๖๖. ปางปรินิพพาน

            พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย  พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกายเบื้องซ้าย  พระหัตถ์ขวาหงาย วางอยู่ที่พื้นข้างพระเขนย  พระบาททั้งสองตั้งซ้อนกัน

 

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคโปรดสุภัททะปริพพาชก ให้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าอันเป็นปัจฉิมสาวกแล้ว  ต่อนั้นพระอานนท์เถระ ได้ทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์คราวเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์ เป็นผู้ว่ายาก  ไม่รับโอวาทใครๆ แม้จะกรุณาเตือน เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จักเป็นผู้ว่ายากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผู้ยำเกรงมิได้  ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติแก่ท่านอย่างไร  ในกาลเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว”

            “อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะเถิด”
            “พรหมทัณฑ์ เป็นไฉนเล่า พระเจ้าข้า”
            “อานนท์ การลงพรหมทัณฑ์นั้น คือ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท  ไม่พึงสั่งสอนเลย  ไม่พึงเจรจาคำใดๆด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำอันเป็นกิจธุระโดยเฉพาะอานนท์  เมื่อฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้ว จักสำนึกในความผิด  และสำเหนียกในธรรมวินัย  เป็นผู้ว่าง่าย  ยอมรับในโอวาทปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล”

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “อานนท์  เมื่อตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว  หากจะพึงมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บัดนี้ ศาสดาของเราไม่มี อานนท์  ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริเช่นนั้น  ไม่ควรเห็นอย่างนั้น  แท้จริง วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี ธรรมทีเราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี  เมื่อเราล่วงไป  ธรรมและวินัยนั้นๆแล จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย  แล้วประทานโอวาทครั้งสุดท้ายว่า :-
            “ ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย  จงบำเพ็ญไตรสิกขา  คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสประทานโอวาทเป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านนี้แล้ว ก็หยุดมิได้ตรัสอะไรอีกเลย  ทรงทำปรินิพพาน บริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมเป็นลำดับ ดังนี้ :-
                                    ทรงเข้าปฐมฌาน                        ออกจากปฐมฌานแล้ว
                                    ทรงเข้าทุติยฌาน                        ออกจากทุติยฌานแล้ว
                                    ทรงเข้าตติยฌาน                        ออกจากตติยฌานแล้ว
                                    ทรงเข้าจตุตถฌาน                      ออกจากจตุตถฌานแล้ว
                                    ทรงเข้าอากาสานัญจายนะ           ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
                                    ทรงเข้าวิญญณัญจายตนะ           ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
                                    ทรงเข้าอากิญจัญญาตนะ            ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
                                    ทรงเข้าเนวสัญญนาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
                                    ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ           สมามัติที่ ๙

            สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัตินี้  มีอาการสงบที่สุด  ถึงดับสัญญาและเวทนา  ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ  แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุด  สงบนิ่งกว่านอนหลับ  ผู้ไม่คุ้นเคยกับสมาบัตินี้อาจคิดเห็นไปว่านิพพานแล้ว ดังนั้น พระอานนท์เถระเจ้า ผู้นั่งเฝ้าดูพระอาการอยู่ตลอดทุกระยะ  ได้เกิดวิตกจิต คิดว่า พระบรมศาสดาคงจะเสด็จปรินิพพานแล้ จึงเรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้า ผู้เชี่ยวชาญในสมาบัตินี้ว่า “ ข้าแต่ท่านอนุรุทธ  พระบรมศาสดาเสด็จนิพพานหรือยัง”
            “ยัง ท่านอานนท์”  พระอนุรุทธบอก  “ขณะนี้พระบรมศาสดา กำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
           
            ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  ตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดแล้ว  ก็เสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ  ถอยออกจากสมาบัตินั้น  โดยปฏิโลมตามลำดับ จนถึงปฐมฌาน  ต่อนั้น  ก็ออกจากปฐมฌาน  แล้วทรงเข้าทุตยฌาน  อีกวาระหนึ่ง

            ออกจากทุติยฌานแล้ว                 ทรงเข้าตติยฌาน
            ออกจากตติยฌานแล้ว                 ทรงเข้าจตุตถฌาน

            เมื่อออกจาก จตุตถฌานแล้ว  ก็เสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปุรณมี  เพ็ญเดือน ๖ มหามงคลสมัยด้วยประการฉะนี้

            ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว  ก็บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหว  กลองทิพย์ก็บันลือลั่น  กึกก้องสัททสำเนียงเสียงสนั่นในนภากาศ เป็นมหาโกลาหล  ในปัจฉิมยามพร้อมกับขณะเวลานิพพาน ของสมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถะของโลก
            ขณะนั้น  ท้าวสหัมบดีพรหม  ท้าวโกสีย์สักกเทวราช  พระอนุรุทธเถระเจ้า  และพระอานนท์เถระเจ้า ได้กล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณ  ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แสดงความไม่เที่ยงถาวรของสัตว์สังขารทั่วไป  ด้วยความเลื่อมใสและความสลดใจ  ในการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้เป็นพระบรมศาสดาของมวลเทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย

            ขณะนั้น  บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง  ทีประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศก  ร่ำไร  รำพัน  ปริเวทนาการ  คร่ำครวญถึงพระสัมพุทธเจ้า  เป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก  พระอนุรุทธเถระเจ้า  และพระอานนท์เถระเจ้า  ได้แสดงธรรมีกถาปลุกปลอบ  บรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศก  ตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา

            จบตำนานพระพุทธรุปปางปรินิพพาน จบปางที่คำรบสุดท้าย  แต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๓๓๕ - ๓๓๙)

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting