นที่พึ่ง  ด้วยสามารถประกอบตนไว้ในสติปัฏฐาน ๔  ทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ในเอกายนะมรรค  คือสติปัฏฐานภาวนา  และปกิณณกะเทศนาธรรม  สมควรแก่อุปนิสัยเสด็จสำราญพระกายบำเพ็ญพุทธกิจ ณ บ้านเวฬุคามนั้นจนกาลล่วงไปถึงเดือนที่ ๓  แห่งเหมันตฤดู

จบตำนานพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรมแต่เพียงนี้

 

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๒๙๙-๓๐๑)

 

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting