๗. ปางลอยถาด
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งคุกพระชานุ (เข่า) ทั้งสองลงกับพื้น พระหัตถ์ซ้ายวางที่พระเพลาข้างซ้าย เป็นอาการค่ำพระกายให้ตั้งมั่น ทอดพระเนตรลงต่ำ พระหัตถ์ขวาทรงจับถาด ทำกิริยาวางลงในน้ำ
ตำนานพระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานพระพุทธรูปปางรับมธุปายาส และปางเสวยมธุปายาส ซึ่งเป็นปางที่ ๕ ที่ ๖ รวมอยู่ด้วย มีเนื้อความติดต่อกันดังนี้
ในหมู่บ้านตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ซึ่งไม่ไกลจากที่ประทับของพระมหาบุรุษเจ้านั้น มีธิดาของคฤหบดีผุ้มั่งคั่งในตำบลบ้านนั้นคนหนึ่ง ชื่อว่านางสุชาดา นางได้ไปทำพิธีบวงสรวงบูชา เทพารักษ์ ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์นั้น และได้ตั้งปณิธานไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่ดีมีสกุลเสมอกัน กับขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ครั้นต่อมา นางสุชาดาได้สามีที่ดีมีสกุลเสมอกัน กับขอให้ได้บุตร
นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ ไปบูชาเทพารักษ์ ที่ได้บนบานไว้ ดังนั้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นางสุชาดา จึงสั่งบ่าวไพร่ ตระเตรียมการทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสเรียบร้อยดี ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน ดังนั้นก่อนที่นางจะเข้านอน จึงสั่งนาง ปุณณทาสี คนใช้ที่สนิทว่า พรุ่งนี้ให้ออกไปทำความสะอาดแผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์
ฝ่ายนางปุณณทาสี เมื่อตื่นนอน ก็รีบกระวีกระวาดเดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์แต่เช้า เพื่อปัดกวาดสถานที่ ตามคำสั่งของนางสุชาดา ครั้นเดินเข้าไปใกล้ร่มไม้นิโครธพฤกษ์ และเห็นพระมหาบุรุษเจ้าเสด็จประทับนั่งอยู่ ณ ร่มไม้นั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปราจีนทิศ (ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่ซ่านออกไปเป็นปริมณฑลงามยิ่งนัก นางก็นึกทึกทักตระหนนักแน่ใจเอาทันทีว่า วันนี้ เทพเจ้าลงจากต้นไทรงามมานั่งคอยรับคอยสังเวยเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว นางดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวย นั้น บัดนี้ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ
นางสุชาดามีความปลาบปลื้มใจมาก จึงได้พูดว่า ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วมอบเครื่องแต่งตัว ให้นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา ๒ ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดนั้นพอดี แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง กับให้ห่อหุ้มด้วยผ้าอันบริสุทธิ์ เมื่อนางสุชาดาแต่งกายด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว ก็ยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูนหัว ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้ เป็นบริวารติดตามมา ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น ก็มีมความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ จึงเดินยอบกาย เข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาส ถวายด้วยความเคารพยิ่ง
ขณะนั้น บาตรที่ฆฏิการพราหมถวายพระมหาบุรุษเจ้าในวันแรกทรงบรรพชา เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษเจ้าก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองออกรับ แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงพระอาการทางจักษุให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายข้าวปายาสไว้ เมื่อนางสุชาดาทราบโดยพระอาการเช่นนั้น ก็พลันกราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายหมดทั้งถาดเจ้าค่ะ พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอสิ่งซึ่งพระองค์ทรงพระประสงค์ จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วนางก็ก้มลงกราบถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น
เมื่อนางสุชาดาทูลลากลับไปแล้ว พระมหาบุรุษเจ้า ก็เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ทรงถือถาดปายาส เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับนั่งยังที่ริมฝั่งนั้น บ่ายพระพักตร์สู่บุรพทิศ พระหัตถ์ซ้ายประคองถาดมธุปายาส พระหัตถ์ขวาทรงปั้นข้าวมธุปายาส เป็นปั้นๆ ได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงไปสู่แม่น้ำ
ครั้นถึงหาดทรายชายน้ำ ก็เสด็จคุกพระชานุ พระหัตถ์ซ้ายยันที่พระเพลาเบื้องซ้าย ค้ำกายให้มั่น พระหัตถ์ขวา ทรงถือถาดวางลงบนกระแสน้ำ ตั้งพระหฤทัยอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้วไซร้ ขอให้ถาดทองนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปเถิด แล้วทรงปล่อยถาด ให้หลุดจากพระหัตถ์ ลอยไปในแม่น้ำเนรัญชรา
ขณะนั้น ด้วยอานุภาพพระบารมีของพระมหาบุรุษเจ้า ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ได้แสดงให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ ขึ้นไปประมาณ ๑ เส้น แล้วก็จมลง ตรงนาคพิภพแห่งพญากาฬนาคราช
จบตำนานพระพุทธรูปปางรับมธุปายาส ปางเสวยมธุปายาสและปางลอยถาด รวม ๓ ปาง แต่เพียงท่านี้
( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร ๒๕๓๓ หน้า ๓๑ ๓๔ )
|