๑๒. ปางจงกรมแก้ว

            พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถยืน  ยกพระบาทขวาก้าวเหยียบพื้น ยกส้นพระบาทซ้ายขึ้น  ปลายพระบาทจรดพื้น  แสดงอาการก้าวเดินจงกรม  พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกัน อยู่ที่หน้าพระเพลา  ทอดพระเนตรลงต่ำ อยู่ในพระอาการสังวร  อันเป็นการเดินอย่างมีสติ กำกับทุกก้าวพระบาท

 

 

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสร็จจากการทอดพระเนตรแล้ว  จึงเสด็จจากอนิมิสสเจดีย์ กลับมาประทับอยู่ที่กึ่งกลางระหว่าง อนิมิสสเจดีย์ กับต้นมหาโพธิ์  เสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่นั้น  เป็นเวลาถึง ๗ วัน  ซึ่งนับเป็นสัปดาห์ที่ ๓ ที่เสด็จจงกรมอยู่
คำว่า จงกรม  ได้แก่กิริยาเดินด้วยมีสติกำหนดทุกขณะก้าว  และมีที่หมายว่า  เมื่อเดินถึงที่ไหนจะกลับ  และกลับมาถึงไหนแล้ว จะเดินต่อ  อาการเดินแช่มช้า  ด้วยมีสติกำหนดนึกรู้สึกอยู่เสมอ ที่ทุกขณะยก ย่าง เหยียบ เรียกว่า จงกรม

            ที่อันพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมนั้น เป็นนิมิตมหามงคลเรียกว่า “เดินจงกรมเจดีย์”

            พระพุทธจริยาที่เสด็จจงกรม ณ สถาน “จงกรมเจดีย์” นั้นเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า  “ปางจงกรมแก้ว”

 

( จากหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม  ราชบัณฑิต ( ชอบ อนุจารี มหาเถระ  จัดพิมพ์โดย โครงการมูลนิธิหอไตร  ๒๕๓๓ หน้า๔๘-๕๐)


ไปหน้า สารบาญพระพุทธรูปปางต่างๆ

HOME

 

Free Web Hosting