๓๖  ปางลีลา

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น  ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้น  อยู่ในท่าจะก้าวเพื่อทรงพระดำเนิน พระหัตถ์ขวา ห้อยอยู่ในท่าไกว  พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้า เป็นกิริยาเดิน  บางรูปท่ายกพระหัตถ์ขวาก็มี

 

 

            ตำนานพุทธรุปปางนี้ รวมอยู่กับตำนานพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์  ซึ่งเป็นปางที่ ๓๗ 
            ความจริง การยกพระบาทเยื้องอย่างเสด็จพระดำเนิน  ซึ่งนิยมเรียกว่าการลีลา ของพระพุทธเจ้านั้น  โดยปกติก็ทรงปฏิบัติอยู่เป็นประจำทุกเมื่อเชื่อวัน  ไม่น่าจะมีความสำคัญอะไร ถึงกับเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นเลย  แต่บังเอิญคราวเสด็จพระพุทธดำเนินลงจากดาวดึงส์เทวโลก  ในท่ามกลางเทวดา และพรหมห้อมล้อมครั้งนั้นว่า กันว่างามนักงามหนา  ถึงกับพระธรรมเสนาบดีสาริบุตร ก็ยังไม่วายจะชื่นชมปรากฏว่า ท่านได้กล่าวคาถาสรรเสริญการเสด็จพระพุทธดำเนินครั้งนี้  ถวายพระบรมศาสดา ด้วยความเบิกบานใจว่า

                                    น  เม  ทิฏฺโธ  อิโต  ปุพฺเพ             น  สุโต  อุท  กสฺสจิ
                                    เอวํ  วคฺคุคโท  สตฺถา                   ตุสิตา  คณิมาคโต.

            ความว่า  การที่พระพุทธเจ้าทรงพระศิริโสภาคอันงามปานนี้  ข้าพระพุทธเจ้า ยังไม่เคยเห็นเลย  ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำใครๆ บอกเล่า พระบรมศาสดา มีพระสุรเสียงอันไพเราะ อย่างนี้ เสด็จจากดุสิตมาสู่แผ่นดิน

 

( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ  อนุจารี มหาเถระ)
จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธืหอไตร ๒๕๓๓  หน้า  ๑๕๗ - ๑๕๙ )

 

 

ไปหน้าสารบาญ พระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting