๕๑. ปางป่าเลไลยก์

            พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งบนก้อนศิลา ห้อยพระบาททั้งสอง ทอดพระบาทน้อยๆ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ  พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุ  เป็นกิริยาทรงรับ นิยมเรียกว่า “พระป่าเลไลยก์”

            พระพุทธรูปปางนี้ นิยมสร้างเป็นพระบูชาสำหรับคนเกิดวันพุธกลางคืน นับเข้าในเวลาพระราหูตามพิธีทักษา  แม้คนที่มีอายุเข้าในเกณฑ์ดวงชะตาพระราหูเสวยอายุ  ก็นิยมบูชาพระปางนี้ ถือเป็นพระประจำเทวดานพเคราะห์

            พระปางป่าเลไลยก์นี้ เฉพาะที่เป็นพระขนาดใหญ่  ดูจะหาชมยาก เห็นมีอยู่องค์หนึ่ง ในพระวิหาร วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี  สูงถึง ๑๑ วา เป็นพระงามมากองค์หนึ่ง ทั้งยังบริบูรณ์ดีอยู่  เป็นพระสมัยอยุธยา  อยู่ใกล้ทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี  ผู้มีใจเป็นกุศลผ่านไปน่าจะแวะเข้านมัสการ

            ความจริง พระปางนี้ คนที่สร้างขึ้นไว้สำหรับบูชา ส่วนมากนิยมสร้างช้างป่าเลไลยก์ และลิงร่วมอยู่ด้วย  โดยเหตุที่พระพุทธรูปปางนี้ จะได้นามว่าพระปางป่าเลไลยก์ ก็เพราะช้างป่าเลไลยก์เชือกนี้ ดังนั้น  จึงมีธรรมเนียมให้สร้างช้างหมอบถวายกระบอกน้ำอยู่แทบพระบาท  และลิง นั่งถวายรวงผึ้งเป็นนิมิต

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            ครั้งหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ทีโฆสิตาราม  ในเมืองโกสัมพี  ทรงพระปรารภถึงพระภิกษุมากรูปด้วยกัน  เป็นผู้ว่ายาก, วิวาทกัน ไม่อยู่ในพระโอวาท  ประพฤติตามใจตัว ด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ  ทรงพร่ำสอนด้วยประการต่างๆ แม้อย่างนั้นแล้ว  พระพวกนั้นก็ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เคารพในพระโอวาท
ยังวิวาทกัน  เป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่สามัคคีกัน

            พระบรมศาสดา  ยังได้ทรงแสดงผลดีของการเคารพเชื่อฟังในพระโอวาท  โดยทรงเล่าเรื่องทีฆาวุกุมาร ประทานเป็นตัวอย่าง โดยพิสดารแล้ว ทรงประทานโสภณธรรม  คือธรรมที่ทำให้งาม ๒ ประการ คือ ขันติ ความอดกลั้น, และ โสรัจจะ  ความเสงี่ยมเจียมตัว  พร้อมกับทรงเตือนซ้ำอีกว่า  พวกเธอก็บวชในพระธรรมวินัยที่ตถาคตได้กล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว ก็ชอบที่จะเป็นคนอดทน , ประพฤติตามคำสอน, และเสงี่ยมเจียมตนอยู่ในโอวาท จะได้เป็นผู้งามในธรรมวินัยนี้   แม้พระบรมศาสดาจะได้ทรงพระกรุณาพร่ำสอน ถึงอย่างนี้แล้ว  ก็ไม่สามารถจะทำให้สงฆ์สองพวกนั้นปรองดองดีกันได้ดี

            นี้แหละสมกับคำที่นักปราชญ์กล่าวว่า  คนตามืดยังพอสอน  คนใจมืดแล้วสอนไม่ได้ เพราะคนที่ใจมืดด้วย โมหะ, มานะ, ทิฏฐินั้น ไม่ยอมรับโอวาท  คนอย่างนี้ ไม่มีใครสอนได้  ดูเถิด แม้แต่พระพุทธเจ้า ประทับสอนอยู่ตรงหน้า  เขาก็มองไม่เห็น, ฟังไม่ออก, นรกเท่านั้น ที่จะเตือนเขาให้สำนึกผิด

            ต่อมาพระบรมศาสดา ทรงดำริว่า การอยู่ร่วมด้วยพระดื้อด้านพวกนี้ลำบาก  มีพระประสงค์จะเสด็จหลีกไปอยู่ลำพังพระองค์เดียว จึงได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ไม่ทรงแจ้งให้พระภิกษุสงฆ็ทราบ  ทรงบาตรจีวร ของพระองค์เองโดยลำพัง  เสด็จไปยังพาลกโลณการาม  ทรงแดงเอจาริกวัตร(ระเบียบของการจาริกไปคนเดียว)  แก่พระภคุเถระ ในที่นั้น  จากอารามนั้นแล้ว เสด็จไปแวะที่ปราจีน วังสะมฤคทายวัน  ตรัสอานิสงส์สามัคคีรสประทานแก่กุลบุตร ๓ คน แล้วเสด็จเข้าไปประทับทีร่มไม้ภัทระสาละพฤกษ์ ในราวไพรรักขิตวัน  โดยปาสุกวิหาร

            สมัยนั้น  มีพญาช้างเชือกหนึ่ง ชื่อปาลิไลยกะ เป็นเจ้าแห่งโขลงช้างใหญ่ เกิดเบื่อหน่ายบริวารช้างทั้งหลาย คิดว่า  อยู่ร่วมด้วยบริวารช้างเหล่านี้เป็นและลูกช้าง  ก็แย่งกันหักยอดไม้กินเสียหมด  คราวลงสู่บึงน้ำใส ช้างเหล่านี้ ก็พากันลงทำให้น้ำขุ่น  ต้องกินน้ำขุ่น  ต้องเบียดเสียดกับช้างทั้งหลาย ไม่มีความสะดวกสบาย  มีความประสงค์อยากอยู่โดดเดี่ยว โดยลำพัง  ครั้นเวลากลางคืน เมื่อช้างทั้งหลายหลับแล้ว  พญาช้างปาลิไลยกะ  ได้หนีออกจากโขลงแต่เชือกเดียว  หาความสุขโดยลำพัง  ครั้นเดินเที่ยวมาในป่าชักป่าใหญ่ ถึงที่ประทับของพระผู้มีพระภาค  มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค  นับแต่แรกที่ได้มองเห็นแต่ไกล  จึงเดินเข้ามาใกล้หมอบถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ด้วยเคารพรัก พร้อมกับมอบกายถวายชีวิต รับเป็นภาระอยู่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ตลอดเวลา  เริ่มต้นตั้งแต่หักกิ่งไม้มาปัดกวาดบริเวณนั้นให้สะอาด  ถอนทิ้งต้นหญ้าและไม้เล็กไม้น้อย ในบริเวณให้เตียน  ไปตักน้ำใช้น้ำฉันมาถวายให้พระผู้มีพระภาค  ได้สรงได้เสวย ตามพระพุทธประสงค์ อย่างสะดวกสบาย จัดหาผลไม้สุกในป่า เช่นกล้วยและขนุนมาถวาย เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตในเวลาเช้า  ก็เอาบาตรตามไปส่งพระพุทธเจ้า แทบประตูป่า  และรออยู่จนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ  รับบาตรจากพระหัตถ์ ตามพระพุทธเจ้ามาจนถึงที่ประทับ ปฏิบัติบำรุงพระพุทธเจ้า ตามวิสัยของตนเป็นอย่างดีทุกประการ ครั้นเสร็จกิจปฏิบัติประจำวันแล้ว  ก็หักกิ่งไม้ท่อนหนึ่ง มาเป็นอาวุธ คอยพิทักษ์ รักษามิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกลายตลอดเวลา

            พระผู้มีพระภาค  เสด็จประทับอยู่ด้วยความสงบสุข  โดยอาศัยพญาช้างปาลิไลยกะบำรุงรักษา  เพราะเหตุนี้  ชัฏป่านี้ จึงได้นามว่า “รักขิตวัน” ตั้งแต่นั้นมา

            วันหนึ่ง  พญาลิงตัวหนึ่ง เที่ยวมาตามยอดไม้โดยลำพัง  และเห็นพญาช้างทำงาน  ปฏิบัติพระพุทธเจ้า ด้วยความเคารพเป็นอย่างดีเช่นนั้น  ก็พอใจ  เกิดมีกุศลจิตคิดจะเข้าไปปฏิบัติพระพุทธเจ้าบ้าง  เฝ้านั่งมองดูอยู่ว่าเราควรจะทำอะไรดี  ทันใดนั้นเอง มองเห็นรวงผึ้งจับอยุ่บนปลายไม้  มีน้ำผึ้งรวงเต็มอยู่  ก็ดีใจ คิดว่าน้ำผึ้งรวงนี้ มนุษย์ชอบกินกัน  ด้วยเคยเห็นพรานป่า พยายามขึ้นต้นไม้ หักเอารวงผึ้งชนิดนี้ ไปเสมอๆ เราควรจะเอารวงผึ้งนี้แหละ ไปถวายพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา  แล้วนั่งเฝ้ามองดูอยู่ว่า  พระพุทธเจ้าจะทรงพระกรุณาเสวยหรือไม่  ครั้นเห็นพระพุทธเจ้าเสวยน้ำผึ้งรวงจากรวงผึ้งที่ตนน้อมถวาย  ก็มีความยินดีเบิกบานใจ  กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจว่า  ตนก็มีส่วนได้ทำบุญ ถวายน้ำผึ้งพระพุทธเจ้า  มีความร่าเริงกระโจนจากกิ่งไม้นี้  ไปจับกิ่งไม้โน้น แสดงความยินดี ตามวิสัยสัตว์ ที่ได้ทำบุญสมความประสงค์

            การที่พระศาสดาได้เสด็จประทัยอยู่ในป่ารักขิตวัน  โดยลำพังพระองค์เดียว  อยู่ด้วยการทำนุบำรุง ของพญาช้างปาลิไลยกะนี้ ได้ปรากฏเป็นเรื่องสำคัญ รู้กันทั่วไปในชมพูทวีป

            หลังจากพระผู้มีพระภาค  เสด็จจากโฆสิตาราม  มาประทับอยู่ป่ารักขิตวัน แล้วไม่นาน  อุบาสกอุบาสิกา รวมทั้งคนใจบุญชาวเมืองโกสัมพี เป็นอันมาก  ได้เข้าไปพระวิหารเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ครั้นไม่พบ  และได้สืบถามได้ความดีแล้ว ต่างคนก็ต่างมีความน้อยใจ  พากันตำหนิติเตียน พระพวกนั้นเป็นอย่างมากว่า พวกท่านบวชในสำนักพระศาสดา  เมื่อพระศาสดา ประทานโอวาท แนะนำให้สามัคคีกัน ก็ดื้อ, ไม่อยู่ในพระโอวาท  ร้ายมาก, ทำให้พระองค์ต้องเดือดร้อน  หลบหนีไปอยู่ป่าแต่พระองค์เดียว ให้พวกฉันขาดจากบุญกุศลที่ควรจะได้ถวายบังคมและได้ฟังธรรมจากพระองค์  เพราะพวกท่านเป็นเหตุ  ตั้งแต่นี้ไป พวกฉันจะไม่บำรุงท่าน  จะไม่ต้อนรับ  จะไม่ไหว้ ไม่กราบ  จะไม่ทำดีต่อทุกๆประการ  แล้วต่างก็เพิกเฉย หันหลังให้ภิกษุเหล่านั้น

            เมื่อพระเหล่านั้น ไม่ได้รับการบำรุงจากคนทั้งหลาย  ไม่กี่วันก็ซูบผอม เพราะอดอยากปากแห้ง, หมดแรงดื้อด้าน  เล็งเห็นโทษของการทะเลาะ  โทษของการไม่อยู่ในพระโอวาท  หัวโตเป็นเปรตไปตามๆกัน  ถูกไฟนรกในมนุษย์บีบคั้น สิ้นพยศร้าย  ต่างรูปต่างยอมรับผิด  ยอดอดโทษให้แก่กันและกัน และประพฤติดีต่อกันเป็นปกติ  แล้วพากันเข้าไปหาอุบาสกอุบาสิกา เหล่านั้น สารภาพผิดว่า  ท่านทั้งหลาย  บัดนี้ข้าพเจ้าสามัคคีดีกันแล้ว  ขอท่านทั้งหลาย จงอุปถัมภ์บำรุงอย่างแต่ก่อนเถิด  ก็พระคุณท่านได้ทูลขอให้พระศาสดาทรงอดโทษให้พระองค์ทรงอดโทษให้เสียก่อน  เมื่อพระศาสดา ทรงอดโทษให้แล้ว พวกกระผมจึงจะถวายการอุปถัมภ์บำรุงเช่นเดิม  บังเอิญเวลานั้น ยังอยู่ภายในพรรษา  พระพวกนั้นไม่อาจไปเฝ้าพระศาสดาได้จำต้องอดใจ  ทนต่อการลงโทษของอุบาสกอุบาสิกา ด้วยการให้อดอยากปากแห้ง จนออกพรรษา ด้วยความทุกข์ยากอย่างยิ่ง
            ครั้นออกพรรษาแล้ว บรรดาตระกูลเศรษฐีคฤหบดีใหญ่ๆ ในพระนครสาวัตถี มีท่าน   อนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น ได้ส่งหนังสือมาถวายพระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐากว่า  ขอให้พระอานนท์ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา ให้เสด็จไปพระนคร     สาวัตถีให้ด้วย  แม้ภิกษุตามชนบทต่างๆประมาณ ๕๐๐ รูป ก็พากันเดินทางไปหาพระอานนทเถระ วอนวา  ท่านอานนท์, นานแล้วพวกกระผม ไม่ได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค  ขอท่านได้กรุณาให้พวกกระผมได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรมด้วยเถิด  พระเถระเจ้าได้พาภิกษุเหล่านั้น เดินทาไปยังป่ารักขิตวัน ครั้นถึงป่านั้นกลับคิดได้ว่า  เรายังไม่ควรจะพาภิกษุทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ซึ่งเสด็จประทับอยู่ลำพังพระองค์เดียวก่อนที่ยังมิได้กราบทูลขอประทานโอกาส จึงให้พระทั้งหมดนั้นพักอยู่นอกป่าก่อน  แล้วพระเถระเจ้าได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแต่องค์เดียว  พอช้างปาลิไลยกะแลเห็นพระเถระเจ้า ก็เอื้อมงวงหยิบท่อนไม้วิ่งเข้าใส่ทันที  พระศาสดาทอดพระเนตรเห็น จึงรับสั่งว่า หยุด !  หาลิไลยกะ  อย่าห้ามท่านเลย  ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก  ช้างปาลิไลยกะ วางท่อนไม้ทันที  เดินตรงเข้าไปขอรับบาตรจีวร  พระเถระเจ้าไม่ยอมให้  ช้างปาลิไลยกะคิดว่า  ถ้าท่านรูปนี้มีการศึกษาขนบธรรมเนียมมาดีแล้ว จะต้องไม่วางบริขารของตนลงแผ่นหินทีประทับของพระศาสดา ครั้นเห็นพระเถระเจ้าวางบาตรจีวรของท่าน บนพื้นดินก็มีความเลื่อมใส ถวายความเคารพรักใคร่ในพระเถระเจ้าเป็นอันดี

            พระเถระเจ้าถวายบังคมพระศาสดาแล้ว  นั่งอยู่ในที่อันควรข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์, เธอมารูปเดียวเท่านั้นหรือ มากับพระ ๕๐๐ รูป พระเจ้าข้า  ก็แล้วพระเหล่านั้นอยู่ที่ไหนเล่า  ข้าพระองค์ยังไม่ทราบพระประสงค์ จึงได้ให้ท่านพักรออยู่ข้างนอก พระเจ้าข้า  ให้เขาเข้ามาพบได้ อานนท์  พระเถระเจ้าได้จัดให้เป็นไปตามพระบัญชา ครั้นภิกษุทั้งหลายได้เข้าเฝ้า  ได้รับการปฏิสันถารจากพระศาสดา เป็นอันดีแล้ว  ได้กราบทูลสรรเสริญพระศาสดาว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ  เสด็จประทับอยู่พระองค์เดียว โดยลำพังตลอดไตรมาสอย่างนี้  ทำได้ยากยิ่ง  พระเจ้าข้า  ผู้ถวายการปฏิบัติก็ดี ผู้ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ก็ดี เห็นจะไม่มี พระเจ้าข้า

            พระศาสดารับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ธุรกิจของฉันทุกอย่าง ช้างปาลิไลยกะ เขาช่วยทำให้ ความจริง  การอยู่ร่วมกันควรจะได้เพื่อนเช่นนี้ เมื่อหาเพื่อนเช่นนี้ ไม่ได้เที่ยวไปคนเดียวดีกว่า แล้วทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุเหล่านั้น โดยพระคาถาว่า :-

            ถ้าบุคคลได้สหายที่มีความรู้  รักษาตัวได้ มีปัญญารักจะอยู่ร่วมกับคนดี  เป็นเพื่อนร่วมทางเขาก็ควรจะยินดี  มีสติย่ำยีอันตรายรอบๆข้างทั้งปวงเสีย  แล้วเที่ยวไปกับสหายผู้นั้น  ถ้าหากไม่ได้สหายเช่นนั้น  ก็ควรทำตนดังพระพระรชาที่ทรงละแว่นแคว้นเสด็จเที่ยวไปแต่ลำพังองค์เดียว เหมือนพญาช้างมาตังคะ  เที่ยวไปในป่าโดยลำพังฉะนั้น  การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะคนพาลเป็นสหายไม่ได้ (คนพาลคบใครไม่จริง)  ในรูปการเช่นนี้ ควรจะเที่ยวไปคนเดียว  และไม่ควรกระทำบาป ควรจะเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เหมือนพญาช้างมาตังคะ มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าตามลำพังฉะนั้น.

            ในเวลาจบคาถาธรรมภาษิต  ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น  ได้ดำรงอยู่ในอรหัตตธรรม

            พระอานนทเถระเจ้าได้กราบทูลพระศาสดาว่า  เวลานี้อริยสาวกในนครสาวัตถี ประมาณ ๕ โกฏิ  มีท่านอนาถบิณฑิกะเป็นประมุข  ได้ส่งสาส์น แจ้งว่า  ท่านมีความหวังเป็นอย่างมาก ต่อการเสด็จไปของพระองค์  พระศาสดาทรงรับสั่งว่า  ถ้าเช่นนั้นก็ควรจะไป  อานนท์  เตรียมการไปได้แล้ว  ทันใดนั้น พญาช้างปาลิไลยกะ  ได้เดินเข้าไปขวางทางไว้  ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลถามว่า       ช้างปาลิไลยกะ มีความประสงค์อะไร พระเจ้าข้า  เขามีความหวังจะใคร่ถวายภักษาแก่พวกเธอ  ภิกษุทั้งหลาย, ปาลิไลยกะ ได้อุปการะฉันมาเป็นเวลานาน ไม่ควรจะขัดใจเขา  กลับกันเสียก่อน เถิดภิกษุทั้งหลาย  ครั้นรับสั่งแล้ว ทรงพาพระทั้งหลายกลับเข้าไปประทับยังที่เดิม  ต่อนั้น         ช้างปาไลยลิกะ ก็เข้าป่า รวบรวมผลไม้ต่างๆ มีขนุนและกล้วย เป็นต้น  ขนไปยังที่พัก  ครั้นรุ่งขึ้นได้จัดถวายภิกษุทั้งหมด  ปรากฏว่าหลังจากภิกษุสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว  ผลไม้ยังเหลืออยู่อีกเป็นอันมาก

            ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว  พระศาสดา ก็ทรงนำพระสงฆ์ทั้งหลาย  เสด็จดำเนินออกจากที่นั้น  ช้างปาลิไลยกะ ได้เดินตามพระศาสดา ออกไปพร้อมกับพระสงฆ์ทั้งหลาย  ครั้นเดินไปหน่อย ก็ยืนขวางทางข้างหน้า พระศาสดาอีก ภิกษุทั้งหลายทูลพระศาสดาว่า  ช้างปาลิไลยกะ มีความประสงค์อะไรๆพระเจ้าข้าฯ เขาต้องการจะให้ส่งพวกเธอ ไปแล้ว ขอให้ฉันกลับน่ะซีฯ  ถึงอย่างนั้นเจียวหรือพระเจ้าข้าฯ  ใช่,  เขาไม่ประสงค์จะให้ฉันจากไปฯลำดับนั้น จึงได้ตรัสกับช้างปาลิไลยกะว่า ปาลิไลยกะ, ฉันไปครั้งนี้แล้วจะไม่กลับมาอีก ในชาตินี้เธอจะยังบรรลุฌาน, วิปัสสนา, หรือมรรคผลอะไรๆ ไม่ได้หรอก? ปาลิไลยกะอย่าคิดอะไรให้มากน๊ะ  ช้างปาลิไลยกะ พังพระพุทธเจ้าตรัสแล้ว หลีกทางให้เสด็จไป  ตนเองเอางวงยัดเข้าไปในปาก  ร้องไห้เดินตามหลัง พระศาสดาไป  ความจริงช้างปาลิไลยกะมีความยินดี ที่จะปฏิบัติพระศาสดา ตลอดชีวิตของเขา ด้วยความเคารพ

            ครั้นพระศาสดา เสด็จถึงคามุปจาร (เขตแดนหมู่บ้าน)  นั้น จึงหันพระพักตร์มาปราศรัย ด้วยช้าง ปาลิไลยกะว่า   ปาลิไลยกะ, ตั้งแต่ที่ตรงนี้ไป ไม่ใช่ดินแดนของเธอ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มีอันตราย  ช้างปาลิไลยกะยืนร้องไห้  มองดูพระศาสดาอยู่ ณ ที่นั้น  พอพระศาสดาเสด็จลับสายตาไป ล้างปาลิไลยกะ ก็พลันหัวใจวาย ล้มลงตาย  ณ ที่นั้นทันที  ด้วยกุศลแห่งความเลื่อมใสในพระศาสดา  ปาลิไลยกะ  ก็ได้บังเกิดเป็นเทพเจ้า ในสรวงสวรรค์ มีมีนามว่า             “ปาลิไลยกะเทพบุตร”  ส่วนพระศาสดา เมื่อเสด็จไปโดยลำดับ  ก็ถึงพระเชตะวันวิหาร  ในพระนครสาวัตถี โดยสวัสดี

            เมื่อภิกษุชาวเมืองโกสัมพี พวกนั้น  ทราบข่าวว่า พระศาสดา เสด็จถึงเมือง สาวัตถี แล้วก็ดีใจ  พร้อมกันเดินทางไปเฝ้า  เพื่อขอให้พระองค์ทรงอดโทษให้ ครั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทราบข่าวว่า  พวกภิกษุที่ก่อความแตกร้าว ในโกสัมพี กำลังเดินทางเข้ามาก็เสด็จไปทูลพระผู้มีพระภาคว่า  ข้แต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะไม่ยอมให้พระพวกนั้น  เข้ามายังแว่นแคว้นของหม่อมฉันฯ พระศาสดาตรัสว่า  มหาบพิตร!  พระเหล่านั้นมีศีลเพราะการวิวาทกันอย่างเดียว จึงไม่รับโอวาทของอาตมา  แต่บัดนี้เธอรู้สึกผู้ชอบแล้ว  พากันมาประสงค์จะให้อาตมาอดโทษให้  ขอให้พระเหล่านั้นมาเถิด มหาบพิตร  แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างวัดเชตะวันวิหาร ก็ได้เข้าเฝ้ากราบทูลพระผุ้มีพระภาคเจ้า มิให้พระพวกนั้น เข้าวิหารเช่นเดียวกัน  ครั้นพระผู้มีพระภาค  ทรงชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจดีแล้ว  ก็อนุวัตรตามพระบัญชา

            เมื่อพระชาวเมือง โกสัมพีเหล่านั้น  มาถึงเมืองสาวัตถีแล้ว  พระศาสดา ก็โปรดให้จัดเสนาสนะ ที่สงัดในส่วนข้างหนึ่งให้เป็นที่พัก  บรรดาพระสงฆ์ต่างถิ่นทราบเรื่องนี้เข้าก็ไม่นั่งร่วม  ไม่ยืนร่วมด้วยพระสงฆ์พวกนี้  พระต่างถิ่นที่มาเฝ้าพระศาสดา อีก ก็พากันทูลถามว่า พระพวกไหน  พระเจ้าข้า  ที่ก่อความแตกร้าวกันขึ้นในเมืองโกสัมพี  พระศาสดาตรัสบอกว่า  พวกนี้ แหละภิกษุ  พวกนี้แหละภิกษุ  ตลอดเวลาที่ภิกษุพวกนั้น  ถูกพระศาสดาชี้พระหัตถ์ตรัสบอกว่า เป็นพวกก่อความแตกร้าวอยู่เช่นนั้น  ถูกพระศาสดาชี้พระหัตถ์ตรัสบอกว่า เป็นพวกก่อความแตกร้าวอยู่เช่นนั้น  ได้รับความอัปยศมาก  ไม่อาจยกศีรษะขึ้นมองดูอะไรๆได้  หมอบลงกราบแทบพระยุคลบาท พระบรมศาสดา  ทูลขอให้พระองค์ ทรงพระกรุณาอดโทษให้

            พระศาสดาตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอทำกรรมหนักมาก  พวกเธอบวชในสำนักพระพุทธเจ้าอย่างนั้น  และเมื่อฉันเตือนให้สามัคคีกัน  พวกเธอก็ดื้อไม่ทำตาม  เป็นความผิดหนักมาก  แล้วทรงแสดงอานิสงส์ ของการเป็นผู้ว่าง่าย  การอยู่ในโอวาท  ให้เกิดประโยชน์มาก  ได้ทรงแสดงเรื่องพระเจ้าทีฆาวุ ที่ทรงมั่นอยู่ในพระโอวาทของพระชนก  ภายหลัง ได้เป็นกษัตริย์ ปกครอง ราชสมบัติทั้งสองแว่นแคว้น  แล้วตรัสพระธรรมเทศนาโดยพระคาถาว่า :-

            คนเหล่าอื่น เขาไม่มีความรู้สึกอย่างไร  แต่พวกเรากำลังย่อยยับ, ป่นปี้, เมื่อคนเหล่าใด ในหมู่นั้น  เกิดรู้จริงเห็นแจ้งว่า  พวกเรากำลังวอดวาย  เมื่อนั้น ความทะเลาะกัน  วิวาทกัน  ก็ย่อมสงบลงได้  เพราะการปฏิบัติถูกของคน เหล่านั้น

            ในเวลาจบพระโอวาท  ภิกษุที่ประชุมอยู่ ณ ที่นั้น  ได้ดำรงอยู่ในอริยผล เป็นอันมาก

จบตำนานพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ แต่เพียงนี้

 

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต
( ชอบ อนุจารี มหาเถระ)  จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า ๒๔๘-๒๕๗ )

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting