ปางปัจจเวกขณ์

            พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในอิริยาบถนั่ง่ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร ที่วางอยู่บน พระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ทอดพระเนตรลงต่ำ

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

เมื่อพระสิทธัตถะ บรมโพธิสสัตว์ ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตแล้ว จึงดำรัสสั่งนายฉันนะ อำมาตย์ว่า เธอจงเป็นธุระนำอาภรณ์ของฉันกลับเข้ายังกรุงกบิลพัสดุ์ กราบทูลพระชนกและราชมาตุจฉาขัตติยสกุล ให้ทรงทราบเหตุทุกประการ อย่าให้ทรงทุกข์โทมนัสถึงฉันเลย  จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด เมื่อฉันได้บรรลุพระสัพัญญุตญาณแล้ว จึงจะไปเฝ้า จงกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้
นายฉันนะ อำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท มิอาจกลั่นโศกาอาดูรได้ ด้วยมิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นที่ยิ่ง  ทั้งรู้สึกว่าเป็นโทษหนัก  ที่ทอดทิ้งพระสิทธัตถะไว้พระองค์เดียว แต่ก็มิอาจจะขัดกระแสรับสั่งได้ จำต้องจากพระองค์ไปด้วยความสลดใจ สุดจะประมาณ นำเครื่องอาภรณ์ของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า พร้อมกับม้ากัณฐกะ กลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปได้ชั่วสุดสายดาเท่านั้น ม้ากัณฐกะก็ล้มลงขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระบรมโพธิสัตว์เจ้าสุดกำลัง
เมื่อนายฉันนะกลับถึงพระนครแล้ว ก็แจ้งข่าวแก่ชาวเมืองที่ตามมามุงถามข่าว  และอำมาตย์ผู้ใหญ่  ตลอดจนเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะ ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระบรมโพธิสัตว์ และกราบทูลความตามที่พระบรมโพธิสัตว์ทรงสั่งมาทุกประการ
ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา  พระนางพิมพา  ตลอดขัตติยวงศ์ราช ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้ พระสัมโพธิญาณของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า สืบไป ตามคำพยากรณ์ของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น
ส่วนพระบรมโพธิสัตว์เจ้า หลังแต่ทรงบรรพชาเพศแล้ว เสวยบรรพชาสุข อยู่ ณ ป่าไม้มะม่วง ตำบลหนึ่ง มีนามว่า  อนุปิยอัมพวัน   เว้นเสวยพระกระยาหาร ถึง ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๘ จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ในกรุงราชถฤห์  โดยกิริยาสงบ  อยู่ในอาการสังวร ควรแก่ภาวะสมณะเป็นที่ตั้ง แห่งความเลื่อมใสของทุกคน ที่ได้เห็น  เมื่อได้อาหารภัตรพอควรแก่ยาปนะมัตแล้ว ก็เสด็จกลับ  โดยทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไป  ตรงไปยังมัณฑวะบรรพต  อันมีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็น ควรแก่สมณวิสัย  ประทับนนั่งแล้วทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตร ทอดพระเนตรเห็นบิณฑหารในบาตร ไม่สะอาด ไม่ประณีต  หารสกลิ่นอันจะชวนให้บริโภคสำหรับคนที่อดอาหารมาตั้ง ๗ วัน เช่นกับพระองค์ก็ไม่ได้ เป็นอาหารเลว ที่พระองค์ไม่เคยเสวยมาแต่ก่อน  ก็บังเกิดปฏิกูลน่ารังเกียจเป็นอันมาก  เสวยไม่ได้
ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า   สิทธัตถะเอย  ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ   เคยบริโภคอาหารอันปรุงแต่งด้วยสุคนธชาติโภชนสาลี  ทั้งประกอบด้วยสูปพยัญชนะ  มีรสอันเลิศต่างๆ ไฉน  ท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า  บัดนี้ท่านเป็นบรรพชิตอยู่ในรูปนี้ และเที่ยวขอเขา โดยอาการของสมณะที่นิยมเรียกว่า บิณฑบาต  แล้วอย่างไร ท่านจะได้อาหารอันสะอาด ประณีต มาแต่ที่ใดเล่า  สิทธัตถะ  บัดนี้  ท่านควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้  ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็ทรงมนสิการ พิจารณาอหารบิณฑบาต  ด้วยธาตุปัจจเวกข์  และปฏิกูลปัจจเวกข์  ด้วยพระปรีชาญาณว่า   ยถา  ปจฺจยัง  ปวตฺตมานํ  ธาตุมตฺตเมเวตํ   เป็นอาทิ  ด้วยพระสติดำรงมั่นความว่า  สรรพสิ่งทั้งหมด  ย่อมเป็นไปตามปัจจัยที่ปรุงแต่ง่ขึ้น   ถึงอาหารบิณฑบาตนี้ ความจริงก็สักแต่ว่าเป็นธาตุ  จะต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น  เช่นเดียวกันเป็นต้น  แล้วทรงเสวยอาหารบิณฑบาตนั้น โดยปราศจากความรังเกียจ  ดุจเทพเจ้าดื่มอมฤตรส  และทรงกำหนดในพระทัยว่า  ตั้งแต่ทรงผนวชมาได้ ๘ วัน  เพิ่งได้เสวยภัตตาหารวันนี้.

                                   จบตำนานพระพุทธรูปปางปัจจะเวกข์ แต่เพียงนี้

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ) 
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า ๑๒-๑๕ )

 

ไปหน้าสารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting