๓๔. ปางห้ามแก่นจันทน์ พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ขวา ตั้งฝ่าพระหัตถ์ซ้ายออกไปข้างหน้า เสมอพระอุระ เป็นกิริยาห้าม
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้ ในสมัยเมื่อพระบรมศาสดา เสด็จขึ้นไปจำพรรษา แสดงธรรม โปรดพระพุทธมารดาในเทวพิภพ ณ พระแท่นบัณฑุกัมพล เป็นเหตุให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ห่างจากพระบรมศาสดา เป็นเวลานาน มิได้พบเห็นพระบรมศาสดา เป็นเวลาแรมเดือน ความเคารพรักได้กระตุ้นเตือนพระทัย ให้ทรงระลึกถึง มีพระกมลรำพึงรันจวนอยู่มิได้ขาด ด้วยพระองค์มีพระชนม์เป็นสหชาติ เสมอด้วยพระชนม์ของพระบรมศาสดา จึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงานหาท่อนไม่จันทน์หอมอย่างดีมา แล้วโปรดให้ช่างไม้ที่มีฝีมือแกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางพระทับนั่ง มีพระรูปพระโฉมโนมพรรณ งามละม้ายคล้ายพระบรมศาสดา แล้วโปรดอัญเชิญพระไม้แก่นจันทน์มาประดิษฐานยัง พระราชมณเฑียร ที่พระสัมพุทธเจ้า เคยเสด็จประทับมาแต่ก่อน พอบรรเทาความอาวรณ์ ได้สบายพระทัย เมื่อยามได้ทอดพระเนตร ครั้นภายหลังเมื่อ พระบรมโลกเชฏฐ์ เสด็จกลับจากสรวงสวรรค์แล้ว เสด็จมานครสาวัตถี จึงพระราชาธิบดีปัสเสนทิโกศล ได้ทูลอาราธนาสมเด็จพระทศพล ให้เสด็จไปยัง พระราชนิเวศน์ เพื่อให้พระบรมโลกเชฏฐ์ทอดพระเนตรไม้แก่นจันทน์ อันงาม แม้นเหมือนพระรูป ดั่งนิรมิต ซึ่งได้โปรดให้นายช่างประดิษฐ์จำลองขึ้นเป็นอนุสรณ์ ครั้นสมเด็จพระพุทธชินวร เสด็จถึงพระราชสถาน ที่พระไม้แก่นจันทน์ทำเสมือนหนึ่งว่ามีจิตรู้จักปฏิสันถารกิจ ที่ควรจะต้องลุก ขึ้นถวายความเคารพพระศาสดา ได้ขยับพระองค์เขยื้อนเลื่อนลงมาจากพระแท่นที่ ครั้งนั้น พระมหามุนี จึงได้ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นห้าม พร้อมด้วยตรัสว่า :- ครั้นสิ้นกระแสพระพุทธานุญาติ พระไม้แก่นจันทน์ก็ลีลาศขึ้นประทับนั่งยังพระแท่นเดิมนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงประสบความอัศจรรย์ก็ทรงโสมนัส เลื่อมใส อัศจรรย์ ใจในพระบารมี ด้ทรงอาราธนาพระชินสีห์ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสวยอาหารบิณฑบาต ท้าวเธอได้เสด็จ ยังอังคาส ด้วยพระหัตุ์ด้วยความเคารพเป็นอันดี ครั้นเสด็จภัตตกิจ แล้วพระชินสีห์ ก็ถวายพระพรลา พาพระสงฆ์เสด็จกลับไปประทับยังพระเชตวนาราม จบตำนานพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์ แต่เพียงนี้ ( จากตำนานพระพุทธรูปปางต่าง นิพนธ์ โดย พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารี มหาเถระ)
|