๒๒. ปางภัตตกิจ

 

 

            พระพุทธรุปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร ซึ่งวางอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ขวาหย่อนลงในบาตร เป็นกิริยาเสวย

 

พระพุทธรูปปางนี้  มีตำนานดังนี้

            สมัยนั้น มีมาณพคนหนึ่ง่ชื่อ ยสะ  เป็นบุตรเศรษฐีในเมือง พาราณสี  บิดามารดา รักใคร่มาก ปลูกเรือนให้ ๓ ฤดู  บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคม  ไม่มีบุรุษเจือปน  ค่ำวันหนึ่ง  ยสะมาณพ นอนหลับก่อน  นางบริวารหลับต่อภายหลัง  แสงไฟยังตามสว่างอยู่  ยสะมาณพตื่นขึ้น  เห็นนางบริวารนอนหลับ  มีอากับกิริยาพิกลต่างๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนเห็นซากศพในป่าช้า  และเห็นแล้วเกิดความสลดใจ  เบื่อหน่ายมาก ถึงแก่ออกอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”  ทนดูต่อไปไม่ได้รำคาญใจ จึงสวมรองเท้าพาร่างออกไปให้พ้นจากประตูเรือนไป  เดินทางไปอย่างไม่มีจุดหมายปล่อยให้เท้าพาร่างออกไปให้พ้นจากอารมณ์ ที่ไปม่ประสงค์ เดินเรื่อยไปจนออกประตูเมือง  ตรงไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โดยไม่รู้สึกว่าถึงไหน  เพียงแต่รู้สึกว่า สบายใจ  ก็เดินเรื่อยไป  จะจัดว่าเป็นวาสนาบารมีของท่าน พาไปก็ชอบ

            ในเวลานั้น จวนเวลาจะใกล้รุ่ง  พระศาสดา เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียง      ยสมาณพ ออกอุทานเช่นนั้น  เดินมายังที่ใกล้  จึงตรัสเรียกยสมาณพว่า  “ยสะ  ที่นี่ไม่วุ่นวาย  ที่นี่ไม่ขัดข้อง  มานี่เถิด  เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”  ยสมาณพ ได้ยินเช่นนั้นก็พอใจ  จึงถอดรองเท้าเสีย  เข้าไปใกล้ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง  พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา         ฟอก จิตตสมาณพ ให้ปราศจากมลทินแล้ว  ทรงแสดงอิริยสัจจ์ ๔ เมื่อจบเทศนาแล้ว  ยสมาณพ ได้บรรลุโสดาปัตติผล

            ฝ่ายมารดายสมาณพ  ขึ้นไปบนเรือนไม่เห็นลูกชาย  ร้องไห้ บอกให้เศรษฐีผู้สามี ให้ทราบว่า  ลูกหาย  ท่านเศรษฐีใช้ให้คนออกติดตามทั้ง ๔ ทิศ แม้ตนเองก็ออกเที่ยวหาด้วย  เผอิญเดินไปทาง ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห้นรองเท้าพระยสะ จำได้  จึงตามลูกชายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
            พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพพกถาและอริยสัจจ์ ๔ โปรดท่านเศรษฐี  เช่นเดียวกับโปรด ยสมาณพ  เมื่อจบเทศนา  ท่านเศรษฐีได้บรรลุโสดาปติผล  แสดงตนเป็นอุบาสก  ถึงพระรัตรนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต  เป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัย คนแรกในโลก  ส่วนยสมาณพ ได้ฟังอนุปุพพิกถา กับอริยสัจจ์ ๔ ซ้ำอีกครั้ง  ได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา
            ขณะนั้นเศรษฐีผู้บิดา  ไม่ทราบว่า ยสมาณพ เป็นพระอรหันต์จึงกล่าวว่า  ยสะมารดาของเจ้า กำลังร่ำไห้รำพันถึงเจ้าอยู่  เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด  ยสมาณพ ยกสายตาที่ทอดอยู่ ในเบื้องต่ำขึ้นมองดูพระบรมศาสดา  ลำดับนั้น  พระบรมศาสดา จึงตรัสกะเศรษฐีว่า  ดูก่รท่านเศรษฐี บัดนี้  ยสะ ได้ทรงอรหัตตคุณแล้ว  หาควรที่จะไปครองเรือนต่อไปไม่
            ท่านเศรษฐีจึงกราบทูลว่า  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เป็นลาภอันเประเสริฐของยสะแล้วพระเจ้าข้า  แล้วทูลอาราธนาว่า ขอพระผู้มีพระภาคและยสะ  ไปรับบิณฑบาตในเรือนของข้าพระองค์ในเช้าวันนี้เถิด  ครั้นท่านเศรษฐีทราบว่า พระผู้มีพระภาค ทราบรับอารธนาแล้ว  ก็ถวายบังคมลากลับไปเรือน  แจ้งเรื่องทั้งหมดให้ภรรยาและสะใภ้ทราบ พร้อมกับให้จัดอาหารเช้า เพื่อถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย

            เมื่อเศรษฐีทูลลาพระผู้มีพระภาคกลับไปแล้ว  ยสมาณพ จึงกราบทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้อุปสมบทว่า “เอหิ  ภิกขุ  ท่านจงเป็นภิกษุมเถิด  ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” เช่นเดียวกับประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ แต่ในที่นี้ไม่ตรัสว่า “ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ”  เพราพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์  คือเป็นพระอรหันต์เสียก่อนแล้ว  สมัยนั้น  มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น ๗ องค์  ทั้งพระยสะ
            ในเวลาเช้าวันนั้น  พระศาสดากับพระยสะตามเสด็จ  เสด็จไปเรือนเศรษฐี  มารดาและภรรยาของพระยสะ เข้าไปเฝ้า  พระองค์ทรงแสดงธรรม อนุปุพพิกถา และอริยสจจ์ ๔ โปรด  ให้สตรีทั้งสองบรรลุพระโสดาบันปัตติผล  สตรีทั้งสองแสดงตนเป็นอุบาสิกา  ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต  สตรีทั้งสองเป็นอุบาสิกาคนแรกในโลก  ครั้นถึงเวลา  มารดาบิดาและภรรยาของพระยสะ น้อมอาหารอันประณีตเข้าไปถวายโดยเคารพด้วยมือของตน  พระศาสดาทรงรับด้วยบาตร  แล้วทรงทำภุตตากิจ  ฉันอาหารบิณฑบาต นั้นแล้วตรัสพระธรรมเทศนา สั่งสอนชนทั้ง ๓ นั้น  ให้อาจหาญรื่นเริงในธรรม แล้วเสด็จกลับยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

            พระพุทธจริยาที่ทรงทำภัตตกิจ ฉันอาหารบิณฑบาตครั้งนี้  เป็นภุตตากิจที่ทรงทำครั้งแรกในบ้าน  เป็นนิมิตมงคลอันดีสำหรับผู้นับถือพระศาสนา  ที่พอใจในการบำเพ็ญทานทั่วไป  ทั้งเป็นแบบอย่างให้มีการทำบุญเลี้ยงพระ  ฟังเทศน์ในบ้านสืบมาจนบัดนี้  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ปางนี้ เรียกว่า  “ปางภัตตกิจ”  หรือ “ ปางภุตตากิจ”

            จบตำนานพระพุทธรูปปางภัตตกิจ แต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๘๓-๘๖ )

 

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting