๖๒. ปางนาคาวโลก

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถบยืน  พระหัตถ์ซ้ายห้อยเยื้องมาข้างหน้า ประทับไว้ที่พระเพลาข้างซ้าย  พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระองค์ตามปกติ  เอี้ยวพระกายผินพระพักตร์เหลียวไปข้างหลัง  เป็นกิริยาทอดพระเนตรพระนครไพศาลี  ผิดปกติเหมือนดูอย่างไว้อาลัย  ด้วยจะเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย  จะไม่ได้เสด็จมาเห็นอีกต่อไปตามสามัญชอบพูดว่า “ดูสั่ง”

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

            วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงพาพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ เสด็จไปเมืองไพศาลี  เสด็จประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลาในป่ามหาวัน  ครั้งนั้น บรรดากษัตริย์ลิจฉวีราชทั้งหมดได้ทราบข่าว  การเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงโสมนัส  พากันเสด็จออกไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  น้อมถวายเครื่องสักการบูชาเป็นอันมาก  พระศาสดาได้ทรงพระกรุณาประทานพระธรรมเทศนา โปรดมวลกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย  ให้เลื่อมใสศรัทธามีความอาจหาญรื่นเริงในธรรมทั่วกัน  เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว  บรรดากษัตริย์ลิจฉวี ได้พร้อมกันอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระสงฆ์ทั้งหมด  ให้เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์ แล้วทูลลากลับ

            ครั้นเช้าวันรุ่งขึ้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ได้เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตของบรรดากษัตริย์ลิจฉวีในพระราชนิเวศน์ ครั้นทรงทำภัตตกิจแล้ว ทรงประทาน       ธรรมานุศาสน์  แก่กษัตริย์ลิจฉวีทั้งปวง โดยควรแก่นิสสัยแล้ว ทรงพาพระภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากพระนคร  เสด็จประทับยืนอยู่หน้าประตูเมืองไพศาลี  เยื้องพระกายผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรเมืองไพศาลี  ประหนึ่งว่าทรงอาลัยเมืองไพศาลีเป็นที่สุด  พร้อมกับรับสั่งว่า “อานนท์ การเห็นเมืองไพศาลีของตถาคตครั้งนี้  เป็นปัจฉิมทัศนะ”  คือการเห็นครั้งสุดท้าย  แล้วเสด็จไปประทับยัง    กุฏาคารศาลา   ในป่ามหาวันอีกสถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรโดยพระอาการแปลกจากเดิม  พร้อมกับรับสั่งเป็นนิมิตเช่นนั้น  เป็นเจดียสถานอันสำคัญเรียกว่า “นาคาวโลกเจดีย์”

            นาคาวโลก แปลว่าดูอย่างช้าง  คือเยื้องพระกายกับเหลียงหลังดู เป็นพระอาการที่ไม่เคยทรงทำมาแต่ก่อน  สถานที่ทรงทำเช่นนั้น  ได้เกิดเป็นสถานที่มีความหมายอันสำคัญ  ถึงกับได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเจดีย์ว่า “นาคาวโลกเจดีย์”  เป็นข้อที่น่าคิด  คือควรจะได้รับการวิจัยว่า เป็นที่สำคัญอย่างไร? เพราะเพียงข้อความในเรื่องของท่านที่ยกขึ้นแสดงไว้  ดูยังมัวไม่เป็นเหตุให้เห็นว่า  เป็นความสำคัญ  ควรแก่การยกย่องถึงเช่นนั้นเลย

            เท่าที่ได้ค้นคว้าหาเหตัอนสำคัญมาพิจารณาดูแล้ว  เห็นพอจะยกขึ้นแสดงได้เป็น ๓ ข้อ ดังนี้

  1. เมืองไพศาลี เป็นเมืองใหญ่ มีพุทธบริษัทมาก พระพุทธเจ้าเสด็จบ่อยครั้ง มีเรื่องเกี่ยวกับการประดิษฐานพระศาสนามาก  การที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า การเห็นเมืองไพศาลีครั้งนี้  เป็นครั้งสุดท้าย  ก็เท่ากับบอกเลิกการเสด็จมาอีกว่า  การเสด็จมาของพระองค์ครั้งนี้  เป็นครั้งที่สุด ต่อไปพระองค์จะไม่มาอีก  ประหนึ่งว่า สิ้นพระเมตตาปราณีชาวไพศาลีเสียแล้ว  เช่นนี้อย่างไร จะไม่สะเทือนใจพุทธบริษัท จะไม่สะเทือนใจชาวเมืองทั้งหมด นับแต่พระมหากษัตริย์ลงมา  และแล้วอย่างไร ชาวเมืองจะไม่โจษจันกันเซ็งแซ่ ดังนั้น  ภารพที่ประทับยืนตรงนั้น จึงเป็นภาพที่เตือนตา เตือนใจของพุทธบริษัท อย่างมาก  เหตุนั้น ที่ตรงนั้น  จึงควรแก่การยกขึ้นเป็นเจดียสถานได้
  2. การประทับยืนรับสั่งอย่างนั้น โดยพระอาการเช่นนั้น ได้ปรากฏเป็นมรณญาณ คือเป็นลางบอกให้พระสงฆ์สาวกและพุทธบริษัททราบล่วงหน้าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากนครไพศาลีไปครั้งนี้  ก็คงจะปรินิพพานในกาลไม่นาน  เท่ากับทางประกาศสัจจธรรม  ในความเกิด ความดับ  ตามหลักแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา  จะประจักษ์แก่พระองค์  ดังที่ทรงแสดงไว้ เป็นความจริงในไม่ช้านี้  ดังนั้นการลาพุทธบริษัทไปของพระพุทธเจ้าในเช้าวันนี้ ก็เท่ากับเป็นการลาไปปรินิพพานชัดๆ แล้วอย่างไรจะไม่เป็นเรื่องประทับใจ  และสะเทือนใจของพุทธบริษัทชาวเมืองไพศาลี  ให้เกิดความตระหนกตกใจอย่างหนัก  แล้วใครบ้างที่เคารพนับถือพระองค์  เมื่อทราบข่าวนี้แล้ว จะไม่เก็บเอามาคิด  และเมื่อคิดแล้วไฉนจะไม่เศร้าสลดใจไปตามๆกัน เหตุนั้น  สถานที่ตรงนั้น  จึงเป็นสถานที่สร้างความเกรียวกราวแห่งความสลดใจในวงการของพุทธบริษัท ชาวเมืองไพศาลี เป็นอันมาก
  3. เมืองไพศาลี เป็นเมืองใหญ่ เป็นเอกราช  มวลกษัตริย์ลิจฉวี ปกครองโดยสามัคคีธรรม ผลัดเปลี่ยนเวียนกันปกครองตามวาระ  ต่างเคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นบรมครู  พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานธรรม ไว้เป็นคุณรักษาราชอาณาจักรเรียกว่า  “ลิจฉวีปริหานิยธรรม”  ให้ร่วมกันถือมั่นใน “สามัคคีธรรมและ          คารวธรรม”  เป็นจุดสำคัญ  ดังนั้นราชอาณาจักร แห่งไพศาลีนคร จึงเท่ากับมีธรรมเป็นปราการอันมั่นคง  ปรากฏว่า  พระเจ้าอชาตศัตรู  ซึ่งทรงเป็นนักรบที่ยอดเยี่ยมในสมัยนั้น  ได้ทรงกรีฑาทัพไปตีเมืองไพศาลี  ต้องล่าทัพปราชัยมาถึง ๓ ครั้ง  หมดทางที่เอาเมืองไพศาลีเป็นเมืองขึ้นด้วยแสนยานุภาพ  เพราะกษัตริยิ์ลิจฉวีเคารพมั่นอยู่ในลิพจฉวีอปริหานิยธรรม  ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า บรมครูทรงประทานไว้   รักษาเอกราชของราชอาณาจักรให้ปลอดภัยได้อย่างน่าสรรเสริญ

ภายหลัง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงส่งวัสสการพราหมณ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถาม  ถึงเหตุที่กษัตริย์ลิจฉวีทรงอานุภาพรักษาราชอาณาจักรไว้ได้  และเหตุที่กษัตริย์ลิจฉวีจะเสื่อมอานุภาพ เสียกเอกราชในกาลต่อไปด้วย โดยแน่พระทัยว่า พระพุทธเจ้ามีพระวาจาเป็นเอก  ไม่ตรัสสคำเท็จ  ตรัสคำใดคำนั้น  จะต้องเป็นจริง

            พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งว่า  ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวียังมั่นอยู่ในสามัคคีธรรมแล้ว  ตราบนั้นจะไม่มีผู้ใดไปทำความปราชัยให้แก่กษัตริย์ลิจฉวีเป็นอันขาด

            ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเช่นนั้น  ก็ทรงเปลี่ยนแผนการตีเมืองไพศาลี ด้วยแสนยานุภาพที่ทรงใช้มาแล้วไม่ได้ผล  มาเป็นแผนการทำลายสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี ตามพระพุทธพยากรณ์เป็นสงครามเย็น แม้จะเป็นเวลานาน  ก็ยังดีกว่า  เพราะหวังได้ เพราะไม่ต้องเสียกำลังทหารอีกด้วย  และก็เป็นความจริงตามพุทธพยากรณ์  และความสำเร็จด้วยความพยายามของพระเจ้าอชาตศัตรู  คือหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วไม่นาน พระเจ้าอชาตศัตรู ได้อุบายวางแผนการทำลายกษัตริย์ลิจฉวี โดยส่ง พราหมณ์เข้าไปอยู่ในเมืองไพศาลี  ปลุกปั่น ยุแหย่  ให้กษัตริย์ตลอดนักรบทั้งหลาย แตกร้าวกันหมด  ทำลายความสามัคคี  และความเคารพเชื่อถือกันในระหว่างให้สิ้นเชิง  ในที่สุด  พระเจ้าอชาตศัตรู ก็ยกกองทัพเข้ายึดเมืองไพศาลี ได้อย่างง่ายดาย  ไม่ต้องเสียชีวิตทหาร แม้แต่คนเดียว

            เรื่องหลังจากพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว  ลิจฉวีปริหานิยธรรม อันเป็นพุทธมรดกที่ทรงประทานแก่กษัตริย์ลิจฉวี ของพระองค์ จะถูกทำลายก็ดี  บรรดากษัตริย์ วงศ์ลิจฉวี จะถูกล้างผลาญก็ดี  เอกราชแห่งนครไพศาลี จะสูญสิ้นกีดี  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดีแล้ว  ทรงทราบตั้งแต่วันที่วัสสการพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าทูลถามนั้น

            ฉะนั้น  ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า  จะเสด็จออกจากนครไพศาลีเมืองพุทธ บริษัทเมืองลูกศิษย์  เมืองที่บริบูรณ์ด้วยความสงบสุข  จึงได้เสด็จประทับยืนทอดพระเนตร  ถึงกับเหลียวหลังดูเป็นครั้งสุดท้าย  พร้อมกับรับสั่งว่า การเห็นพระนครไพศาลีครั้งนี้  เป็นครั้งสุดท้าย  ถ้าเป็นสามัญชนก็ต้องว่า ล่าก่อนไพศาลี  เป็นที่น่าเสียดาย จะไม่ได้เห็นไพศาลีนคร ในรูปนี้อีกแล้ว  ไม่เฉพาะแต่พระองค์ตลอดจนมหาชนทั่วไปด้วย

            เหตุนั้น  สถานที่ประทับยืนทอดพระเนคร นครไพศาลี โดยพระอาการเช่นนั้น  พร้อมกับรับสั่งดังกล่าว  จึงก่อให้เกิดเป็นเจดีย์ สถานอันสำคัญ เรียกว่า “นาคาวโลกเจดีย์”  ถึงในขณะนี้  หากเราจะสร้างมโนภาพขึ้นตามเรื่องดังแสดงมานั้น  ก็จะเป็นภาพที่ประทับใจ มีความหมายอันสูงด้วยค่าน่าอัศจรรย์น่าบูชา สักการะอย่างยิ่ง.

จบตำนานพระพุทธรูปปางนาคาวโลกแต่เพียงนี้

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดบ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๓๑๑
๓๑๖ )

 

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

Free Web Hosting