วันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล พ.ศ.๒๔๔๕ (ตามพ่อแม่บอกให้ข้าพเจ้ารู้) แต่ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี ไม่ตรงวันอังคาร วันอังคารมีอยู่ขึ้น ๕ ค่ำและ ๑๒ ค่ำ
บ้านดอนเงิน ต.แชแล อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โยมพ่อ ชื่อเมืองกลาง โยมแม่ชื่อบุญมา กาญวิบูลย์ โยมทั้ง๒ มีบุตรด้วย กัน ๒๐ คน แต่ตายเสียแต่เด็ก ๑๐ คน ใหญ่ได้มีครอบครัว ๑๐ คน บุตรของพ่อแม่ ที่ตายแต่เล็ก ๑๐ คนนั้น จะไม่เขียนลง เพราะเกิดไม่ทันไม่รู้จักชื่อ ที่ยังอยู่ ๑๐ คนนั้น คือ
๑. ชายชื่อ ทิดชาลี กาญวิบูลย์ อายุ ๘๐ ปี เป็นโรคชราตาย
๒. ชายชื่อ จารย์นิสา กาญวิบูลย์ อายุ ๕๖ ปี เป็นโรคท้องร่วงตาย
๓. หญิงชื่อ มาพา กาญวิบูลย์ อายุไม่ทราบ แท้งบุตรตาย
๔. ชายชื่อ ทิดอ่อนสา กาญวิบูลย์ อายุ ๗๖ ปี มีคนมายืมเงินเกือบเข้า ๒ ปี ไปทวงหนี้ เขาโกรธถูกลูกหนี้แทงตาย
๕. ชายชื่อ ทิดสีดา กาญวิบูลย์ อายุ ๖๖ ปี เป็นวัณโรคตาย
๖. ชายชื่อ คำมี บวชเป็นสามเณรแต่อายุ ๑๘ ปี เลยเป็นพระไปเรียนหนังสือ สนธิ และมุลกระจาย อยู่กับอาจารย์พระครูพรหม จ.กาฬสินธุ์ ๕ ปี กลับมาเป็นสมภาร อยู่วัดบ้านดอนเงิน ๓ ปี ลาสมภารออกปฏิบัติกรรมฐานตาม ข้าอยู่ ๔ ปี ลาพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่มั่น ไปวิเวกภูลังกา เขต อ.เซกา จ.หนองคาย ไข้ป่าจับ รักษาไม่หายตาย
๗. หญิงชื่อ คำไข กาญวิบูลย์ ข้าไม่รู้อายุ ไปสวนเปิดประตูไม้ราวประตูหลุดมือตกถูกแข้งถลอก เป็นบาดทะยัก รักษา ไม่หายตาย
๘. ชายชื่อ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ(กาญวิบูลย์) ผู้แต่งหนังสือให้ถืออ่านอยู่เดี๋ยวนี้เอง อายุ ๗๔ ปี
๙. หญิงชื่อ นางขาว กาญวิบูลย์ อายุ ๗๓ ปี บวชเป็นชีอยู่กับข้าเวลานี้
๑๐. หญิงชื่อ นางแก้ว อายุ ๗๒ ปี มีครอบครัว เวลานี้ครอบครองมรดกอยู่บ้านดอนเงินนั้นดังนี้
ข้าพเจ้าได้เริมฝึกหัดทำงานช่วยพ่อแม่ แต่อายุ ๑๔ ปี เพราะพ่อเฒ่าแก่มาก พ่อบวชเป็นพระอยู่นานได้ ๑๔ พรรษา จึง ได้ลาสิกขาออกไปทำการงาน ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ของท่านอยู่ ๑ ปี จึงได้แต่งงงานกับโยมแม่ของข้า พ่อเล่าให้ข้าฟัง จำได้มาดังนี้
โยมพ่อของข้าชื่อเดิม ภูมิใหญ่ ได้ทำการปกครองช่วยเจ้าฝ่ายศักดิ์ขวา ซึ่งเป็นบิดาของพ่อนั้นเอง อัญญาลุงเจ้าเมือง ร้อยเอ็ด จงได้ตั้งชื่อให้ว่า (เมืองกลาง) พ่อข้าเป็นปราชญ์ผู้หนึ่ง จำธรรมะพระสูตร เช่น เวสสันดรชาดกสูตร เป็นต้น ได้ตลอด ตาย พระวินัย เช่น แปลบาลี พระปาฏิโมกข์ได้จนตาย จำคาถาวิชา ของขลงลางร้ายดี เสียเคราะห์ เสียเข็ญสารพัด ได้จนตาย ดังนี้
โยมแม่ข้าก็เป็นปราชญ์ อ่านหนังสือไม่ได้ อาศัยแต่การฟังเทศน์ พระท่านเทศน์เรื่องพระสูตรพระวินัยให้ฟัง แม่จำเรื่อง ได้อย่างแม่นยำ เช่น บาลีข้อสั้นๆ พระท่านเทศน์ให้ฟังก็มีปนกันกับเนื้อความ โยมแม่ของข้า ก็จำได้ มาสอนพวกลูกๆหลานๆ ให้เข้าใจบุญและบาป ได้ดีดังนี้
โยมพ่อโยมแม่ของข้าพเจ้า วันธรรมดารักษาศีล ๕ ประจำตัว แต่โยมแม่ประกอบอาชีพในการเลี้ยงไหม เมื่อหม่อนสุก ก็ปลงศีลสาวหลอก เมื่อเสร็จจากธุระแล้ว ก็สมาทานศีลคืน เมื่อถึงวันพระ ๘ ค่ำ-๑๔ ค่ำ-๑๕ ค่ำ ไปวัดสมาทานศีลอุโบสถ รักษาตลอดวัน ๑ กะคืน ๑ เช้าแล้วปลงศีลกลับบ้านดังนี้ แต่ตัวข้ารู้มา เห็นพ่อแม่รักษามาอย่างนี้ จนถึงวันตาย โยมแม่ตอน สุดท้ายแห่งชีวิต ได้บวชเป็นชีรักษาศีล ๘ ด้วย ตัวข้าเป็นผู้บวชให้ ตายพร้อมนุ่งขาวห่มขาว เมื่อเริ่มป่วยลง โยมพ่อและโยม แม่รู้จักวันจะตาย จึงสมาทานศีล ๘ และรักษาให้บริสุทธิ์ และก็ตายแบบสงบสมกับเป็นนักปราชญ์ทั้งสองคนด้วยดังนี้
โยมพ่อโยมแม่ อาชีพทำนา เลี้ยงโคฝูง เลี้ยงหม่อนทำไหม ค้าขายของย่อยต่างๆ การทำนาของพ่อแม่ นามีอยู่ ๘ ทุ่งใหญ่ นาทุ่งใหญ่ทำกินเลี้ยงพวกลูกๆมา ปีไหนฟ้าฝนดี ข้าวไม่เกิดโรคต่างๆ ได้ข้าวปีละ ๑,๐๐๐ กว่าถัง พ่อแม่พวกพี่ๆ ขุด ทำยังไม่แล้วเสร็จ ข้าฝึกหัดทำงาน พ่อได้นำข้ากับคุณพี่คำมี ขุดทำแล้วเสร็จ อีกทุ่งหนึ่งพ่อได้ทำกินมา คุณพี่คำมีจากข้าไป บวชแล้ว ข้าได้ฟันต้นไม้ใหญ่และถางต้นไม้น้อยกับพ่อด้วย ทำไร่ปลูกพวกข้าวโพดและแตงกิน และขุดดินทำเป็นคันนาไว้พอ เป็นรูปๆเท่านั้น จากนี้อีก ๖ ทุ่ง เป็นแต่นาจับไว้ ขุดทำที่นั้นที่นี้บ้างทั่วไปไว้เท่านั้น จึงทุกปี พอถึงเดือน ๖ ฝนตกพอปักไถได้ เท่านั้น ต้อลงไถนาไปเลย จนถึงเดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ เป็นอย่างได้หยุดทำนาเร็ว เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ จึงได้หยุดทำนาก็มี เพราะทำนาเพียงทำกินนั้นแล้ว(นาทุ่งที่เตียน) จำเป็นต้องได้เข็นคราดเข็นไถไปทำนาที่จับไว้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้คนเขาก็จะจับ ทับเอาดังนี้ ข้าเอาควายใหม่ไถ ความมันข้ามคันนา ข้างัดรากไถไม่ทัน ดึงควายไม่อยู่รากไถหัก ข้าทำนา ๓ ปี รากไถหัก ๓ รากเก่งมาก งานทำนาก็ทำเพื่อกินอิ่มกันเท่านั้น ข้าวเปลือก ๑๐ ถัง ขาย ๑ บาท ก็ไม่มีใครซื้อกันเลย เพราะต่างคนก็ต่างมี ข้าวกินกันทุกบ้านทุกเมืองไปกันหมด
งานเลี้ยงวัวเลี้ยงควายก็เป็นการ ยามทุกข์ แทบตาย เพราะแต่ก่อนบุคคลน้อย โคกและดงกว้าง พ่อแม่มีวัวฝูง ๒๐๐ กว่าตัว ปล่อยทิ้งไว้ตอนค่ำ วัวมาคอกเอง ถ้ามันไม่มาคอก ๔-๕ วัน จึงไปตามหา ไล่มาคอนที่หนึ่ง นี้ก็เป็นการยากใหญ่ของ ข้า มีวัวฝูงมากอีกหนึ่งละ เมื่อวัวไม่มา ข้าไปชวนใครไปหาด้วยเขาก็รู้แล้วว่า วัวเขามันอยู่กับหมู่วัวข้า เขาก็ว่าไม่ไปดอก เพราะเขาว่า ข้าไปไล่วัวข้ามา วัวเขาก็ต้องมาด้วยดังนี้ เขาจึงว่าไม่ไป ตัวข้าก็จำต้องไปคนเดียว วัวมันไม่ว่าเราเป็นเจ้าของ มัน มันอยากไปไหนใกล้ไกล มันก็ไปตามชอบใจมัน เราก็ไปตามหาวัว ก็ไม่รู้ว่าเป็นรอยวัวบ้านไหน เพราะมีฝูงวัวทุกบ้าน ในแถวนั้น โคกและดงก็รก เสือและงูมันก็มาก ข้าก็จำเดินหาไปกลัวหลงทางบ้าน ตายก็กลัว กว่าจะเห็นวัวก็ต้องตะวัน บ่ายแล้ว ครั้งหนึ่งเป็นเดือน ๕ ข้าไปหาวัวลืมเอาน้ำไปกินด้วย ตะวันบ่ายเห็นจะได้ ๒ โมงแล้ว จึงไปเห็นฝูงวัว ตัวข้าไล่มันมา บ้าน วัวตั้งหน้ามาบ้าน มันวิ่งเลยข้าวิ่งตามมันไม่ไหว ไฟใหม้ป่าหญ้าแพรก และตอไม้น้อยอื่นๆ มันมีมาก ตีนข้าไม่ได้ใส่ รองเท้า ตอไม้มันทิ่มเท้าเอา ข้าก็ต้องเดินเอา ข้าเดินมาใกล้บ้านราว ๑๐ เส้น จะถึง เดินไปดีๆ หัวเข่าข้าอ่อน ล้มฮวบลงเลย ข้าลุกขึ้นค่อยๆคลานเข้าไปหาร่มไม้ นั่งพักอยู่ครู่หนึ่ง ข้าลุกขึ้น วิ่งลองดู ข้าก็ยิ่งล้มแรงใหญ่ ลุกขึ้นหาไม้เท้า ถือสองมือเท้า ไปจึงถึงบ้านได้ ข้ากินน้ำหมด ๑๔ กระบวยมะพร้าวใหญ่ๆ ข้าจุกน้ำเกือบตาย อีกเหงื่อและไคลคล้ายยางตายพุ่งออกอย่างแรง ผ้านุ่งเปียกหมด ข้าถอดเสื้อออก เอาพัดตัวอยู่พักใหญ่ จึงกินข้าวได้ นี้ทุกข์ใหญ่ในความมีวัวฝูงมาหนึ่งแล
เมื่อวัวตัวเมียมันได้ลูก ลูกมันใหญ่เป็นตัวผู้พอตอนหำมันก็จำมันมาทับหำมัน นี้ก็แสนยากและวัวตัวเล็กไม่ได้เคยจับ มันสักที มันก็ไม่ให้จับ จำต้องเอาหนนังฝั้นห้างบ่วง ไล่มันใส่มันติดบ่วง จับมันมาตอนหำมันได้ พอหัดให้มันเป็นเกวียน (หัดเทียมเกวียน) ก็ทำเป็นห้างบ่างไล่มันใส่ มันถูกบ่วงแล้ว จึงจับมันแทงจมูกสนเคามัน หัดวัวนี้เริ่มแต่ลาข้าวจากลาน เอาขึ้นยุ้งขึ้นสาง(ฉาง) จนตลอดไปถึงเดือน ๔ จึงหัดวัวเล็ก ให้เป็นเกวียนหมดได้ เรื่องหัดวัวนี้ก็สารพัดมันแสนจะพยศ บางตัวชนเรา บางตัวดึงไม่อยู่ บางตัวยืนต่ำไม่เดิน บางตัวเอาแอกใส่คอมัน แล้วกลับนอนไปเสียนานาประการ ดังนี้ จำเป็น ข้าจึงหาหมู่มาช่วยกันดึงช่วยกันฝึก ทั้งวัวเล็กของหมู่ก็เอามาหัดร่วมกันด้วย ตัวไหนมันซน จำต้องเอาปอเครือม้วยฝั้นเคา ฝั้นเชือก ร้อยจมูกมันผูกเคามัน เอาไม่ไผ่ยาวประมาณวาหนึ่ง ฟันเจิ้มๆ(เสี้ยม) ตรงข้อมันให้เป็นแง่ม(แฉก) เจาะใต้ข้อมัดลงมา พอเอาเชือกสอดผูกเคามันได้ และแหย่เข้าไปในรูไม้ที่เจาะนั้นดึงเข้าให้จำชิดเคามัน แล้วจึงเกี้ยว(พัน) มาตามลำไม้ให้ดี แล้วบังคับวัวเข้าหลักหนีบ หนีบคอมันไว้ดีแล้ว เอาแอกเกวียนใส่คอมัน เอาหนังฝั้นเป็นเชือกอ้องใส่คอมัน เส้นยาวเอาดึงไปทางท้ายเกวียนเลยไปให้หมู่จับดึงมันไว้ พอถอดเอาไม้หลักหนีบ ออกจากคอมันได้เท่านั้น วัวมันก็กระโดด เกวียนปลิ้นคว่ำ ปลิ้นหงาย(พลิกคว่ำพลิกหงาย) แอกหลุดออกจากคอมัน คนพวกดึง กลัวมันวิ่งหนีกันหมด ข้าจับไม้คันจามสู้ มัน มันกระโดดมาชนข้า ข้ากดส้นไม้ค้นจามลงกับดิน งัดดัง(จมูก) มันขึ้น พอดังมังเงยขึ้น ข้าได้ท่าใช้แรงข้าดันส่งวัวมันล้ม ตูมลงอย่างแรง มันลุกขึ้นได้ตามันเขียวปื๋อ กระโดดจะชนข้าอีก ข้าทำดังเก่าเอามันล้มอีก มันล้มถึงสามครั้ง มันกลัวข้า ยืนขี้แตก เยี่ยวไหลออกมาผากๆ ปากมันร้อยอ๊ากๆเลย หมู่ที่วิ่งหนีเอาตัวรอด จึงเดินมาช่วยจับหนัง จับเชือกดึงช่วยเข้า เอา ไปผูกแหงนไว้ไม่ให้มันกินหญ้ากินน้ำอะไรเลย กินข้าวแล้วไปแต่งเกวียนให้ดี วันหลังหัดอีกจนกว่าจะเป็นเกวียนให้ได้ดี ทีเดียว นี้ก็ทุกข์หนึ่งละ เอาตายเข้าสู้ จึงได้รอดตายมาทีเดียวแล ตัวมันดึงไม่อยู่ก็เตรียมตัวหัดมันแบบเดียวกัน กับตัวที่มัน เคยชนข้า พาหมู่มาดึงหนังทางท้ายเกวียนให้มาก ก็เอาชนะมันเป็นเกวียนได้ ตัวมันค้ำมันนอน ก็คิดหาวิธีหัดมันเป็นเกวียน ได้หมดทุกตัวแล้ว เข้าพอเป็นวันใหม่ หัดวัวเช้า ๓ โมง ไปกินข้าวเช้า กินข้าวแล้วเตรียมมีดขวาน ไปฟันเสารั้วและราวเอามา ล้อมรั้วบ้านและสวน บ่ายกลับบ้านกินข้าวสายแล้วไปหาอาหาร มากินตัวและเลี้ยงพ่อแม่ และพี่ๆน้องๆ ยุ่งอยู่อย่างน้นทุกวันไป วัวถ้าไม่หัดให้มันเป็นเกวียน ขายมันไม่ออก ก็ยุ่งใหญ่ และไม่ได้เงินเพราะมีวัวมากแล
ธุระของการเลี้ยงหม่อน พ่อแม่ พอถึงฤดูฝน พ่อแม่พากันเลี้ยงเอาพันธุ์มันไว้ คอยพวกลูกๆทำนาเสร็จ ครั้งละ ๔๐ กระด้ง เมื่อพวกลูกทำนาเสร็จแล้ว พ่อแม่พาเลี้ยงครั้งละ ๑๓๐ กระด้ง และครั้งละ ๑๒๕ กระด้ง เมื่อเลี้ยงหม่อน ก็จำต้องทำสวนหม่อนให้มาก ให้พอเก็บใบหม่อนให้หม่อนกิน พ่อและข้า จึงฟันสวนปลูกหม่อนได้ ๔ สวน สวนใหญ่ ๕ กับสวนหม่อนเก่าของพ่อแม่ทำไว้ แต่ข้ายังน้อยโน้น ข้าจำต้องฟันรั้วดคนเจาะด้วยไม้เนื้อแข็ง มีไม้จิก ไม้แดง เป็นต้น จนขวานบ้องสึก ๔ เล่ม เก่งมาก
จบในการครองฆราวาส ทำกิจธุระช่วยครอบครัว ต่อไปนี้ไป ก็เป็นชีวิตในการออกบรรพชา ดำเนินกิจทาง พระพุทธศาสนา ต่อไป
พอข้าอายุ ๑๖ ปี ได้ยินพ่อแม่ผู้เป็นปราชญ์ ได้อบรมสั่งสอนในทางพุทธศาสนา ว่าการบวชนี้เป็นบุญมาก จึงมีศรัทธา ใคร่จะบวชในพระศาสนา ก็ไปลาบิดามารดา บิดามารดาก็อนุญาต แล้วก็บอกบิดามารดา ลูกบวชแล้วจะไม่สึก พ่อแม่ก็ให้พร ตามความประสงค์ พ่อแม่ก็นำไปฝากให้เป็นศิษย์วัดกับท่านพระครูพิทักษ์คณานุการ วัดจอมศรี บ้านเมืองเก่า อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ต่อมาเมื่อเรียนหนังสือได้พอสมควร ท่านก็บรรพชาให้เป็นสามเณร และได้ศึกษาเล่าเรียนสวดมนต์ไหว้พระทุกสิ่ง อย่างพอได้แล้ว และเป็นสามเณรอยู่กับท่าน ๓ พรรษา อายุได้ ๑๙ ปี ได้เข้ากราบเรียนลาพระอาจารย์สมุห์สี (พระครูพิทักษ์คณานุการ) ไปเรียนหนังสือกรุงเทพมหานครฯ ท่านหาว่าข้าอวดดีกว่าท่าน ท่านก็ขับออกหนีจากวัดจอมศรี ข้าออกจากวัดจอมศรี ไปพักอยู่วัดบ้านดอนเงิน ลาโยมพ่อโยมแม่ ไปเรียนหนังสือ กรุงเทพฯ โยมพ่อโยมแม่ไม่ยอมอนุญาต ให้ข้าเป็นเด็ดขาดเลย อ้างว่า คิดถึง ข้าจำเป็นจึงได้อยู่วัดดอนเงินนั้น ไปจนเดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ ปี พ.ศ.๒๔๖๔ อายุใน ๒๐ ปี โยมพ่อโยมแม่ จึงได้คิดกองบวชอุปสมบทขึ้นเป็นพระ ข้าเป็นเณรธรรมยุต จำใจได้ลาสิขาเป็นพระมหานิกายกับท่าน พระอุปัชฌาย์ จันทา เจ้าคณะอำเภอกุมภวาปีนั้น อยู่วัดบ้านดอนเงิน สิ้นพรรษา ๓ เดือน
ถึงเดือน ๑๒ ปี พ.ศ.๒๔๖๕ ข้าได้ลาโยมพ่อ โยมแม่ทั้งสองออกเดินธุดงค์กรรมฐาน เดือน ๓ ไปถึง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พักอยู่วัดป่ากับท่านอาจารย์สุวรรณ์ เรียนข้อปฏิบัติกรรมฐานกับท่าน ข้าพอเข้าใจในข้อปฏิบัติแล้ว ปฏิบัติอยู่ไปถึง ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้ไปพบท่านอาจารย์หลวงพ่อใหญ่เสาร์ กณฺตสีละ พร้อมพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่มั่น ภูริทัตตะ อยู่ที่วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ข้าได้กราบเท้าท่าน หลวงพ่อทั้งสอง ถวายตัวข้าเป็นศิษย์ ข้าขอญัตติท่าน ไม่อนุญาต ท่านพูดว่า ให้ปฏิบัติอยู่กับพวกผมไป ปี ๑ ก่อน ให้ผมได้พิจารณาดูจิตของท่านว่า จะพอปฏิบัติเป็นไปไหม ไปปี ๑ ก่อน ผมจึงจะบอกท่านได้ดังนี้ พอตัวข้าได้ปฏิบัติอาศัยท่านหลวงพ่อทั้งสองไปจนเต็มปีหนึ่งแล้ว ข้าขอถวายตัวเป็นศิษย์ ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อทั้งสองพร้อมทั้งถวายตัวของตนให้เป็นเหมือนตัวของท่าน หลวงพ่อทั้งสองนั้นทีเดียว เมื่อท่านต้อง การไปธุระสิ่งใด ขอให้ใช้ตัวเกล้าทำแทนหรือไปแทน เกล้าทำหรือไปผิดถูกประการใด ขอให้ท่านหลวงพ่อตักเตือนดุด่า เฆี่ยนตี เอาแต่สุดจะมีพระกรุณา แก่เกล้าประการใด หากเกล้าขืนดื้อตอบคำก็ดี หรือไม่ไปตามคำบอกให้ไปก็ดี ขอให้ไล่เกล้าหนีจากสำนักเลย ด้วยความที่เกล้ารู้และได้ยิน เกล้าจำได้มากอยู่แล้ว แต่เกล้ายังไม่ได้ทำด้วยแล้ว แล้วเลยไม่รู้ อันจะทำ เกล้ากลับแต่จะผิดอยู่อย่างนั้นร่ำไป และทั้งตัวข้าขอญัตติเป็นพระธรรมยุต กับท่านหลวงพ่อทั้งสองอีกด้วย ท่านหลวงพ่อทั้งสองได้มีความกรุณารับคำขอร้องของข้าทุกอย่าง ท่านหลวงพ่อใหญ่อาจารย์มั่น ท่านพูดตอบข้าว่า เออดีมาก ทีเดียว ที่ท่านต้องการอยากมา ให้ผมทั้งสงสอนนี้ ผมจะสอนให้ท่านรู้และทำเป็นทุกอย่างเท่าที่ผมรู้ มันไม่มีใครมาขอถวาย ตัวเป็นศิษย์ ให้ผมทั้งสองสอนเหมือนท่านสักองค์เลย ต่อจากนี้ไป ท่านหลวงพ่อใหญ่อาจารย์เสาร์ ถามข้าว่า ท่านได้ท่อง ปฏิโมกข์และนวโกวาทแล้วหรือ ข้าเรียนตอบท่านว่า เกล้าเป็นเณรอยู่กับพระอาจารย์ สมุห์สี วัดจอมศรี อ.กุมภวาปี มาแล้ว ๓ ปี ได้แต่ฟังพระวินัย ตามหนังสืออบุพพสิกขาและมหาขันธ์ วินัย มุข จำได้วินัยมาบ้างเท่านั้น การท่องปาฏิโมกข์และนวโกวาท เกล้ายังไม่ได้ท่อง ท่านหลวงพ่อเสาร์เลยเอาหนังสือ ๒ อย่าง มอบให้ข้าไปท่อง ข้ารับไปพร้อมกัน นวโกวาทข้าท่องอยู่ ๔ วันจบ ปาฏิโมกข์ท่องอยู่ ๗ วันจบ ข้าเอาหนังสือไปถวายคืนเลย
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
(รูปภาพจาก
ต่อจากนี้ไปท่านหลวงพ่อทั้งสองก็ได้อนุญาตให้ข้าญัตติเป็นพระธรรมยุต ตอนนั้นอายุได้ ๒๔ ปี พรรษามหานิกายข้าได้ ๔ พรรษา ท่านหลวงพ่อใหญ่อาจารย์เสาร์ท่านเป็นผู้ศรัทธา จัดหาเครื่องบริขารทุกอย่าง ให้ข้าญัตติเลย ท่านหลวงพ่ออาจารย์ ใหญ่มั่น ท่านสั่งให้ข้าไปหา พระอาจารย์อุ่นมาให้ท่านแล้ว ให้ไปญัตติพร้อมกันกับข้าเสียดังนี้ ข้าสั่งพระอาจารย์อุ่นมากราบ เท้าท่านแล้ว พระหลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่นท่านศรัทธามอบเครื่องบริขารของท่าน ให้ครูบาอุ่นเลย เมื่อต่างพากันได้บริขาร สมบูรณืแล้ว ได้ลาท่านหลวงพ่อทั้งสอง เดินทางมาวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี กราบเท้าท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ตั้งแต่ท่าน ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระครูชิโนวาทธรรมรงค์ ขอญัตติกับท่านเดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ ท่านหลวงพ่อพระครูอดิศัย เจ้าคณะ จ.เลย เป็นพระกรรมวาจาจารย์องค์เดียว ญัตติแล้ว ได้พากันลาอุปัชฌาย์ กลับมากราบ เท้าท่านหลวงพ่อทั้งสอง ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ศึกษาและฝึกหัดข้อปฏิบัติกับท่านไป จนได้เกิดความรู้ ความฉลาด ตามวาสนาของตน จนตลอด ๕ พรรษา
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
( รูปภาพจาก http://www.luangpumun.org/pic.html
)
การศึกษาธรรมเป็นพิเศษ ในด้านการปฏิบัติภาวนา (ก่อนญัตติ เป็นธรรมยุต) สมัยนั้น ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ข้าจำพรรษาวัดป่า ไผ่ บ้านโพนสา อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ออกพรรษาแล้วเดินกรรมฐานไปกราบเท้า ท่านหลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตะ สมัยนั้นท่านกลับจาก อำเภอคำชะอี จ.นครพนม ท่านนำโยมแม่ของท่าน มาพักอยู่วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เดือนด้าย ข้าไปถึงท่าน ข้ากราบเท้าท่านแล้วของถวายตัวเป็นศิษย์ท่าน เบื้องต้นถามข้าก่อนว่า ท่านศึกษา ข้อปฎิบัติกรรมฐาน มาจาก อาจารย์ไหนก่อน ข้าตอบท่านว่า ศึกษามาจากอาจารย์สุวรรณ์ ดังนี้ท่านถามข้าว่า ท่านสุวรรณ์ ท่านสอนคำภาวนาให้ท่านคำไหน และการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ท่านสุวรรณ์ สอนให้ท่านทำอย่างไร ข้าเรียนถวายท่านว่า ท่านสอนให้เกล้าภาวนาว่า พุทโธ อยู่แก่ในใจ เดินจงกรมนั่งสมาธิ อาจารย์สุวรรณ์ สอนให้เกล้าทำอย่างนี้ๆถวายท่าน ท่านหลวงพ่อจึงว่า ท่านคนราคจริต ภาวนาว่าพุทโธมันไม่ถูก ท่านบอกข้าว่า เอาท่านยกมือขึ้นประณมมืออยู่แล้วเรียนเอาคำ ภาวนาใหม่ ข้ายกมือขึ้นแล้ว ท่านสอนคำภาวนาให้ข้าใหม่ว่า กายะเภทัง กายะมระณัง มหาทุกขัง ดังนี้ ข้าจำได้แล้ว ท่านให้ ข้ากำหนดใจภาวนาให้ท่านดูในเวลานั้นเลย ข้าภาวนาไปประมาณ ๑ นาทีกว่า ท่านบอกให้ข้าหยุด ถามข้าว่า ภาวนาสะดวก กว่า ง่ายไหม ข้าเรียนท่านว่า มันหลายคำว่ายาก ภาวนายกดังนี้ ท่านจึงให้คำใหม่อีกว่า เยกุชฺโฌ ปฏิกุโล ดังนี้ ให้ข้านั่งกำหนดจิตภาวนา ถวายให้ท่านดูอีก นานประมาณเท่าเก่า ท่านให้ข้าออกอีก แล้วท่านถามข้าอีกว่า ภาววนาสะดวกไหม และว่าง่ายไหม ข้าตอบท่านว่า คำนี้รู้สึกว่าง่าย เพราะมันน้อยคำ และมันเหมือนว่า พุทโธ อีกด้วย ท่านบอกว่า ให้ท่านภาวนาไปนานๆ มันจะสะดวกดอกดังนี้ แล้วท่านก็เทศนาสอนข้าไปพอสมควร แล้วท่านก็สั่งเลิก วันหลัง ข้ากราบเท้าท่านแล้ว ข้าถามท่านว่า เรื่องคนภาวนาเกิดเป็นบ้าหนึ่ง และการภาวนานานสักปานใด จึงให้มีคำเปลี่ยนคำภาวนาทีหนึ่งดังนี้
ท่านหลวงพ่อสอนข้าให้เข้าใจ เรื่องข้าเรียนถามทั้งสองเรื่องนี้ ให้ข้าเข้าใจ จนแจ่มแจ้งเลย วันหลังข้าสงสัยเรื่องการ ปฏิบัติศีลของพระผู้ปฏิบัติ ข้าเข้ากราบเท้าท่านอีก เรียนถามท่านว่า พระผู้ปฏิบัติให้ปฏิบัติศีลในตามแบบไหนหนอดังนี้ ให้ปฏิบัติศีลตามแบบหนังสือบุพพสิกขา และมหาขันธ์นี้หรือ หรือปฏิบัติศีลในแบบหนังสือ พระวิสุทธิมรรค นั้นประการใดหนอ ท่านหลวงพ่อบอกข้าว่า ปฏิบัติให้ถูกต้องตาทั้งสองแบบนั้นแหละ ศีลท่านบัญญัติ ไว้ในหนังสือ บุพพสิกขามหาขันธ์ นั้นเป็น ฌิมศีล ๑ เป็นมัชฌิมศีล ๑ ศีลในหนังสือวิสุทธิมรรคนั้น เป็นศีลใกล้ต่ออริยะกัณตะศีล เป็นศีลอันพระองค์อธิบายเข้าไปหา มรรคผล เป็นศีลอันละเอียดกว่ากันดังนี้ เท่านั้นแหละ และต่อไปนี้ ข้าขอยืมหนังสือบุพพสิกขากับท่าน ไปดูให้เข้าใจชัดด้วย ตนเอง แต่ก่อนข้าเป็นแต่ฟังพระอื่นเทศน์ เมื่อข้าดูข้าเข้าใจ และสงสัยในสิกขาบทไหน ข้าเรียนถามท่านหลวงพ่อ ไปจนหมด ทุกสิกขาบท ข้าดีใจเพราะได้เข้าใจศีล อันเป็น รากเหง้าของพระศาสนาดังนี้
ต่อไปข้าตั้งใจศึกษาทางด้านปฏิบัติ ภาวนากับท่านเรื่อง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ตลอดขึ้นมรรค ผล กับท่านอยู่ในระยะ ๕ ปี เข้าใจแจ่มแจ้ง จนสิ้นสงสัยในการปฏิบัติภายนอกและท่านมอบหนังสือ ปาฏิโมกข์ และหนังสือ นวโกวาท ให้ไปท่องให้ท่องพร้อมกันไปเลย นวโกวาท ข้าท่องอยุ่สามวันสีวัน จบ ปาฏิโมกข์ ข้าท่องอยู่ ๖ วัน วัน ๗ บ่าย ๑ โมง ข้าท่องจบอีก เอาหนังสือไปส่งท่าน หลวงพ่อทั้งสองชมข้าเป็นการใหญ่เลย ว่าเป็นผู้ตั้งใจจริงๆ ดังนี้เป็นต้น ในระยะ ๕ ปีที่ศึกษาฝึกหัดปฏิบัติภาวนา ข้าสิ้นสงสัยในธรรมเป็น แต่ข้าทำจิตข้าให้เป็นไปยังไม่ถึงเท่านั้น ข้าจึงได้ตั้งใจปฏิบัติ มาจนตลอดกาล บัดนี้ ถึงปี พ.ศ.๒๔๗๑ ท่านให้ข้ากับท่านฝั้นไปอยู่กับท่าน อาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ( ๑, ๒ ) และ พระอาจารย์ปิ่น ปญฺญพโล เพื่อช่วยให้การเผยแพร่พระศาสนา ข้าได้เป็นคณาจารย์สอนหมู่ ช่วยครูบาอาจารย์มา แต่บัดนั้น จนถึงบัดนี้
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม
(
จาก http://www.watsamma.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=263637&Ntype=1 )
ข้าไม่ได้ปริยัติธรรม เป็นแต่รู้จากที่ครูบาอาจารย์สอนและภาวนาเกิดรู้ขึ้นเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น พอสอนหมู่ช่วยพระอาจารย์ ได้บ้างเท่านั้นแล การสั่งสอน ข้าสั่งสอนไปก็มีอาจารย์ผู้ที่เคยเรียนรู้ สึกไปเป็นคฤหัสถ์มาถามธรรมกับข้า ข้าแก้ความข้องใจ ของเขาให้เขาเข้าใจในธรรมแจ่มแจ้ง เขาก็ชมข้าเป็นการใหญ่ ว่าสมกับเป็นผู้ปฎิบัติรู้จริงๆ เพราะไม่ได้เรียน ปริยัติธรรมเลย ตอบปัญหาแก้ความข้องใจได้ดีมากๆ เปรียบเหมือนมหา ๙ ประโยค ก็จะไม่ทันฉะนี้
พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล
(
จาก http://b.domaindlx.com/prathai/amnatpra_read.asp?id=194)
ในโอกาสการประชุมวันหนึ่ง ตัวข้าได้ขอโอกาสกราบเรียนเรื่องการปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์ใหญ่หลวงพ่อมั่น ตามที่ ข้าได้เคยเห็นอาจารย์ต่างๆ สอนกันมามีหลายแบบ มีการสอนธรรม ๔๐ ห้อง สอนธรรม มีข้อาราธนาพระไตรสรณคม์ อาราธนาพระไตรลักษณ์ สอนธรรมปิติ ครูผู้เข้าสอน เขาว่าเป็นธรรมพระอรหันต์ดังนี้เป็นต้น ธรรมที่เขาสอนกันทั้งหลายนั้น เป็นธรรมอันพ้นทุกข์กันทั้งหมดหรือ ประการใดดังนี้
พระอาจารย์จึงย้อมถามตัวข้าว่า ท่านเห็นเขาสอนกันมาเป็นอย่างไรเล่า ข้าเรียนท่านว่า ธรรมอื่นเกล้าเห็นว่า คนนินยม กันว่าดี เป็นบุญใหญ่กันไปเท่านั้น ไม่เห็นมีแปลกอะไร เห็นมีแปลกอยู่ก็แต่ธรรมปิติ ที่ครูผู้สอน เขาว่าเป็นธรรมพระอรหันต์ นี้แหละเขาเรียนกันมีเกิดเป็นบ้ามีตัวสั่นเซ็น บางคนมีกระโดดโลดเต้นตึงๆ ตังๆ ปากพูดดู้ดีๆ พูดไปทั่วต่างๆนานา ปฏิบัติ นานไป มีคนเขาว่าเป็นบ้ากันไปก็มี ก่อนจะเข้าเรียนกับครู เขาเตือนกัน ให้พวกลูกศิษย์ ที่จะเข้าเรียนนั้นให้แต่งเครื่องธูป เทียน ให้ได้คนละมากๆ และให้กำหนดน้ำหนกของขี้ผึ้งด้วย เพื่อจุดบูชาและเพื่อยกครูด้วย แล้วครูสอนเขา สอนให้พวกศิษย์ ภาวนาบริกรรมว่า สัมมาอะระหัง นี้คำหนึ่ง ว่า อะระหังนี้คำหนึ่ง แล้วครูแนะให้พวกศิษย์ของเขาค้นหาวัด ๖ กก ๕ สีมา ๘ พ่อนอกแม่นอก พ่อในแม่ใน อุปัชฌาย์อาจารย์ สวดขวาซ้ายนอก อุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้ายในเป็นต้น นี้เขาว่าเป็นธรรม อะไรขอรับ ปฏิบัติไปหรือผู้ปฏิบัติจะเป็นการพ้นทุกข์หรือไม่
พระอาจารย์ใหญ่ท่านได้ยกคำถามของข้าขึ้นเป็นอุเทศ เป็นหลักฐานในการเทศนาของท่านว่า เรื่องธรรมของท่าน ถามดังนี้ พระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กณฺตสีลเถระ ท่านได้เรียนรู้จากครูต่างๆมามาก ผมได้ออกปฏิบัติมาพบกับท่าน ผมรู้ผมมา แก้ท่านเอาอยู่ ๓ ปี พระอาจารย์ท่านจึงตกลงเห็นด้วย ผมจึงได้เลิกสอนธรรมต่างๆมาเวลานี้ จึงได้สอนกันแต่ให้ถึง ไตรสรณคมน์กันเท่านั้น ตามแบบเดิมของพระองค์สอนกันสืบมาอยู่เท่านี้ เพราะธรรมอื่นพวกอาจารย์สอนกันมานั้น สอนกัน เพื่อเป็นการหลอกลวง คนผู้หวังเพื่อเป็นทางหากินของอาจารย์ผู้สอนกันทั้งนั้น และแบของพระองค์สอนพวกลูกศิษย์ ที่เป็นสาวก เข้ามาบวชในพระศาสนาของท่าน ก็มีแต่ท่านสอนให้ถึงพระไตรสรณคมน์กันเท่านั้น เช่นหมู่พวกเราบวชกันมา ก็มีแต่ขอถึบงพระไตรสรณคมน์กันเท่านั้น ก็เป็นอันว่า เป็นผู้ควรแก่ปฏิบัติพระธรรมวินัย ให้สมบูรณ์พ้นทุกข์กันได้แน่นอน ธรรมปิติ ที่ท่านว่า มีอาจารย์เขาสอนกันนั้น ครูผู้สอนกันเป็นต้นมานั้น เขาอยู่จังหวัดสุรินทร์ เขาเป็นคฤหัสถ์ สอนกันเป็นบ้า ตั้งมากๆ เมื่อลูกศิษย์เป็นบ้าแล้ว อาจารย์เลยไม่รู้จัก แก้ไขลูกศิษย์ให้หายได้เลย ธรรมปิติจะไปเรียนไปขึ้นขออาราธนาเอา เองได้อย่างไร เพราะปิติมันเกิดจากภาวนา จิตรวมลงเป็นสมาธิ ต่างหาก เมื่อไม่รวมแล้ว ใครจะไปขอร้องอาราธนา ให้ปิติ มันเกิดขึ้นสักเท่าไร ปิติมันก็ไม่เกิดขึ้นดอก สุดท้ายท่านอาจารย์ว่า ถ้าหากว่าหมู่ผู้ปฏิบัติอยู่กับผม ไม่ต้องให้กลัวเรื่องมันจะ เกิดเป็นบ้ากันเลย ถ้าหมู่เป็นผมรับรองแก้ให้หมู่หายได้ แต่หมู่เชื่อผม เตือนมันจึงจะหาย ถ้าเราภาวนา จิตรวม เกิดมีความ สบายปลอดโปร่งดีอยู่ และเกิดความรู้เห็นอะไร ใจก็รู้ชัดแจ่มแจ้งเหมือนลืมตาเห็นรูป ใจก็รู้รูปแจ้งชัดอยู่อย่างนั้น มันจะเป็น บ้าอะไรกัน เหตุนั้น จึงให้หมู่ปฏิบัติไปเถิด ใจจะได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริงแน่ทีเดียว อันใจเป็นบ้านั้นเมื่อปฏิบัติไป ใจ เกิดไม่สบาย มีอาการกระวนกระวาย เป็นเครื่องบอกว่า ตัวเกิดเป็นบ้าขึ้นมาเช่นนั้นได้ ตัวเองก็ต้องรู้ตัวเองว่าเป็นบ้า ตัวก็ต้องละการปฏิบัตินั้นเสีย มาจับอยู่กับภาวนาเอาจิตจดจ่ออยู่กับคำภาวนาบริกรรม ภาวนานั้นไปไม่นาน ความกระวน กระวาย จะเกิดเป็นบ้านั้นก็จะหายไป ใจมันก็สบายขึ้นมามันจะมีอะไรเกิดให้เราเป็นบ้าอีก เมื่อมันยังไม่หายอยู่ ก็ให้ยกเอา คำวิปัสสนาขึ้นมาดัดมันว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺเพ สญฺญา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา สพฺเพ สญฺญา ทุกฺขา สพฺเพ สงฺขารา สพฺเพ สญฺญา อนตฺตา ๓ คำนี้ จับเอาคำใดคำหนึ่งขึ้นมาภาวนา หรือจะเอาหมด ทั้งสามคำนี้ภาวนาไปเลยก็ได้ จับเอาคำภาวนา ขึ้นมา ตัดลม อาการเป็นบ้าจะขาดหายไปเลย ความจะเป็นบ้าอยู่ในใจมันตั้งอยู่ไม่ได้ดอกดังนี้ ท่านได้เทศนาไปมาก ตัวข้า ฟังได้หลักทางปฏิบัติอย่างสำคัญใหญ่หลวงเลย เรื่องนี้ของยกเอาไว้อธิบายตอนหลัง ที่ข้าได้แสดงแก่พวกอาจารย์ทั้งหลาย ต่อไปข้างหน้า และท่านอาจารย์ก็สั่งเลิกประชุมกัน
พอถึงวันที่ ๒ พระอาจารย์ฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็เตรียมตัวออกเดินทาง ไปเที่ยวธุดงค์ ตัวข้ากับพระอีกรูปหนึ่งพักไป อีกสามวัน ฉันจังหันเสร็จแล้ว ก็ได้ออกเดินทางวิเวกไป ๗ คืน จึงไปถึง บ้านนาหมี่ ที่พระอาจารย์ใหญ่ไปพักอยู่ ทีแรกนั้น ข้าไปถึงไม่ทันพระอาจารย์ ท่านได้เดินทางไปบ้านนาต้องก่อนแล้ว ตัวข้ากับพระที่ไปด้วยกัน พักอยู่บ้านนาหมี่ นั้น ๖ วัน พระที่เดินทางไปกับข้านั้น ชื่อท่านว่า พระป้อง บ้านท่านอยู่จังหวัดนครพนม ท่านมีใจศรัทธา ท่านอยากออกปฏิบัติเด็ดเดี่ยว ไปอย่างไรก็ไม่รู้ ท่านจึงพูดให้โยม นำขึ้นไปอยู่ถ้ำข้างเขา ตัวข้าก็ได้ไปแต่งถ้ำให้ท่านอยู่แล้ว ตัวเองกลับมาอยู่วัดคนเดียว ตัวข้าอยู่วัดบ้านนาหมื่ นั้น ราว๑๐ กว่าวัน วันหนึ่งบ่ายราว ๒ โมง เห็นจะได้ เสือใหญ่มันกัดควาย เสียงควายมันร้องอากขึ้น บาด(ที) หนึ่ง ตัวข้าได้ยิน เข้าใจว่า เป็นเสียงช้างป่ามันร้อง ข้ากลัวขึ้นบ้าง นึกหาทางป้องกัน จึงนึกเห็นหญ้าตีนชายคา มุงกุฎิ ด้านใต้ว่า ถ้าช้างมาเราจะไปดึงเอาหญ้านั้นจุดไฟไล่มัน ช้างมันกลัวไฟดอกดังนี้ แล้วก็อยู่ทำความเพียรภาวนาพิจารณา กายใจตน ไปตามพระอาจารย์สอน สั่งที่ตนจำได้มานั้น ถึงค่ำพอมืดเข้าหน่อย ได้ยินเสียงหมู่ควายมันโอบอ้อม ควายตัวที่ถูก เสือกัดมันยังไม่ตายมาเพราะหมู่มันช่วย รุมเข้าชนเสือ เสือมันกลัวกระโดดหนี ควายตัวเสือกัดมันจึงไม่ตาย หมู่มันจึงรักษา เสือตามมาจะกัดให้ตาย เป็นอาหารของมันอีก หมู่ควายประคองควายตัวเสือกัดนั้นมา เดินจากวัดมาที่ข้าอยู่นั้น เข้าไปบ้าน นาหมี่ ตัวข้าเข้าใจว่า เป็นหมู่ช้างป่ามา กลัวได้วิ่งขึ้นไปบนกุฏิ ไปนั่งฟังอยู่พอดี ได้ยินเสียงควายมันกลัวกัน มันร้องงอกขึ้น บาด(ที)หนึ่ง ข้าจึงเข้าใจแน่ว่า เป็นหมู่ควาย จึงลงไปเดินจงกรมอีก สมควรแก่กำลังตนแล้ว ก็หยุดประณมมือ เคารพแก่คุณ พระรัตนตรัยว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบแล้ว เจริญพรหมวิหาร ๔ แผ่เมตตาจิต อุทิศส่วนกุศล ที่ตนได้ทำความเพียรมา ทั้งหลาย ส่งไปให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่า เสร็จแล้วจึงวางมือลงเดินออกจากทางจงกรม ไปขึ้นกุฏิ เริ่มคลุมจีวร พาดสังฆาฆิ พาดเสร็จแล้ว นั่งคุกเข่ากราบสามหน ไหว้พระทำวัตร สวดมนต์เสร็จแล้ว กราบสามหนนั่งสมาธิต่อ เหนื่อยถึง ประมาณ ๔ ทุ่ม หยุดนอนสีหไสยาสน์ ไปตื่นเช้า ตัวข้าเดินออกบิณฑบาต พอหวิด(พ้น) เขตวัดออกไปเห็น รอยเสือใหญ่มัน เดินตามซากควาย ที่มันกัดไม่ตายนั้นมา มันเดินตามทางที่ข้า จะไปบิณฑบาตนั้นเอง ตัวข้ามีใจกลัวเสืออยู่แล้ว เมื่อได้เห็น รอยเสือ ใจก็ยิ่งมีความกลัวใหญ่ ตัวข้ายืนตัวแข็ง ได้ยินงง อยู่นั้นสักครู่หนึ่ง จึงระลึกคำพระอาจารย์สั่งขึ้นมาได้ว่า เมื่อกลัวให้ ระลึกแผ่เมตตาจิต จึงได้ตั้งใจแผ่เมตตาจิต เสร็จแล้ว ตัวข้าจึงตั้งใจกดตัวฝืน ตัวเดินก้าวขา ภาวนาไปตามทางที่เสือไปก่อน นั้น เสือเดินไปถึงริมบ้าน เขาได้แวะทางเดินเข้าป่าไป ตัวข้าเดินตรงตามทางเข้าบ้าน พวกโยมใส่บาตร ให้เสร็จแล้ว ตัวข้า ให้พรพวกโยม มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมารับ เอาบาตร นำส่งถึงวัด เขาเดินก่อนเขาเห็นรอยเสือ เขาพูดขึ้นว่า รอยเจ้าดง ตามซากควาย ที่มันกัดไม่ได้วานนี้ มาแค่นี้ดังนี้
ภาพเสือโคร่ง
(
จาก http://www.moohin.com/animals/mammals-70.shtml )
ตัวข้าภาวนาอยู่วันนั้นองค์เดียวได้เดือนกว่า หมู่พระอาจารย์มั่น จึงได้กลับมาหาตัวข้า พระป้องขึ้นไปอยู่ถ้ำที่ลงมา กราบท่าน พระป้องกับข้าฟังโอวาทท่านพระอาจารย์ไปได้ ๔ วัน ท่านพระอาจารย์ใหญ่ได้ปรารภว่า จะนำอาหารดง ออกไป ส่งโยมแม่ของท่าน ได้สั่งข้าว่า ให้ภาวนาอยู่ในดง คอยท่าท่านไปก่อน พระป้องก็ลาพระอาจารย์ไปเที่ยววิเวกทางจังหวัดเลย พระอาจารย์ก็อนุญาตให้ไป ตัวข้าได้ยินเรื่องพระอาจารย์ว่า จะให้ภาวนาอยู่ในดงคอยท่าท่านอยู่องค์เดียวเช่นนั้น ข้าเกิดกลัว ใหญ่ขนลุกซ่า เหงื่อก็บีบออกมาตามขุมขนเต็มไปหมดเลย นึกในใจว่าา เราตายก่อนเสือมากัดตัวเราแล้วบาต(คราวนี้) เราจะทำอย่างไรดีหนอ นึกอยู่อย่างนี้ไปหน่อยหนึ่ง ก็พอดีพระอาจารย์ถามตัวข้าขึ้นว่า ท่านอ่อนได้มีความขัดข้องอะไรบ้างเล่า ในการอยู่ในดงไปผู้เดียวนี้ ตัวข้าได้โอกาส จึงเรียนท่านว่า เกล้าก็ไม่เห็นมีขัดข้องอะไร มีอยู่แต่เกล้ากลัวมากเท่านั้น พระอาจารย์ก็ได้เทศนาปลอบใจและให้กำลังใจข้า ผมไปส่งของส่งอาหารแม่ออกผมแล้ว พักอยู่พอหายเหนื่อยสมควรแล้ว ถ้าผมไม่มีขัดข้องจำเป็นอะไรอีกแล้ว ผมก็จะกลับมาวิเวกอยู่ในดงกับท่านเร็วดอกดังนี้ ท่านเตือนตัวก็รู้อยู่ แต่ความกลัวของ หัวใจมันไม่หาย แล้วท่านก็สั่งให้เลิก ตัวข้า จึงไปพิจารณานอนไม่หลับตลอดคืน เลยตกลงใจแต่เพียงว่า ท่านให้เราอยู่ก็ลอง ทนอยู่ไปดูก่อน ถ้าเราไม่อยู่ก็ได้ แต่ว่าตัวจักเป็นคนไม่ดี เพราะไม่ฟังคำของครูบาอาจารย์ แล้วท่านจะไม่มีแก่ใจสงสาร สอนเรา เราก็จะไม่พ้นทุกข์กว่านั้น ฉะนั้นเราต้องอดใจอยู่ไปก่อน ก็พอดีทำกิจวตรตอนเช้าเสร็จแล้ว เตรียมเอาของที่จะ ลงไป ฉันจังหันศาลา ไปศาลาแล้วออกบิณฑบาต กลับมาวัด ฉันจังหันเสร็จไปหน่อยหนึ่ง มองไปทางเข้าวัดมองไปเห็นครูบา พ่อชา กับสามเณรทองปาน เดินเข้าวัดมา หมู่ลูกศิษย์พระอาจารย์ใหญ่ และตัวข้า เดินไปรับเครื่องบริขาร ท่านครูบาพ่อชา มาบนศาลา ครูบาพ่อชา เข้ากราบพระอาจารย์ใหญ่แล้ว พระอาจารย์ท่านถามข่าวว่า ท่านพ่อชามาแล้ว จะไปเที่ยวที่ไหนอีก เล่า ครูบาพ่อชา ตอบท่านว่า ไม่มีมุ่งใจ จะไปเที่ยวที่ไหนอีก มุ่งใจเข้ามาเที่ยวในดงกับครูบาอาจารย์เท่านี้ ดังนั้น พระอาจารย์ใหญ่ท่านจึงว่า ดีแล้ว ฝากท่านอ่อนไปเที่ยวด้วย ท่านอ่อนว่า ท่านกลัว ดีแล้วละอ่อน ท่านกลัวก็ยังมีท่านพ่อชา มาเป็นเพื่อนแล้ว ให้ท่านตั้งใจปฏิบัติให้ดี ไปกับท่านพ่อชาดังนี้ ตัวข้าได้ยินก็ดีใจมาก หายกลัวใจมีแรงใจเย็นวาบๆ ลงทันที เลย พอสมควรท่านอาจารย์ได้เลิกสั่ง ตัวข้าก็ได้เดินตามท่านพ่อชา นำบริขารไปกุฏิ ทำความสะอาด จัดที่นอนถวายท่านเสร็จ แล้ว ข้าก็ได้กราบท่าน ขอถวายตัวเป็นศิษย์ท่านเสร็จทุกอย่างแล้ว ตัวข้าก็ได้กราบลาครูบาพ่อชา เดินกลับกุฏิของตน
วันหลังพระอาจารย์ใหญ่ ฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็ออกเดินทาง กลับสำนักบ้านค้อ อ.บ้านผือ นำเอาอาหารดง มีหน่อหวาย และบุ่น เป็นต้น ไปให้โยมแม่ของท่าน ตัวข้ากับครูบาพ่อชา สามเณรทองปาน พักทำความเพียรอยู่วัดป่าบ้าน นาหมี่ ต.สมเยี่ยม อ.บ้านผือ ไปอีกพอควรแล้ว ท่านครูบาพ่อชา ก็ได้พาเดินไปพักสำนักป่าบ้านนายุง ภาวนาอยู่บ้านนายุงนี้ ซึ่งเป็นบ้านตั้งอยู่สุดหมู่กลางดงเลย ไม่มีหมู่บ้านใดต่อไปอีกแล้ว ฉะนั้น อันตรายทุกอย่างเช่นพวกเสือ พวกช้าง ผีกองกอย ผีมุ่งค้างทั้งหลายเต็มไปหมดเลย พวกโยมผู้ชายในบ้านนายุงผู้ใจบุญ จึงมาแนะนำคำพูดในการอยู่ในดง การไปการมา เช่น ทำงานเอาฟืน ห้ามไม่ให้ลากมา เสียงเสือร้อง ให้ว่าเสียงเจ้าดงร้อง เสียงปืนให้ว่าเสียงไม้หัก ดังนี้เป็นต้น ตัวข้าได้ยินเขาสอนให้ว่า รู้ขึ้นว่า เขาสอนให้เราเอาใจใส่ออกจากการนับถือพระรัตนตรัย เอาใจไปนับถือผีกับเขาดังนี้ อย่าอย่างนั้นเลย เราจะตั้งใจภาวนา ไม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้นละ หากพวกโยมเขามาพูดถามนามอะไร กับเราๆ ก็จะพูดกับเขา ไปแต่สิ่งเป็นธรรม เป็นวินัยเท่านั้น แล้วก็ขอบคุณโยมที่เขามาบอกให้รู้นั้นแล้ว ตัวข้าก็ได้นิ่งเฉยไป เมื่อครูบาพ่อชากับข้า และสามเณรทองปาน ไปถึงสำนักป่าบ้านนายุง พักเอาแรงอยู่วันหนึ่ง สามเณรทองปานได้ชวนข้าไปหาที่ทำร้าน พักรุกขมูล อยู่ตามร่มไม้ในดงป่าทึบนั้น ตัวข้าก็ไปด้วย เดินลงจากโนน(เนิน) ที่พักอยู่แล้ว ลงห้วยน้อยๆ แห่งหนึ่งแล้วจึงขึ้นอีกโนนหนึ่ง เห็นหลังโนนนั้นราบสะอาดดี ตัวข้ากับสามเณรทองปาน ก็ต่างพากันชอบใจ ทั้งเห็นมีร้านเก่า ที่พระท่านไปภาวนาอยู่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งพากันชอบใจมาก ข้ากับสามเณรทองปาน จึงช่วยกันทำร้านอยู่คนละร้าน เสร็จแล้วกลับมาลา บอกครูบาพ่อชวนท่าน ท่านก็อนุญาต แล้วมีโยมคนหนึ่ง แกนั่งคุยกับท่านพ่อชาอยู่ แกเห็นข้ากับสามเณรทองปาน จะไปอยู่ภาวนาดงโน้น แกจึงบอก ว่า ให้พากันไปภาวนาให้ดีหนา พระท่านไปภาวนามาก่อนนั้น เจ้าดงมามาเดินรอบและมานั่งเฝ้าอยู่หมดคืน ยังรุ่ง บางวันพระ ท่านลุกล้างหน้าตอนเช้า รินน้ำในกาเทสาดใส่ มันจึงค่อยกระโดดหนีก็มี พอตัวข้าได้ยิน ตาแก่คนนั้นพูด ก็เกิดกลัว หัวใจข้า จนกระด้าง ไม่อยากไปขึ้นมาเลย แต่อาศัยสามเณรทองปานนำไป ข้าก็จำต้องไปตามสามเณร ข้าจึงถามสามเณรว่า โยมแก บอกว่าอันตราย หยุดก่อน เราทั้งสองควรไปหรือไม่ดังนี้ สามเณรทองปานเธอว่าไปละดังนี้ ต่างหัดให้เราเองเป็นผู้กล้าหาญ ให้หมดความกลัว ถ้าเราทั้งสองไปอยู่เห็นอย่างโยมว่า พวกเราจึงกลับมาเสียก็ได้ เณรว่าดังนี้แล้ว ข้าก็เห็นด้วย ข้ากับเณรจึง ได้ไปอยู่กัน ข้ากลัวตอนกลางวัน พออยู่สบายใจดี เมื่อถึงตอนกลางคืน ใจมันเกิดกลัว ถึงได้หาฟืนมาก่อกองไฟใหญ่ ไว้ตรง หน้าประตูร้าน เพื่อให้เสือกลัวไฟ ถึงว่าไฟมีอยู่ก็ตาม ข้ายังกลัวมาก นอนเอาหัวลงใส่หมอนไม่ลงเลย จึงเอาศอกเท้าหมอน เอามือค้ำหัวนอนอยู่อย่างนั้นตลอดคืน เพราะกลัวเสือกระโดดมากัดเอาขาหรือตีน วิ่งออกจากร้านไปกิน ถึงนอนอย่างนั้นก็ได้ ตั้งใจภาวนาอยู่ ไม่มีใจออกไปจากภาวนา ไปยึดถืออยู่กับกลัวเลย ส่วนนอนก็นอนกลางวัน เอาเล็กน้อยแล้ว ลุกเดินจงกรม นั่งสมาธิ ไปได้ในราว ๘ วัน ตอนบ่ายเห็นพระ ๑ รูป เณร ๑ รูป มาจากพระอาจารย์ใหญ่มาหาครูบาพ่อชา ว่าพระอาจารย์ใหญ่ ให้มานิมนต์สามเณรทองปาน ไปรับใบกองเกินบ้านเดิมเณร อ.มุกดารหาร จ.นครพนม ดังนี้ ตัวข้าได้ยินเกิดกลัว ใจหายวาบๆ แข็งกระด้างขึ้นมาอีกแล้ว ข้าจึงได้ถามพระที่มานั้นว่า พระอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องของผม ให้อยู่ให้ไปอย่างไรบ้าง หรือไม่ดังนี้ พระท่านบอกว่า พูดเหมือนกัน พระอาจารย์พูดว่า สำหรับท่านอ่อน ให้ตั้งใจภาวนาอยู่ในดงนั้นไปก่อน ภาวนาอยู่ ผู้เดียว สงบดี อย่าให้ท่านอ่อนออกมาเลย พระอาจารย์สั่งผมมาอย่างนี้แหละ ตัวข้าได้ยินเกิดเสียใจ เพราะความกลัวของตัว มันกลัวมาก ใจจึงเกิดโทมนัส จะเกิดร้องไห้ขึ้นให้ได้ เป็นแต่อดใจไว้ และนึกรู้ขึ้นมาในใจว่า พระอาจารย์ท่านเป็นผู้รู้ ท่านคง รู้ว่าเราทำความเพียรอยู่ในดงนี้ จะไม่มีภัยเกิดขึ้นในตัวเรา เหมือนเรากลัวนี้ ท่านเมตตาเรา โปรดให้เรามีความกล้าหาญ และจะมอบความกล้าหาญอันมีอยู่ในตัวท่าน มอบให้เราแน่นอนละดังนี้ ขึ้นมาในใจ ตัวข้าจึงไม่ถึงกับร้องไห้ ข้าจึงนึกขึ้นในใจ ว่าเราจำต้องกลับมาอยู่สำนักเดิม ให้พวกโยมเขาทำร้านริมสำนักเดิมให้อยู่ เมื่อเราไปอยู่กุฏิที่เขาปลูกไว้ แล้ว ใจเราจะไม่กล้าหาญหายกลัวเลยดังนี้ ข้าก็จึงบอกพวกโยมทำร้านให้เป็นสองห้อง โยมก็ทำให้ดังใจข้านึกนั้น พวกโยม ก็พอใจทำให้ จนเป็นที่พอใจทุกอย่างคือ โยมทำร้าน ให้เป็นสองห้อง ห้องหนึ่งสำหรับนอน มีหน้าต่างข้างตะวันตก อีกห้องหนึ่ง เป็นห้องสำหรับฉันจังหัน มีไม้เข็น (ลูกตั้ง) มัดขวางพิงอย่างดี หลังคามุงด้วยใบหวายบุ่น ฝนตกไม่รั่ว ตัวข้าไปเก็บของมาขึ้น อยู่ร้าน ได้ตั้งใจปรารถนาความเพียร นึกขึ้นในใจว่า เรากลัวตอนกลางคืน เราก็ทำความเพียรกลางวันหมดวันยังค่ำ แก้ทำความเพียรกลางคืนเอาเช่นนี้ แล้วก็ได้มุ่งหน้าทำความเพียรดังตนได้นึกอธิษฐานไว้ในใจนั้นไป ตื่นเช้าล้างหน้าแล้ว เตรียมตัวคลุมผ้าทำวัตรเช้า สวดมนต์อะไรต่ออะไรต่อท้ายเสร็จแล้ว เจริญเมตตาตน เมตตาสัตว์ เสร็จดีแล้ว นั่งสมาธิจนแจ้ง เป็นวันใหม่ แล้วออกจากนั่งสมาธิ ลงเดินจงกรมพอไปบิณฑบาต เลิกเดินจงกรม เตรียมตัวไปบิณฑบาต กลับมาฉันจังหัน เสร็จแล้ว ล้างบาตรเช็ดแห้งดีแล้ว เอาบาตรเข้าถลกล้างกากร้องน้ำ เช็ดกาแห้งดีแล้ว เอาไว้ที่ฉันเข้าวนั้น ลงไปปัดกวาดรานและลานวัด และทางจงกรมเสร็จแล้ว เอาไม้กวาดไปเก็บไว้ตามที่ เข้ายืนหัวเงื่อนทางจงกรม ยกมือประณม ไว้เพียงหัวอก ระลึกเคารพพระรัตนตรัยว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ๓ จบอยู่ในใจ แล้วระลึกเจริญพรหมวิหารแผ่ เมตตาตน แผ่เมตตาสัตว์เสร็จแล้ว วางมือลง เอามือเบื้องซ้ายจับใต้พกผ้านุ่ง เอามือเบื้อง่ขวาจับมือเบื้องซ้ายดีแล้ว เดินลืมตา สำรวมทางใจภาวนาน้อมตาม น้อมหูเข้าไปดู เข้าไปฟังภาวนาอยู่ในท่ามกลางอก ให้ได้เห็น ให้ได้ยินอยู่เป็นนิจ ใจก็เอารู้จับจดจ่อยู่กับคำภาวนา ไม่ให้มีคิด ไปอื่น ตัวข้าเดินจงกรมอยู่อย่างนี้ แต่ฉันจังหันแล้วไปจนถึงบ่าย ๕ โมงเย็น จึงหยุดดังนี้ไปทุกวัน เมื่อหยุดจากเดินจงกรม แล้ว ก็กวาดลานวัด และบนร้านเก็บของไว้ให้เข้าที่ดีเรียบร้อย แล้วเอาครุ (กระป๋อง) ไปตักสรงน้ำบ่อข้างวัดนั้น เสร็จแล้ว ตักเอาน้ำหิ้วมาเทใส่โอ่งไว้แล้ว เดินจงกรมอีก พอค่ำมืดหน่อยหนึ่ง นึกกลัวขึ้นมา เลยหยุดขึ้นนั่งพักอยู่พอควรแล้วก็เตรียมตัว ไหว้พระ มีสวดมนต์ต่อตามพระอาจารย์ใหญ่สั่ง เจริญพรหมวิหารเสร็จแล้วนั่งสมาธิเท่าที่ตัวอดทนต่อความเหนื่อย ทำได้แล้ว ก็พักนอนภาวนาไป แต่ใจนึกกลัว นอนก็นอนเอาศอกเท้าหมอน เอามือค่ำหัว หันหน้ามาทางห้องฉันข้าว ที่มีบันไดก่ายๆ (พาด) ระวังเสือมันจะขึ้นมากัดตน เมื่อนอนก็นอนอยู่ท่าเดียว เดินมากกว่าอริยาบถอื่น ใจก็ไม่มีความสุข เพราะกลัว ตัวข้าก็ ชักเกิดเหนื่อยขึ้นบ้าง จึงนึกพิจารณาหาอุบายแก้ความกลัวให้หาย ทุกวิถีทาง นึกหาอุบายมาแก้ใจตนที่กลัวนั้นหายลงบ้าง เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมา อยู่อย่างนั้น ข้าจึงนึกนิทานเรื่องปลาช่อนและกระต่ายขึ้นมาได้
ป่าดิบ
( จาก httpwww.wanakorn.comprograms_detail.phptid=32&nid=104.jpg )
นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า คนๆหนึ่ง จับสัตว์สองอย่าง คือปลาและกระต่ายได้วันเดียวกัน ปลาและกระต่ายมันฉลาด ปลาเมื่อ มันถูกแหเข้าแล้ว มันกระโดดตำแหเข้าทั้งแรง เมื่อตัวเข้าเพราะแหแล้ว ดิ้นไม่หลุด ปลามันทำเป็นตาย คนผู้หว่านแห จับปลานึกว่าปลาตาย จับใส่ครุ กระต่ายมันวิ่งตำเก้ง หรืองขิงตา (ข่าย) เข้าเต็มทั้งแรง ดิ้นแรงก็ไม่ขาด แล้วมันก็ทำเป็นตาย ไม่หายใจ คนผู้ได้กระต่ายก็จับขามันหิ้วมา เอาสุ่มครอบไว้บนชานเรือนกับปลานั้น สายพอถึงเวลาทำอาหารกินข้าว พ่อผู้ไปได้ปลาและกระต่ายมานั้น ก็บอกลูกสาวว่า จงเอาปลาที่ตายแล้วอยู่ในครุ ไปทำกิน ลูกสาวก็เข้าใจว่า ปลามันตายดัง พ่อว่า แล้วจึงว่ามันตากจากเขียง เพราะมันยังไม่ถึงคราว มันจึงจับเอาไปล้างน้ำหนองใหญ่ ติดริมบ้านนั้น ปลาก็ดิ้นทั้งแรง หลุดมือลูกสาวไปพ้นจากความตาย ลูกสาวบอกพ่อว่า ปลามันยังไม่ตาย มันดิ้นหลุดมือไปในน้ำแล้ว ดังพ่อบอกว่า เอากระต่าย ที่ตายแล้ว กูเอาสุ่มครอบไว้ทำกิน ลูกสาวไปเปิดสุ่มออก กระต่ายลุกยืนขึ้น กระโดดไปพิงหม้อน้ำกิน ลูกบอกพ่อว่า กระต่าย ก็ยังไม่ตาย พ่อได้ยินเข้ารีบคว้าดุ้นฟืน วิ่งไปฟาดลงใส่กระต่ายๆโดดหนี ดุ้นฟืนโดนโอ่งน้ำแตก กระต่ายไปพิงไหปลาร้า ตาแกวิ่งไปตีกระต่าย กระต่ายโดยหนี ดุ้นฟืนถูกไหปลาร้าแตก กระต่ายไปแอบอยู่ข้างหม้อแกง ตาแกวิ่งตามไปตี กระต่ายโดยหนี ตีถูกหม้อแกงแตก กระต่ายกระโดดไปแอบอยู่ที่หม้อนึ้งข้าว ตาแกวิ่งไปตีกระต่าย กระต่ายโดดหนี ตีถูกหม้อ นึ่งข้าวแตก กระต่ายกระโดดหนีลงเรือน และวิ่งเข้าป่าหนีไป พ้นจากความตาย เรื่องเป็นเช่นนี้
ตัวข้าพิจารณาเรื่องปลาและกระต่ายที่ถูกเขาจับ จนจะทำเป็นอาหารกินอยู่แล้ว แต่เมื่อกรรมไม่เคยฆ่ากันมาก่อน มันก็ ยังไม่ถึงที่ตาย เราก็จะมาเป็นบ้ากลัว ให้มันเป็นทุกข์ตัวอยู่อะไรกัน กรรมเรากับเสือ จะมิได้เคยกระทำกันมาหรือ ไม่มีเราก็ ไม่รู้ ถึงมีกรรมเกี่ยวกับเสือ เราเคยได้กระทำมันมา เราก็ยังได้ทำความเพียร ปฏิบัติศีลธรรมให้เกิดบุญอันใหญ่ อุทิศบุญกุศล ไปให้สัตว์ทั้งหลาย ให้ได้รับผลอยู่แล้วดังนี้ เราก็ทำอย่างไรอีกเล่า คนเขาฆ่าคนตาย ปล้นเอาทรัพย์ลักของกัน ถ้าผู้เป็นโทษรับสารภาพ ว่าตนได้เป็นโทษแล้ว ยอมรับใช้สิ่งของที่ตนกระทำแล้ว เจ้าโจทย์ก็ยังอโหสิกรรมโทษให้ หยุดเอา เรื่องกัน มีเต็มโลกอยู่อย่างนี้ เราก็ได้บวชได้ถวายชีวิตในพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลานี้เราก็ได้ปฏิบัติศีลธรรมความดี เพื่อตนและสัตว์ แผ่เมตตาจิต อุทิศผลบุญไปให้สัตว์ ได้รับทุกข์ถ้วนหน้า กรรมเราหลุด พ้นหมดแล้วละ ใจที่มันกลัวเสือหายวาบไปเลย ใจก็มีความสุขตลอดไปในกลางวัน พอตอนกลางคืน ใจก็ยังกลัว เป็นอย่างที่เคยเป็นมา จึงจำเป็นให้ได้คิดหาอุบายใหม่ ทำความเพียรแก้ความกลัวกลางคืนให้หาย ให้ลงเดินจงกรม ได้ดัง เคยปฏิบัติมาในที่อื่นๆ
วันหนึ่งจึงบังเอิญเกิดอุบายปัจจุบันขึ้นมา คือค่ำมืดจริงแล้วมีหมาแม่ลูกอ่อน มันออกหากินเศษอาหารที่เอาไปทิ้งตาม ริมวัดที่อาศัยอยู่นั้น เวลานอนเอามือค้ำหัวอยู่นั้น ได้ยินเสียงหมามันเดิน หูได้ยินก็ว่าเสียงตีนหมา เสือเดินบาดตีนไม่ดังดอก ใจมันกลัวเสือมันก็ว่าเสียงตีนเสือ หมาอะไรมันมาไม่ได้ดอก ค่ำป่านนี้ เพราะหมามันกลัวเสือ มันจะมาได้อย่างไร หมามัน ก็ยิ่งเข้ามาใกล้เข้าทุกท เข้ามา รอบร้านที่อยู่นั้นเรื่อยไป ใจมันกลัวจนตัวแข็ง เหงื่อไหลโทรมตัว เปียกเหมือนอาบน้ำ แต่ใน ย่ามมีมีดเงาะอยู่เล่มหนึ่ง ใจมันกลัวมันหวังพึ่งมีดสู้กับเสือ ถ้าเสือมาจริง จะไม่มีเมตตาจิต จึงเอาผ้าพันมีดให้ดี เก็บไว้ก้น ถุงย่าม เมื่อหมาแม่ลูกอ่อนมา ใจมันกลัว มันว่าเสือมา จึงเอามือคว้ามีดมากำไว้แน่น แต่เมื่อไรไม่รู้ จนหมามันมาเลีย กินเศษอาหาร ตามใบตองหมดแล้ว มันจึงขึ้นบันไดร้านมา หัวมันโผล่ขึ้นมา มองเห็นหมายืนพักอยู่ ก็เข้าใจว่าเป็นหัวหมา แต่ใจที่มันกลัว มันก็ว่าเป็นหัวเสือ มันขึ้นมาจะกัดตัวเราแล้ว ก็ยิ่งกลัวใหญ่อยู่พักหนึ่ง หมาตามันดี มันมองเห็นเราที่จ้องมัน อยู่แล้ว มันกลัวว่าจะไปตีมัน มันจึงถอยตัวกลับมา หมามันคางหงิงๆ จนมันลงไปถึงดิน แล้วมันก็เห่าฟิดๆ อยู่อย่างนั้นหลายคำ จึงได้ตกลงในว่าเป็นหมาแน่ จึงได้หายกลัวลง เวลานั้นจึงได้รู้ตัว มองดูตัวเปียกไปหมด มือก็กำด้ามมีด เหงื่อไหลหยดลงถูกผ้าปูที่นอนเปียกไปหมด จึงได้นึกหน่ายตัวเอง เป็นผู้ชายแท้ๆ ใจยังไม่กล้าเท่าหมาแม่ (ตัวเมีย) เสียแล้ว เสือชอบกินหมา แต่มันก็ไม่กลัวสักนิด ยังมากลางคืนได้ จึงนึกเอาใจไปไหว้หมาตัวเมีย เรียนความกล้าหาญกับมัน อีกหน่อย หนึ่ง ใจนึกอายขึ้นมา ก็เลยหายจากความกลัวเสือ ตอนกลางคืนอยู่เป็นสุข นอนเอาหัวลงใส่หมอนได้
เสือโคร่ง
(จาก
httpwww.wanakorn.comnatural_tiger.php.jpg )
วันหลังนึกว่าตัวหายกลัวแล้ว นึกอยากลงไปเดินจงกรมกลางคืน จึงลุกขึ้นเดินไปบันได หย่อนตีนลงไปเหยียบลูกบันได เกิดกลัวขาแข็ง ฝืนกดตัวลงเหยียบอย่างไรไม่ยอมลง จำเป็นได้เดินกลับคืนที่นอน นอนพิจารณาแก้กลัวเรื่อยไป จนตลอดคืน ไม่ได้ความ จนถึงวันหลังจึงนกขึ้นได้ว่า ค่ำวันนี้เราจะลงเดินจงกรมไม่ต้องลงบันได เปิดหน้าต่างโดดลงเดินจงกรมเลย พอถึงเวลาค่ำทำกิจวัตรทุกอย่างตลอดไหว้พระสวดมนต์ เจริญเมตตาพรหมวิหาร ทุกอย่างเสร็จแล้ว ทำใจให้สงบดี เปิดหน้า ต่างกระโดดลงดินเลย ตามความนึกไว้แล้ว กระโดดลงดินแล้ว มันเกิดกลัวเสือขึ้นมาทันที ตัวแข็งไปหมดเลย ได้ถอยหลัง เข้าไปยืนโกงโก้อยู่ใต้ร้าน ใจรู้ขึ้นว่า ร้านก็ไม่มีอะไรแอ้ม (ปิด) เสือมันวิ่งลอดร้านมาคาบเอาไปกินก็ได้ จึงก้มหน้ามองดู ก็เห็นใต้ถุนร้านโล่งจ่างว่าง (ไม่มีอะไร) อยู่จริง จึงได้ถอยตัวมายืนแอบร้านอยู่สักครู่หนึ่ง จึงนึกขึ้นในใจว่า ตัวเราลงมาถึงดิน ได้แล้ว เราจะไปเดินจงกรมดี หรือจะกลับขึ้นบันไดไปนอนดีประการใด ใจมันกล้ามันก็ว่าไปนอนนั้นแหละดี เพราะกลัวมาก ใจมันว่าอย่างนี้ ทางความรู้ก็ไม่ยอมลดละเราลงถึงดิน ได้แล้ว เป็นไรก็เป็นกัน ไปเดินจงกรมให้ได้เป็นแน่ทีเดียว ก็เรากลัว จนตัวแข็งไปหมดแล้ว เราจะทำอย่างไรจึงจะไป ได้ความรู้เกิดขึ้นมาว่า เราต้องทำใจให้ดี ให้หายกลัว แล้วกระโดดไปทาง จงกรมเลย แล้วก็ตั้งสติกำหนดจิตให้วางความกลัว ให้จับคำภาวนาอยู่ พอจิตรวมได้ดีแล้ว ก็กระโดดว่า จะไปหาทางจงกรม จิตมันกลัวมาก กระโดดตกลงที่เก่า กระโดดอีกทีเคลื่อนไปนิดหน่อย กระโดดครั้งที่สาม ตกหัวเงื่อนจงกรม กระโดดอีกที ถึงทางพอดี พอถึงทางจงกรมได้แล้วก็วิ่งซำน้อย (วิ่งแกมเดิน) ยอกๆไปเลย ถ้าไม่วิ่งไปอย่างนั้น ตัวแข็งทื่อไปเลย จนถึงกับ หยุดอยู่กับที่ ฉะนั้นจึงจำเป็นได้ วิ่งกลับไปกลับมา อยู่ในทางจงกรมไปอย่างนั้น จนเหนื่อยเหงื่อชุ่มไปหมดแล้ว ยังไม่รู้ว่า ตัวได้ภาวนา หรือไม่ได้ภาวนาอย่างไร ยังไม่รู้ตัวอะไรเลย เห็นว่า พอสมควรแล้ว ก็หยุดเดินกัน และดีใจมากว่า ตัวลงเดิน จงกรมได้แล้ว คิดว่า วันหลัง คงจะหายกลัวได้ละ
ครั้นถึงววันหลัง ก็เปิดประตูหน้าต่างกระโดดลงมาอีก ใจมันกลัว พอรู้สึกว่า ตัวแข็งขึ้นบ้าง พอเดินไปหาทางจงกรมได้ พอทำพิธียกมือระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยได้ดีอยู่ แต่ว่ายังเดินไม่ได้เพราะความกลัวจนขาแข็ง จึงจำเป็นต้องวิ่งน้อยอีก วิ่งกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น จนเหนื่อยเหงือออกชุ่มตัวอีก จึงนึกในใจว่า เรานี่อย่างไรกัน เราภาวนาว่าอย่างไร จึงรู้ตัวว่า ไม่ได้ภาวนาตามแบบและตามครูบาอาจารย์สอนเสียเลย ใจมันกลัวเสือ ก็เลยภาวนาว่า เสือกัดหัวกูตาย เสือกัดหัวกูตาย อยู่อย่างนี้ จึงได้ระลึกรู้ตัวขึ้นมาว่า ได้ทักตัวเองว่า ตายซิเรา ภาวนาอย่างนี้ จะใช้อะไรกันได้เล่า ว่าตัวกลัวเสือ ซ้ำยังภาวนาว่า เสือกัดหัวกูตายแล้ว เสือกัดหัวกูตายแล้ว อยู่เช่นนี้ จึงนึกหาคำภาวนา ที่พระอาจารย์ให้นั้น นึกไม่เห็นเสียเลย จึงนึกว่า เมื่อเรานึกคำภาวนาคำใดได้ เราก็จะภาวนาไปก่อนละ จึงเอาใจที่มันกลัวๆอยู่นั้น นึกไปนึกมา จึงระลึกพุทโธขึ้นมาได้ จึงเอา ใจจับพุทโธ ภาวนาไปได้แผลบเดียว ใจมันลืมว่าพุทโธ มันไปว่าเสือกัดหัวกูตายแล้วอย่างนั้นอีก ก็ด้วยความกลัวมันท่วมทับ หัวใจตนอยู่ จึงตั้งใจกำหนดตัดเอาคำภาวนาพุทโธ มันก็ไม่อยู่ ก็รู้ตัวอยู่อย่างนั้น ก็ได้กดใจตนเองให้ขืน กลับมาภาวนาพุทโธ อยู่อย่างนั้นเรื่อยไป พอรู้สึกว่า ตัวได้ภาวนาพุทโธได้บ้าง ความเหนื่อยมากมันก็เกิดขึ้นมา ก็ได้หยุดเดินจงกรม ขึ้นร้านอีก
วันหลังฉันจังหันเสร็จแล้ว ก็ทำความเพียรภาวนา เดินจงกรมและคิดหาอุบายแก้ความกลัวต่อไป สามโมงเย็นหยุดทำ กิจวัตรอย่างเก่า ที่เคยทำกันมาทุกวัน พอค่ำก็ลงเดินจงกรม วันสามนี้ ลงบันไดได้ไม่ถึงกับกระโดดหน้าต่างดอก เดินไปทาง หังเงื่อนทางจงกรมแล้ว ก็เดินตามสบายใจตนได้ดี ไม่ถึงกับวิ่งน้อยเหมือน ๒ วันก่อน จึงภาวนาแก้ใจตนไม่ให้มันว่า เสือกัดหัวกู ใจก็ภาวนาได้สะดวก มีอาการกลัวอยู่ในใจบ้างเล็กน้อย จึงตั้งใจเร่งภาวนาพุทโธ ไปนานหน่อยหนึ่ง ได้ระลึกคำ ภาวนาที่อาจารย์ใหญ่สอนขึ้นมาได้ ก็ได้ระลึกหัดใจว่า ปนกันไปก่อน พอให้ระลึกว่า ชำนาญในใจพอระลึกคำภาวนา ที่พระอาจารย์ใหญ่สอนให้สะดวกดีแล้ว ก็หยุดว่า พุทโธ ภาวนา เย กุชฺโฌ ปฏิกุโล ไปนาน ใจก็หวนระลึกรู้ตนขึ้นมาว่า เราเดินจงกรมให้สำรวมดูทางเหมือนเราเคยเดินมาไหมดังนี้ ไหนเลยตามีแต่มองเข้าป่า ดูเสือจะมากัดตนอยู่เรื่อยไป จนคอบิดแรงแงง ทางเดินจงกรมยาวไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ป่าอยู่ทิศตะวันตก เดินจากทิศเหนือไปทิศใต้ คอบิดไปข้างขวาริมทางป่า เดินกลับทิศเหนือ คอบิดแยกข้างซ้ายดูป่าริมทางอยู่อย่างนั้น เนื่องจากมันกลัวเสือ มันนึกว่าเมื่อ เสือมาจะได้เห็นมัน จะได้กระโดดเอาตัวรอด ใจมันนึกอย่างนี้ มันจึงเอาตามองทางป่าเรื่อยไปอย่างนั้น พอรู้ตัวขึ้น ก็ได้ตั้งใจ สำรวมดูทาง ใจมันกลัว มันไม่ยอมให้ดูทางได้เลย คอมันแข็งกระด้างไปเลย จึงนึกหาอุบายทั้งหมดมาแก้ใจ ไปพร้อมกับ ตั้งใจให้ตาแยก มองดูทาง ตามวิธีเดินจงกรมนั้น คิดหาอุบายใดมาแก้มัน ก็ไม่หายเลย พอดีเหนื่อยหยุดเดิน วันหลังตอนเช้า นึกขึ้นได้ว่า ถ้าเราคิดหาอุบายใดมาแก้ใจเรา ให้มองดูทางไม่ได้แล้ว จำเราเอาศอกกดอก เอามือค้ำคางดูทางให้ได้ ก็พอดี ค่ำถึงเวลาเดินจงกรม ก็ได้ลงเดินจงกรม คิดหาอุบายธรรมใดๆ มาแก้ใจให้มองดูทางไม่ได้เสียจริง คือใจไม่ยอมให้ตามดู ทางเลย ก็จำเอาศอกกดอก เอามือค้ำคาง จนหน้าแยกออกจากทาง มองไปทิศตะวันออก ทำอยู่อย่างนี้ พิจารณาไป นึกดีใจ อยู่ว่า เราทำอยู่อย่างนี้ ไปมัน หากจะมันหายได้ ให้เราสบายลงได้สักทีหนึ่ง ดังเราเคยแก้เรามาได้ด้วยอุบายต่างๆ ได้ความ สะบายมาแล้วเป็นแน่ พอดีเหนื่ยอพอสมควร แล้วก็หยุด วันหลังพอได้เดินจงกรมก็ลงเดิน วันนี้เป็นแต่พอ เอามือค้ำคางพอ ชูๆ (พยุง) ไว้ก็เดินภาวนาไปได้ เดินจงกรมภาวนาไปครึ่งเหนื่อย ความกลัวก็หายขาด วางมือลง จับกันภาวนาไปได้ดีแล้ว มีความดีใจมาก ด้วยตัวได้ทำความเพียร แก้ความกลัว อันตัวได้ความทุกข์มาใหญ่โต ให้หายขาดจากใจตนเองได้ ทั้งรู้ตน ได้ธรรม ความกล้าหาญของพระอาจารย์ได้มอบให้ตน ตนได้อุตสาหะทำความเพียร ให้เกิดมีขึ้นในดวงใจของตนได้ดังนี้
ต่อแต่นี้ไป ก็ตั้งใจทำความเพียร ได้ยกเอาตัวอย่างพระอานนท์ที่พระองค์เจ้าเตือน ให้ระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหาย ใจเข้าและหายใจออก ว่าเป็นผู้ไม่ประมาทนั้นมาเป็นอารมณ์ เพื่อให้ตนนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท ดังพระอานนท์นั้น จึงนึกเอา ความเหนื่อย ที่เกิดขึ้นในตอนทำความเพียรนั้น ว่าเป็นอาการของความตาย เมื่อเหนื่อยมากขึนมาจริงๆ เราก็ต้องตายแน่ ใจที่ภาวนาอยู่ ก็มองเห็นความตายด้วยดังนี้ พิจารณาอยู่เช่นนี้ สองวัน ได้เกิดนิมิตความฝันขึ้น ในเวลากลางคืน ฝันว่าตนได้ ฝืนพระวินัย พระองค์บัญญัติไว้ ด้วยความเห็นประโยชน์แก่ชุมชน ในหมู่บ้านที่ตนพักอยู่นั้น มันกันดารน้ำ กินน้ำใช้ทุกอย่าง ตนได้ชักชวนคนบ้านนั้น ขุดบ่อน้ำ เขาได้พร้อมกันมาขุด ที่ชี้บอกให้นั้น ให้เขาขุดลึกลงไปเพียง ๑ ศอก เขาว่า น้ำไม่ออก เขาหยุดกัน จึงได้อ้อนวอนให้เขาขุดลงไปอีกสัก ๑ ศอกดูก่อน มันจะออกน้ำอยู่ เขาไม่ยอมขุด ตัวเองจึงโกรธขึ้นในใจ แล้วก็นึกว่า เราขุดดินเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เอาเถอะ เราไปถึงหมู่ เราจึงขอแสดงอาบัติเอา แล้วตัวเองจับเอาด้ามเสียมกับเขา ขุดลงไปได้อีก ๑ ศอก ถูกรูน้ำใหญ่ พุ่งขึ้นมาเต็มหลุมเต็มบ่อ น้ำมันพุ่งซัดขึ้นมาสูงเพียงหน้าอก พุ่งอยู่อย่างนั้น ตัวเองจึงด่า พวกที่เขาขุดและชาวบ้านนั้นใหญ่เลย แล้วนำเขาทำท่อ และรางน้ำให้น้ำมันไหลไปไกล เพื่อสัตว์มีควายเป็นต้นมากิน และนอน ก็ไม่ให้บ่อเป็นอันตรายเสร็จดีแล้ว ก็พอดีตื่นจากหลับขึ้นมา พิจารณาดูก็ไม่รู้ความหมาย ความฝันของตน เลยวาง ความอยากรู้ทิ้ง
อีก ๒ วันต่อมา ตั้งใจทำความเพียร พิจารณาตนต่อไป ใจรวมตกกระแสรู้ความตายวูบขึ้นมาใหญ่เลย มองดูตนอะไร ทุกอย่างไม่เห็นมีแก่นสารสักอย่าง หนังก็เป็นหนังห่อเนื้อ ไม่มีแก่นแข็ง ห่ออยู่เหมือนผ้าห่อนุ่น เนื้อก็เป็นเหมือนนุ่น เส้นก็ เป็นเหมือนสายเย็บ กระดูกก็เห็นท่อนๆ มีเส้นผูกติดกันอยู่ ดูตับไส้เป็นที่สุด ก็เห็นเป็นเพียงแขวนอยู่ต่อเป็นพวงอยู่ ดูลำไส้ก็ กองกันอยู่ ดูอาหารก็เป็นเป็นของสกปรกอยู่เต็มในลำไส้ ดูในตัวเห็นเป็นเหมือนที่เล่ามานี้เป็นอันๆ ไม่เห็นอะไรเป็นอยู่ สักอย่าง ทั้งเห็นว่า มันไม่มีแก่นแข็งสักอย่างเลยดังนี้ ใจเกิดกลัวตายจริง ก่อนตนได้ทำความดี ให้พอเต็มที่ขึ้นมาอย่างนี้ เกิดความรอนกลุ่มหมดทั้งตัวเลย จะพักอยู่ให้ตัวสบายหน่อยหนึ่งก็ไม่ได้ กลัวตัวตายทิ้งเปล่า เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาใหญ่อีกละ ตัวทำความเพียร อยู่ด้วยความเป็นทุกข์กังวลอยู่อย่างนี้ได้ ๒-๓ วัน ทำความเพียรไม่ได้ ในเวลาประมาณบ่ายหน่อยหนึ่ง ทำไปไม่ไหวเป็นทุกข์ ออกร้อนตัวมาก จึงได้หยุดเดินเล่นอยู่ไปมา จึงไปเห็นขอนไม้เขาฟันทำไร่ๆมันร้างแล้ว ทิ้งอยู่กลางไร่ ร้างเขา มีกิ่งหนึ่งใหญ่พอสมควร โด่ขึ้นสูง ใจคิดอยากไปขึ้นขอน ดูเหมือนจะได้เกิดความสบายใจขึ้นมา ก็ได้เดินช้า กำหนด จิตไปถึงกกขอนนั้น ยืนพิจารณาความถูกความผิดศีลธรรม ตริตรองการปฏิบัติมันถูกผิดประการใดหรือไม่ เห็นว่าไม่ผิดอะไร แน่ จึงอธิษฐานขึ้นในใจว่า เราขึ้นไต่ขอนไม้ไปนี้ ขอให้เรารู้เห็นอะไรขึ้นมาให้ได้ความสบายเถิด เพราะเวลานี้เป็นทุกข์ใจ มาก จนจะทนอยู่ไม่ได้แล้ว เสร็จแล้วก็เดินไต่ขอนขึ้นไป เดินไปบ้างยืนบ้างบนขอนไม้นั้นปนกันไป ถึงกลางขอน ค่อนไปหา ปลายหน่อยหนึ่ง เกิดความรู้รวมเป็นเสียงดังพูดขึ้นว่า ท่านรู้ตาย จะเอาตายนั้นหรือเป็นทุกข์ใหญ่หนาดังนี้ ในใจอันรวมอยู่ นั้น ความไม่สบายตัวทั้งหลายอันมีอยู่ มันหายวาบไป เหมือนลมพายุใหญ่พัดเอาฝน ในพื้นดิน ขึ้นไปหมดฉันนั้น ตัวเองก็ได้ยืน กำหนดจิตพิจารณาอยู่นั้นว่า พระธรรมเรารู้ขึ้นมาว่า เอาตายเป็นทุกข์ใหญ่หนาดังนี้ ไม่ให้เอาตาย จะให้เอา อะไรกันเล่า ตัวก็ยืนกำหนดอยู่นาน ก็ไม่เห็นได้ความอะไรต่อไป จึงได้เดินต่อไปอีก จนขึ้นไปบนกิ่งโด่นั้น ไปถึงค่อนปลาย มันพาสั่นทึดๆ (เทิ้ม) จึงขยับตัวถอยกลับค่อยๆเดินกลับมาเหมือนขาขึ้นไปนั้น ไปถึงขอนที่เกิดรู้นั้น เกิดรู้ขึ้นมาอีกว่า ให้เอา พุทโธนั้น จะเอาตายอะไร ใจยิ่งสบายมาก ตั้งแต่ภาวนามา ไม่ได้เกิดความรู้อย่างนี้สักทีเลย พึ่งมาเกิดขึ้นทีเดียวเท่านี้แหละ จึงเกิดปิติ มีความอิ่มใจยินดีขึ้นมาก จากนี้จึงพิจารณาว่า เอาพุทโธอย่างไรกันหนอ เอาพุทโธเป็นคำบริกรรมว่า พุทโธๆ ไป อย่างนี้หรือ หรือเอาพุทโธคือดวงใจรู้แจ้งนั้นอย่างไรกัน ก็ไม่ได้เห็นรับรู้ ตามขึ้นมาแต่อย่างไรอีก จึงได้เดินไปหากกขอนอีก จนไปถึงกกขอนอีก ก็ไม่เห็นเกิดรู้อะไรขึ้นมาอีก จึงลงขอนเดินพิจารณาไปอีก ไปหาทางจงกรม ได้ความขึ้นมากลางทางว่า ก็แต่ก่อนพระอาจารย์สุวรรณ ให้เราภาวนาว่าพุทโธ ครั้นมาถึงท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านมาให้เราเลิกว่าพุทโธ มาให้เราภาวนาว่า เย กุชฺโฌ ปฏิกุโล ดังนี้ พระธรรมว่า ให้เราว่าพุทโธนี้ คงจะให้เอาพุทโธ ใจรู้นั้น แน่ละ ฉะนั้น ต่อนี้ไป เราจะเอาใจจับจดจ่ออยู่กับคำภาวนา เยกุชฺโฌ ปฏิกุโล นี้ เพราะคำภาวนาก็จิตนั้นแหละ คือแต่ก่อนจิตมันคิดส่งส่ายไปทั่ว อยู่นั้น เรามานึกภาวนาขึ้นความส่งส่ายของจิต ที่เคยเป็นมาก่อนนั้นไม่มี มีแต่คำภาวนาอยู่คำเดียวเท่านั้น จึงว่าคำภาวนาเป็น จิตได้ความแน่ใจดังนี้แล้ว ก็ได้น้อมเอาจิตรู้ของตน จับอยู่กับคำภาวนา
ทำความเพียรต่อไปอีกประมาณสัก ๗ วัน คงจะได้ นอนหลับฝันไปอีก ฝันว่าพระอาจารย์ใหญ่มั่น ให้เอาหนังหมีไปทุบ ไม่รู้ว่าท่านให้ทุบจะไปทำอะไร ท่านบอกแต่ว่า ท่านเอาไปแช่น้ำไว้แล้ว ๓ คืน ให้ท่านเอาไปทุบ ก็ได้เดินไปจับเอา ขึ้นจากน้ำ ดูไม่เป็นหนังหมี มันเป็นหนังควาย ก็ทุบไปจนหนังอ่อนมากแล้ว จึงนึกขึ้นในใจว่า พระอาจารย์ท่านให้ เราทุบหนังนี้ จะไปทำอะไรหนอ เราทุบนี้จะพอเอาได้หรือยัง เราเอาไปให้ท่านดูก่อนเถอะดังนี้ จับเอาหนังถือเดินไป พบพระป้องเข้ากลางทาง ถามว่า จะถือหนังไปทำอะไรที่ไหน ตอบท่านว่า จะเอาไปให้พระอาจารย์ท่านดู จะอ่อนพอเอาแล้ว หรือ พระป้องจึงได้เดินมาดูหนังถืออยู่นั้น ท่านว่ายังไม่ใกล้จะพอเอาแล้วนี้ ท่านพระอาจารย์ใหญ่บอก ให้พวกผมทุบอ่อนกว่า นี้อักโข เอาไปให้ท่านดู ท่านก็ยังว่าไม่ใกล้พอเอาเลย พระป้อง จึงบอกให้เอาหนังที่ถืออยู่นั้น เอาไปทุบ ที่เดิน อีก ก็ได้เอาหนังคืนไปทุบอีก จนอ่อนเหมือนหนัที่พวกคนเขาใช้ แล้วจึงนึกขึ้นมาได้ว่ เอาไปให้ท่านอาจารย์ดูก่อน ถ้าเราจะทุบ ให้อ่อนกว่านี้ หนังก็จะขาดมุ่น (ละเอียด) ไปหมด แล้วก็จับเอาหนังถือไปพบพระป้อง อีกในกลางทาง พระป้องก็มาดูหนังอีก ท่านก็ยังว่า ไม่ทันพอเอา จึงนึกว่า จะไม่พอเอาหรือพอเอา เราจะเอาไปให้พระอาจารย์ดูให้ได้ก่อน เพราะบางทีพระอาจารย์ ให้พระป้องนี้ ทุบเอาไปทำงานอีกอย่าง เราทุบหนังเสียหายอ่อนเกินไป ท่านสั่งให้เราทุบนี้ ท่านจะเอาไปทำงานไปอีกอย่าง เราทุบหนังเสียหายอ่อนเกินควรแล้ว พระอาจารย์จะดุเราตาย จึงถือหนังเดินผ่านต่อไปอีก ยังไม่ถึงพระอาจารย์เลย ตื่นจาหลับ ลุกพิจารณาความฝันของตน ไม่ได้ความอย่างไรอีก ต่อนั้นก็ได้ตั้งใจทำความเพียร ตั้งสติพิจารณาธรรมทั้งหลาย ที่ตนรู้มาอยู่ อย่างนั้น เดือนยี่ถึงเดือน ๔ ข้างขึ้น ก็พอดีพวกโยมบ้านนา ต้องเขาจะทำบุญ สำนักป่าบ้านเขา เขามานิมนต์ไป ช่วยดูการเขาจะจัดทำที่รับพระ เขาได้ไปอาราธนา แต่พระอาจารย์ใหญ่มั่น ก็ได้ไปนำพาเขาทำ พอไปถึงสำนักป่า บ้านนาต้อง เป็นสำนักร้างอยู่พระไม่มี จึงได้ช่วยเขาทำตูบ รับพระขึนไม่รู้ว่าได้กี่หลัง พอถึงวันเวลาที่พวกโยมเขา กำหนด แล้วเห็นพระ ท่านมาจากพระอาจารย์ใหญ่ วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ได้มาถึง พระท่านบอกพวกโยมว่า พระอาจารย์ใหญ่ไม่ได้มา ให้พวกอาตมามาแทนท่าน ค่ำพอควร พวกโยมก็มาพร้อมกัน ทำการไหว้พระ รับศีลเสร็จแล้ว นิมนต์พระสวดมนต์ เสร็จแล้วคุยธรรมกันเล็กน้อย พอควรแล้วก็เลิกกัน เช้าวันใหม่ พวกโยมก็นำอาหาร เครื่องไทยทาน มาทำบุญถวายทานแล้ว พวกพระที่อนุโมทนา เสร็จพิธีแล้ว พวกพระที่มาจากพระอาจารย์ใหญ่กลับกันหมด ตัวข้าก็ได้ทำความเพียรอยู่แต่รูปเดียวไป
ต่อมาอีกไม่กี่วัน เห็นพระคำมี คือพี่ชายเดินมาหา พระพี่ชายนี้ แต่ก่อนท่านเป็นสมภารอยู่วัดบ้านดอนเงิน อ.กุมภวาปี บ้านเกิดเมืองนอนนั้นเอง จึงได้ลุกไปรับเครื่องบริขารมาพักที่ศาลา พอขึ้นพักบนศาลาแล้ว ก็กราบท่านพี่ เสร็จแล้วถามข่าวท่านว่ามาอะไร ท่านพี่บอกว่า มาตามเอาท่านกลับบ้าน เวลานี้พอออก (โยมผู้ชาย) เราตายแล้ว แต่เดือน ๑๑ ข้างขึ้นจนวันเพ็ญ ศพก็ได้เผากันไปแล้ว แต่แม่เป็นทุกข์มาก เพราะมีความคิดถึงพ่อและท่านมาก ไม่เป็นอันอยู่อันกิน จึงไล่ให้ผมมาเที่ยวตามท่านกลับคืน ไปให้แกเห็นหน้าเพื่อหายโศกดังนี้ ผมออกจากวัดหาท่านแต่เดือน ๑๒ ข้างแรม ไปทางจังหวัดสกลนคร หาที่ไหนก็ไม่พบ จึงถามคนเขาผู้รู้จักพระอาจารย์ใหญ่มั่น เขาจึงบอกว่า ท่านกลับไปทางอำเภอท่าบ่อ แต่ก่อนพรรษานี้แล้ว ผมจึงได้ย้อนกลับมาพักกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น วัดป่าบ้านค้อคืนวานนี้ ถามข่าวหาท่าน พระอาจารย์ท่านได้บอกว่า ท่านอยู่ในดง ผมจึงมาถึงท่านเดือน ๔ นี้เอง ผมเหนื่อยมากขอพัก พอได้ยินท่านพี่บอกข่าว ว่าพ่อได้ตายไปแล้ว หัวใจที่ฝึกหัดมา เพื่อวางความรักและความชัง ความรักทั้งหลายก็ขาดไปจากใจเลยทีเดียวในขณะนั้น ใจมันรู้ขึ้นมาว่า พ่อผู้เราได้คิดถึงอยู่ประจำใจไม่ลืม ได้ตายและเดินทางไปก่อนเราผู้เป็นลูกเสียแล้วหนอ ทรัพย์สมบัติอันพ่อขยันหา ทั้งนาเราให้ช่วยหาได้มากมาย พ่อก็ไม่มีใจห่วงอาลัยแม้แต่น้อย มัจจุราชตัดห่วงใย และชีวิตของพ่อเรา ให้ขาดสิ้นไป ไม่ให้รั้งรอนี้เป็นคำสอนให้เรารู้ตัว เราก็ไม่ห่วงแล้ว เหมือนพ่อตายหายห่วงบอกเราให้รู้ เราก็ไม่ห่วง โลกสงสาร เรารู้ของจริงคือ เกิด แก่ เจ็บตาย ว่ามีอยู่ประจำร่างกายของบุคคลและสัตว์ให้เรารู้นั้น เราได้พิจารณารู้ตามอยู่นี้ มันจริงแน่เหลือเกินเทียวหนอ ดังนี้ขึ้นในใจ ทั้งปากก็พูดกับท่านพี่ไป ใจก็พิจารณารู้ไป เหมือนได้บรรยายมาข้างบนนี้ ก็เลยพูดกับท่านพี่ว่า ศพพ่อก็ได้เผาไปแล้ว จะให้ผมกลับไปบ้านทำไมหนอ ผมอยากอยู่ทำความเพียร ภาวนาอุทิศส่งบุญกุศล ไปให้พ่อออก เมื่อพ่อออกตกทุกข์ได้ยาก ให้พ้นทุกข์พ้นยาก เมื่อพ่อออก ได้ขึ้นถึงสุข ก็จะให้ได้สุขยิ่งๆขึ้นไป เห็นจะดี ส่วนแม่ออก (โยมผู้หญิง) คิดถึงพ่อและตัวผมเป็นทุกข์มากนั้น ก็แม่ออกเป็นผู้เข้าวัด ฟังธรรม จำศีล ๕ ศีล ๘ ตลอดแล้งและฝน ธรรมอันใดแม่ออกก็จำตลอดทั้งบาลีเล็กน้อย แม่ออกเรา ฟังทีเดียวก็จำได้ ผมว่านานๆไป แม่ออกคงจะหายไปเอง ท่านพี่จึงพูดว่า หายไม่หายก็ยังไม่รู้ได้ ผมกลัวไปทางไม่หาย นั้นแหละมากไปกว่าความตาย เพราะแม่เราเป็นแรงหลายเติบ (มาก) ถึงผมเป็นพระอยู่ขนาดนี้ แม่ก็ยังด่าป่นปี้ แหลกลานไปเลย จนผมทนอยู่ไม่ได้ ได้มาตามหาท่านให้นี้เอง จึงได้ถามท่านพี่ว่า ท่านพี่มานมัสการพระอาจารย์ใหญ่ ได้พูดเรื่องที่แม่ออกเป็นถวายท่านให้รู้ไหม ท่านพี่บอกว่า ได้เล่าถวาย ข้าถามว่า พระอาจารย์ใหญ่ ท่านพูดเรื่องแม่ออก ว่าอย่างไรบ้าง ท่านพี่บอกว่า พระอาจารย์พูดว่า ให้ท่านไปตามเอาท่านอ่อนไปแก้ และให้เห็นแล้ว ก็หายดอก แต่ท่านอ่อน จะไปเยี่ยมแม่ออกนั้น ให้มาหาผมก่อน พระอาจารย์ใหญ่สั่งมาอย่างนี้ จึงนึกขึ้นในใจว่า ถ้าอย่างนั้นตัวเราก็ต้องไปแน่ จึงถามท่านพี่ว่า ท่านพี่จะกลับบ้านด้วยผมไหม ผมจะกลับบ้านวันพรุ่งนี้แหละ ท่านพี่บอกผมว่า ไม่กลับดอกบ้าน ผมจะตั้งใจหนีจากความเป็นสมภาร จะออกปฏิบัติอย่างท่านเวลานี้ ผมต้องการไม้เท้า ผมจะให้โยมบ้านนี้หาไม้ยุงมา ให้ทำเสียก่อน จึงเดินเที่ยวหาวิเวก ถ้าท่านพี่ไม่กลับบ้านกับผมแล้ว ท่านพี่มีเรื่องอะไรเกี่ยวข้องอยู่ทางบ้านบ้างไหม ถ้ามีสั่งไปกับผมก็ได้ ผมจะช่วย ถ้าหากไม่เป็นของเหลือวิสัย ท่านพี่บอกว่า ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรทางบ้าน ผมจัดการของผมหมดแล้ว ให้เรียบร้อย จึงมาตรวจสิ่งของพ่อของแม่ออก หากจะมีการแบ่ง ผมก็บอกแม่แล้วว่า ไม่ให้ห่วง ต่อนั้นไปก็ได้เลิกกัน ทำความเพียรของใครของมันไปตามอุปนิสัยดังนี้
ตื่นเช้าวันใหม่ ฉันบิณฑบาตเสร็จก็ได้ลาพวกญาติโยมและท่านพี่ ออกเดินทางผู้เดียวนอนทางคืนหนึ่ง วันหลังจึงได้พบ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ พักแรงพอควรแล้ว คลุมผ้าไปกราบพระอาจารย์ใหญ่เสร็จแล้ว พระอาจารย์ถามข่าวการไปอยู่ในดง และการเดินทางออกมาพอควรแล้ว และเรียนถวายท่านทราบเรื่องดีทุก ประการ พระอาจารย์จึงพูดเรื่องท่านพี่คำมี มาพักกับท่าน และเรียนเรื่องแม่ออกให้ฟังว่า ท่านคำมี พี่ชายท่านมาตามท่าน ว่าพ่อออกตายแล้ว ว่าแม่ออกท่านกลุ้มใจเป็นทุกข์มาก จึงให้ท่านคำมีมาตามพาท่านไปบ้าน ให้แม่ได้เห็นหน้าว่า อย่างนี้ ผมจึงว่าให้ท่านไปเยี่ยมบ้าน ให้แม่ท่านออกเห็นให้หายเป็นทุกข์ใจเสีย พ่อแม่ของตนไม่ใช่คนอื่น พระอาจารย์พูดเช่นนั้น จึงประณมมือขอโอกาสกับท่านแล้ว เรียนท่านว่า เรื่องกลับบ้านนั้น เกล้าขอโอกาสแล้ว แต่ท่านพระอาจารย์จะเห็นสมควร แต่ว่าครูคำมีเล่าให้เกล้าฟังว่า แม่ออกมีความกลุ้มใจมาก เกือบจะเป็นบ้าไปแล้วก็ว่าได้ ถ้าแม่ออกเกล้าเป็นไป ถึงเพียงนั้นจริง เกล้าก็ไม่รู้ว่าจะแก้แม่ออกให้หายได้อย่างไร พระอาจารย์พูดว่า " เรื่องนี้ ท่านคำมี พูดให้ผมฟัง เหมือนกัน ผมพิจารณาดูแล้ว จะไม่ยากดอก ท่านกลับไปให้เห็นหน้า แล้วแม่ออกท่านก็หายดอก หรือถ้ายังไม่หายให้ท่านสอนแม่ออก ให้ภาวนาอุบายวิปัสสนา ให้ภาวนาระลึกในใจว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญญา ทุกฺขา สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา ดังนี้ " ระลึกอยู่ไม่นาน แม่ออกท่านก็จะหายดอก การปฏิบัติถ้าเกิดเป็นบ้าต่างๆ ให้ภาวนาคำนี้หายหมดนั้นแหละ แต่ให้ท่านบอก ให้แม่ออกท่านรู้ว่า การไม่สบายปรากฏอยู่ในใจทั้งหมดนี้ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังคำแม่ออกภาวนาอยู่ ในใจทั้งหมดนั้นแหละ ให้ท่านเตือนแม่ออกให้รู้ ให้ภาวนาอยู่อย่างนี้ไปไม่นาน แม่ออกท่านก็หายดีได้ดอก เพราะความขึ้น ในธรรมทั้งหลายมันไม่สู้วิปัสสนาธรรมนี้ได้ดอก พระอาจารย์เตือนดังนี้ มีความดีใจมาก ได้อะไรก็ไม่ดีเท่าได้โอวาท ของพระอาจารย์คราวนี้ เพราะตัวจะได้จำถือไว้เป็นประจำในกายปฏิบัติใจของตัว หากตัวหรือใครเป็นก็จะได้แก้และช่วย ความเป็นบ้าให้หายได้ แล้วจึงได้ขอเรียนท่านอาจารย์ไปอีกว่า หากเกล้าไปบ้านและแม่ออกของเกล้าไม่หายแล้ว เกล้าขอโอกาส จะเอาแม่ออกของเกล้ามาให้พระอาจารย์พิจารณาช่วยเกล้า จะอนุญาติให้เกล้าเอามาได้ไหม พระอาจารย์ท่าน นิ่งพิจารณาอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วพูดว่า เออ หายนา ท่านไม่ต้องวิตกแรงไปกว่าความเป็นจริง แม่ออกท่าน ไม่เป็นแรงจนถึงกับจะเป็นบ้าไปอย่างนั้น กลุ้มใจคิดถึงท่านและผัวตายจากไปเป็นธรรมดา คนเขาเป็นอยู่ในบ้านในเมืองนี้ เท่านั้นเอง ก็พอดีหมดเวลาเลิกกัน พักเอาแรงอยู่กับพระอาจารย์สองวัน วันสามก็ได้ลาท่าน เดินทางไปบ้าน พอไปถึงบ้าน ท่านพี่จะไม่ไปบ้าน กลับเกิดท่านไปถึงบ้านก่อน ๒ วัน พักอยู่ในดงข้างบ้าน ก็พอดีไปพักด้วยกัน ท่านพี่จึงพูดว่า ว่าจะไม่มาบ้านดอก เพราะท่านมาแล้ว แต่ผมได้พิจารณาดู ผมข้องใจอยู่กับเรื่องแม่ออกไปขึ้นอยู่กับธรรมปิติ อันไม่มีสาระ แก่นสาร ผมมีประสงค์ อยากจะให้แม่ออกเราออกจากธรรมปิติ มาเข้าอยู่พระไตรสรณคมน์ เหมือนพระอาจารย์ใหญ่ สอนญาติโยมทางอำเภอผือ ให้มาอยู่ปฏิบัติไตรสรณคมน์กันอยู่นั้นดอก ผมจึงได้มาบ้านกับท่านอีก แต่เรื่องนี้เราสองคน จึงพูดกันทีหลัง เพราะพวกญาติพี่น้องก็ได้มาเยี่ยมท่านมากแล้ว ให้ท่านพูดกันกับพวกญาติไปเสียก็ได้หยุดกัน ก็พอดีพวก ญาติก็มาถามตามเรื่องของญาติที่เขามาเยี่ยมถามข่าวพอควรแล้ว พวกญาติก็ได้เลิกกันไป เหลืออยู่ก็แต่พวกที่มาทำ ร้านพักให้ และนำพวกญาติทำร้านพัก และทางจงกรมอะไรทุกอย่าง จนเรียบร้อย พวกญาติก็ได้พากันลากลับบ้าน ค่ำมาก็พากันเดินจงกรมเสร็จแล้ว มองเห็นท่านพี่จุดโคมเดินมาทางบ้านพัก รับรอง และกราบท่านแล้ว ท่านพี่ถามว่า ท่านพิจารณาเห็นอย่างไรบ้าง เรื่องพ่อออกลุง ผู้เป็นครูสอนปิติ ให้แม่ออกให้มาปฏิบัติอยู่นั้นอย่างไร จึงจะเป็นการเหมาะสม ให้พ่อออกลุง ได้อนุญาตให้แม่ออกเรามาปฏิบัติ และปฏิญาณรับพระไตรสรณคมน์ด้วยดีได้เล่า ผมให้เท่านพูดกับแก หากผมก็เข้ามาปฏิบัติใหม่ ยังไม่มีความรู้พอจะพูดกับแกให้เข้าใจและยอมให้แม่ของเราออกมาปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ ได้ดอก ทั้งผมก็ได้เรียนธรรมปิติกับแก ผมนึกเกรงใจแกอยู่ นึกกลัวแกจะมีใจว่า ผมอวดรู้อะไรต่างๆนานา ผมจึงให้ท่าน พูดเป็นพ่อออกลุง ให้แม่ออกเราออกจากธรรมปิติของพ่อออกลุงดังนี้ เรื่องที่จะให้ผมพูดกับพ่อออกลุงแกว่า แกเป็นนักปราชฌ์ใหญ่คนหนึ่ง จนแกได้ออกปากว่า แกไม่ต้องการอยากพูดกับคนในโลกมาพูดกับแก เพราะใครมาพูด ก็เอาแต่เรื่องในโลกมาพูดแต่ของเก่ามาพูดกัน เบื่อใจแล้วพูดกับคนไป มันไม่สนุกใจ อยากพูดกับคนผู้พูดนอกโลกได้นั้น มันจึงไม่เป็นของเก่าพูดกันสนุกด พ่อออกลุงแกพูดทะนงตัว อวดความรู้ของแกอยู่อย่างนี้ ท่านที่เคยเป็นลูกศิษย์ ของแกมาองค์หนึ่ง ก็คงได้ยิน และรู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือ เมื่อเราทั้งสอง ต้องการอยากให้แม่ออกเราออกมาจากธรรมปิติ ของ พ่อออกลุงมารับพระไตรสรณคมน์แล้ว เราต้องสู้ฝีปากของพ่อออกลุง จนกว่าให้ชนะนั้นแหละ พ่อออกลุงจึงจะไม่มีการแยแส กับแม่ออกเรา ที่ได้ออกจากนามของแก มารับปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ ต่อไปด้วยดีดังนี้ ถ้าท่านอนุญาตกับพ่อออกลุง แล้วให้ผมพูด ผมก็จะลองพูดดูละ เท่าที่ผมรู้และศึกษามากับครูอาจารย์ จะสู้พ่อออกลุงได้หรือไม่นั้นผมยังแน่ใจไม่ได้ อยู่ ถ้าคำพูดใดท่านพี่มองเห็นทางที่จะพูดกับพ่อออกลุง พอให้แกเข้าใจได้ ก็ขอให้ท่านพี่ช่วยผมพูดกับแกบ้าง ก็ดี เหมือนกัน ท่านไม่รับจะพูดเป็นเด็ดขาดเลย และได้ถามท่านพี่ว่า ก็เคยเป็นศิษย์เรียนธรรมปิติ กับพ่อออกลุงมาแล้ว ธรรมปิติอันพ่อออกลุงว่าเป็นธรรมพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร จึงอยากให้แม่ออกเราออกมาปฏิบัติธรรม พระไตรสรณคมน์ เล่า ท่านพี่พูดว่าอันธรรมปิติที่พ่อออกลุงสอนว่า เป็นธรรมพระอรหันต์นี้ ผมเห็นว่าอันธรรมปิติที่พ่อออกลุงสอนว่า เป็นธรรม พระอรหันต์นี้ ผมเห็นว่าไม่มีแก่นสารเสียเลย ทั้งการสอนของแก ผมเห็นว่า แกสอนเพื่อเป็นการอาชีพของแกเสียอีก คือแกมีการประกาศให้คนอื่นๆมาเรียนธรรมกับแก สั่งให้หาธูปเทียนให้มาก เทียนยกครูเล่มหนึ่ง ให้หนัก ๖ บาท ๖ เล่ม เทียนจุดบูชาเล่ม ๑ หนัก ๒ สลึง หรือหนัก ๑ บาท เมื่อคราวเข้าเรียนกับแก แกให้เอาถวายให้แกหมด แกแบ่งเอาเทียนลูกศิษย์คนละครึ่ง เทียนยกครูแกก็เอาของลูกศิษย์ ๑ ชุด ให้ลูกศิษย์ไว้เป็นเครื่องบูชา ระลึกถึงคุณของครูอีก ๑ ชุด ลูกศิษย์หลายคน เทียนก็ได้มาก เมื่อเลิกพิธีเรียนกันแล้ว แกก็เอาเทียนไปต้มเพียงเอาผึ้งขายเป็นอาชีพดังนี้ ผมจึงว่า แกสอนเป็นอาชีพ ผมจึงว่า พ่อออกลุงสอนแก่พวกศิษย์ ไม่สอนให้ศิษย์พ้นทุกข์เลย สอนเพื่อเป็นอาชีพเท่านั้น เมื่อได้ยินท่านพี่พูดธรรม และการสอนธรรม พ่อออกลุงนึกหมั่นไส้ขึ้นมาในใจ เพราะได้เรียนพระอาจารย์ใหญ่ให้ท่านเทศนา ให้ฟังจำได้เข้าใจมาเป็นอย่างดีแล้ว ทั้งได้ยินท่านพี่พูดเล่าให้ฟัง ไม่ผิดกันกับพระอาจารย์ใหญ่สอนให้รู้มานั้นเสียด้วย จึงได้ นึกในใจว่า ถ้าพ่อออกลุงปราชฌ์ใหญ่มาสนทนาเล่นงานกับเราจริงแล้ว เราจะเอาแกให้เสียชื่อเสียงว่า เป็นปราชฌ์ใหญ่ คราวนี้แหละ ทั้งท่านพี่ผู้แกเคยดุเคยด่า ดูถูกว่าเราเป็นน้องไม่มีความรู้อะไรนี่ก็ดี เราจะเทศนาเอาให้แกเห็นความรู้ ความสามารถ ของเรา ในครั้งนี้ พอสมควร แล้วก็เลิกกันไป
วันหลังได้พากันไปบิณฑบาตพอควรแล้วก็กลับมาที่พัก พวกญาติโยมพร้อมทั้งแม่ออกด้วย ก็ได้นำไทยทานไป ทำบุญ ถามข่าวคราว ก็ได้พูดปราศรัยกับพวกญาติโยมพอสมควร และฉันจังหันเสร็จแล้ว พวกญาติโยมก็ได้เลิกกลับบ้านกัน หมด เหลืออยู่แต่แม่ออกคนเดียว ท่านพี่ก็ได้โอกาสพูดกับแม่ออก ให้ออกจากธรรมปิติกับพ่อออกลุงเสีย ให้มารับขึ้นอยู่กับ ธรรมพระไตรสรณคมน์กับพวกลูกเสีย แม่ออกได้ตอบท่านพี่ว่า แม่ไม่ว่า เอาแต่ลูกทั้งสองจะเห็นเป็นดีหรือประการใด สุดแล้วแต่ลูก ลูกทั้งสองจะให้แม่ออกละธรรมคุ้มครองของพ่อออกลุง มาขึ้นปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์ กับพวกลูกแล้ว จำเป็นแม่ออกจะได้ทำการสั่งลา ออกจากธรรมของลุงของพวกลูกเสียก่อน จึงจะเป็นความงามและเรียบร้อย ก็ต้องลาก่อน นั้นแหละเป็นการดี ต่อนี้ไปเม่ออกก็ได้หารือ เรื่องทรัพย์สิ่งของต่างๆ ไปหลายอย่าง จนถึงบ่าย หน่อยหนึ่ง แม่ออกจึงได้ ลากลับบ้าน วันหลังเมื่อฉันบิณฑบาตก็ได้เห็น พ่อออกลุงจารย์ อ่อนสี ผู้เป็นครูสอนธรรมให้แม่ออกและแม่ออกพร้อมด้วย พวกญาติอีกมาก เดินตามกันออกมา เพื่อถวายจังหันทั้งอยากมาฟังการสนทนาธรรมของอาจารย์อ่อนสี นักปราชฌ์ใหญ่จะได้ สนทนาธรรมกับข้า
เมื่อฉันบิณฑบาตเสร็จ พ่อออกลุง ก็ได้ทำการปราศรัย ถามข่าวคราวว่า ไปเที่ยวถึงไหน ได้พบพระอาจารย์ไหนบ้าง ได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ทั้งหลาย ท่านสอนได้ความมาว่าอย่างไร นิมนต์เล่าให้พวกญาติฟังบ้างเถิด พวกญาติผู้บางก็ จะได้มีใจสว่างขึ้นบ้าง
ท่านพี่ได้ปราศรัยกับพ่อออกลุงไปบ้างบางประการ สุดท้ายท่านพี่ก็ได้สรรเสริญพระอาจารย์ใหญ่มั่น ได้สอน พระไตรสรณคมน์ ให้ญาติโยมทางอำเภอท่าบ่อ และอำเภอบ้านผือ ได้ปฏิบัติกันเป็นที่น่าเลื่อมใส เวลาท่านพี่พูดเรื่อง พระไตรสรณคมน์อยู่ ข้าพิจารณาพ่อออกลุง แกได้ยิน แกทำหน้าเป็นอาการเฉยๆ
พอท่านพี่พูดจบความ พ่อออกลุงแกจึงพูดขึ้นว่า ธรรมพระไตรสรณคมน์ กับธรรมพระอรหันต์ที่พ่อออกลุงสอนหมู่อยู่นี้ ก็ดี เป็นธรรมพระพุทธเจ้า ธรรมปิติเป็นธรรมพระอรหันต์ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้นเอง จะไม่ใช่ธรรมอันเดียวกัน อย่างไรเล่า เมื่อค่ำวานนี้ แม่เฒ่าไปพูดว่า อยากออกจากธรรมปิติ อยากมาขึนอยู่กับธรรมพระไตรสรณคมน์กับพวกลูก คือพวกคุณหลานนี้ ลุงก็ไม่ว่าเพราะเป็นธรรมอันเดียวกัน ดีเหมือนกัน ความจริงมันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดอก ถ้าปฏิบัติไม่ได้ แล้ว ธรรมใด ก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ ถ้าปฏิบัติดีอยู่แล้ว ธรรมใดก็ดีหมดนั้นแหละ นี้เป็นจุดเริ่มต้นพูดกัน ท่านพี่กับพ่อออกลุง พูดกันเรื่องธรรมปิติ และธรรมพระไตรสรณคมน์ เป็นพันวันกันไป แต่ฉันจังหันไปเสร็จไป จนถึง ๔ โมงเช้า แม่ออกเห็นจะ รำคาญใจ จึงพูดขึ้นว่า สำหรับคุณลูกผู้ใหญ่ ให้หยุดพูดเสียก่อน ให้คุณลูกผู้น้อย พูดกับพ่อออกลุงดูที ท่านพี่จึงหยุดพูด
ตัวข้าจึงได้พูดขึ้นว่า เออ พ่อออกลุงอย่าได้เสียใจเลย เวลานี้เป็นเวลาสนทนาธรรมกัน ขอให้พ่อออกลุงถือว่า อาตมาทั้ง สองนี้เป็นหลานของพ่อออกจริงก็แล้วกัน หลานทั้งสองเกิดทีหลัง ความรู้ ความฉลาดก็ไม่เท่าพ่อออกลุงอยู่ดีๆละ จึงจำเป็น หลานทั้งสองขออภัยในเรื่องที่ พูดกันต่อไปไว้แต่ต้นเสียก่อน ตัวข้าจึงเริ่มพูดต่อไปว่า ธรรมปิติที่พ่อออกลุงว่า เป็นธรรมอัน เดียวกันกับธรรมพระไตรสรณคมน์นั้นถูก แต่เป็นธรรมเกิดแฝงธรรมพระไตรสรณคมน์ ทั้งไม่ใช่ธรรมปิติ เป็นธรรม พระอรหันต์ ธรรมพระไตรสรณคมน์เป็นธรรมพระพุทธเจ้าเหมือนพ่อออกลุงว่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ได้ตรัสรู้ธรรมพระ ไตรสรณคมน์ แล้วท่านนำเอาธรรมพระไตรสรณคมน์ ไปสอนพวกปัญจวัคคีย์ จึงว่าเมื่อพระองค์เทศนาธรรมจักรจบลงแล้ว พระอัญญาโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ได้สำเร็จพระโสดา แต่พวกสี่องค์นั้นเพียงแต่ได้ความเลื่อมใส ได้ถึง พระไตรสรณคมน์ เท่านั้น นี้เป็นหลักบอกว่า พระองค์ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ตามพระไตรสรณคมน์ ท่านจึงนำความรู้ของท่าน ไปเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ ก็เทศนาให้ปัญจวัคคีย์ถึงไตรสรณคมน์เป็นต้นมา ดังพระองค์ทรงอนุญาตให้อัครสาวกทั้งสอง รับกุลบุตร เข้าบวชในพุทธศาสนาของพระองค์ พระองค์อนุญาตให้อัครสาวก สอนธรรมพระไตรสรณคมน์ ให้แก่กุลบุตรให้ถึงแล้ว ก็ให้เข้าหมู่พระสงฆ์ขึ้นได้ในศาสนาของพระองค์ดังนี้เป็นต้นไป ไม่เห็นพระองค์ทรงอนุญาตให้อัครสาวก สอนธรรมปิติทาง ไหนเลย หรือพระองค์อนุญาตให้อัครสาวกอื่น รับกุลบุตรเข้าบวชในศาสนาของพระองค์ มีอนุญาตให้พระมหากัสสปะ เป็นต้น ก็ทรงอนุญาตให้ปฏิญาณถึงไตรสรณคมน์ก่อน แล้วจึงขอบวชเป็นสามเณรและพระอุปัชฌาย์สอนกรรมฐาน ให้เสร็จแล้ว ก็ไปนุ่งผ้าห่ม ผ้ากาสาวะ เข้าครองศีลเป็นการปฏิบัติ ในความอยู่เป็นสามเณร ไปดังนี้เป็นต้น ไม่เห็นพระองค์ให้ขอถึง ธรรมปิติกันที่ไหนอีกเล่าพ่อออกลุง พ่อออกลุงแกพูดขึ้นว่า คุณหลานพูดมานั้นถูก แต่เหตุใดธรรมที่พระองค์บัญญัติไว้ให้คน ขึ้นคนเรียน เป็นแบบเป็นแผน คือมีมากเข้าเป็นธรรม ๔๐ ห้อง ก็คือมี ธรรมพระไตรลักขณญาณ ธรรมปิติ ๕ อนุตตริยะ ๖ ธรรมวิปัสนาญาณ ๙ อย่างนี้ พ่อออกลุงก็คือว่ามีอยู่ คุณหลานเห็นจะต้องเรียนไปไม่ถึงดอกกระมัง แกก็พูดไปในเรื่องธรรม ที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งเป็นอัน ใครเรียนธรรมวิเศษมีฤทธิมีเดชไปอย่างนั้น ดังธรรมปิติ ๕ ผู้ว่าเรียนก็เกิดรู้เห็น เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นอย่างนั้นนะคุณหลาน อย่าไปว่าแต่ธรรมพระไตรสรณคมน์ดีวิเศษหลาย แหม คุณหลานข้า มองดูคนทั้งหลายที่เขา มาฟัง เขาเพลิน จนเขาอยากปีบ อยากโฮ เป็นส่วนมาก พ่อออกลุงแกอธิบายของแกไปจนชั่วโมงกว่าโน้นแหละ จึงได้พูดกับ พ่อออกลุงขึ้นว่า พ่อออกลุงว่าธรรมของพระองค์มีมากนั้น ก็จริงละ ไม่ใช่มีเท่าพ่อออกลุงว่าเลย หลานได้ยินท่านผู้รู้ พูดให้ฟังมาว่า ธรรมของพระองค์มีมากตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ว่าหลานได้ศึกษากับพระอาจารย์เสาร์พระอาจารย์มั่น มา ท่านสอนหลานว่า ธรรมทั้งหลายตลอด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น พระองค์แจกออกไปจากพระไตรสรณคมน์สามนี้ ทั้งนั้น พระไตรสรณคมน์สามนี้เป็นที่รวมไว้ซึ่งธรรมทั้งหลายหมด พระอาจารย์ทั้งสองท่านสอนให้หลานเข้าใจมาเช่นนี้ หลานจึงว่า ธรรมพระไตรสรณคมน์ เป็นหลักฐานเป็นธรรมอันมีสาระแก่นสาร กว่าธรรมทั้งหลายอื่น เพราะการขึ้นเรียน ธรรมทั้งหลายนั้น ท่านอาจารย์ใหญ่เสาร์ ท่านได้ประกาศลูกศิษย์ของท่านมีอาตมาองค์หนึ่งได้ยินว่า ท่านได้เรียนธรรม ทั้งหลาย ได้ยกเครื่องบูชา เรียนกับครูมามาก ธรรม๔๐ ห้อง และธรรมทั้งหลาย ดังพ่อออกลุงพูดไปเมื่อตะกี้นี้ พระอาจารย์ ใหญ่เสาร์ ก็ได้เรียนยกครูด้วยเครื่องบูชากับมากับครูของท่านมาหมดแล้ว แต่พระอาจารย์ทั้งสอง คือพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์ใหญ่มั่น ได้มาพิจารณาดูกัน พระอาจารย์มั่นท่านรู้ว่า ธรรมอื่นไม่เป็นของจำเป็น จะแต่งเครื่องบูชาขึ้นกับ อาจารย์ให้อาจารย์สอนเลย เพราะเป็นธรรมอุบายอันพระองค์รับเอาสาวกด้วย เอหิ ภิกขุ ให้เข้ามาอยู่ในสำนักของพระองค์ แล้ว ท่านแนะอุบายกรรมฐาน ให้สาวกลูกศิษย์ของท่านนำไปปฏิบัติกันให้จิตเป็นสมาธิสมาบัติกันขึ้นเท่านั้น ขึ้นกับอาจารย์ อาจารย์สอนให้ศิษย์ไม่มีราธนาอย่างธรรมปิติ ธรรมพระไตรสรณคมน์ ธรรมสารพัดธรรม ธรรมจะไปขอเอาได้ง่ายๆ ความพ้น ทุกข์ มันก็ไม่อดแหละ เช่น ธรรมปิติธรรมจะเกิดมีขึ้นในบุคคลได้ ก็ต้องอาศัยคนนั้นตั้งใจปฏิบัติธรรม คุณพระไตรสรณคมน์ ให้จิตรวม เป็นสมาธิลงได้เสียก่อน ปิติ ๕ อันใดอันหนนึ่ง ก็จะเกิดขึ้นในจิตของของบุคคลผู้รวมอยู่นั้นขึ้นมาได้ เมื่อได้ทำจิต ไม่รวมเป็นสมาธิได้แล้ว จะไปราธนา ขอเรียกเอาปิติ ใด้ให้มันเกิดจนตายเท่าใดชาติ ปิติมันก็ไม่เกิดขึ้นมาให้ดอก อันธรรมปิตินี้ ก็หากมีแบบว่า ให้บุคคลขึ้นกันเรียนกัน แต่ไม่เห็นมีบอกคำภาวนากันว่าอย่างไร คำสอนให้ผู้ขึ้นธรรมปิติภาวนา ก็ว่าอะระหังๆ หรือว่าสัมมาอะระหัง ในพุทธานุสสติ เอาคุณพระพุทธเจ้าเป็นหลักจำอยู่ จึงว่าธรรมใดจะนอกเหนือไปจาก ธรรมพระไตรสรณคมน์ นี้ไม่มีเลย จึงว่าแบบของพระองค์และพระสาวก ของพระองค์ท่านสอนกันมา ก็มีแต่สอนให้ถึง พระไตรสรณคมน์ กันเท่านั้นก็พอแล้ว ธรรมอื่นเป็นแต่แนะสอน ให้ลูกศิษย์ของท่านไปเลย อันแบบขึ้นกันเรียนกันมานี้ แบบเดิมของพระองค์สอนไม่เห็นมีในผูกในมัดใดเลย เห็นจะเป็นด้วยอาจารย์ต้องการสอนศิษย์เพื่อเป็นอาชีพกับลูกศิษย์ เพื่อเป็นการเลี้ยงตัว ใช้สอยสิ่งใดในตัวให้ง่ายกันนั้น เสียโดยมาก จึ้งตั้งแบบสอนให้มีขึ้นกันกับพระอาจารย์มานั้น พระอาจารย์ใหญ่ทั้งสองสอนอาตมาให้รู้มาว่า ดังนี้แหละพ่อออกลุง พ่อออกลุงจะว่าอย่างไร ก็ขอให้ว่าไปเลย เวลาพูดและ อธิบายธรรมอยู่นั้น มองดูหน้าพ่อออกลุงหน้าตายมาแต่นานแล้ว เมื่อแกจะพูดต่อไป ดูเหมือนมีตัวสะเดิด (สะดุ้ง) ตื่นนอนหลับ ทั้งแรงเลย แกพูดกับหมู่ขึ้นว่า หมู่ทั้งหลาย คุณหลานได้พูดอธิบายธรรมมานี้ เป็นธรรมมีแบบแผน เป็นธรรมมีหลักฐาน เป็นของพวกเราผู้หวังความพ้นทุกข์ ควรจดจำเอาไปปฏิบัติแท้ทีเดียว แกพูดกับแม่ออกว่า แม่เฒ่านี้มีบุญมาก ลูกของแม่ เฒ่าคนนี้ เป็นลูกอันประเสริฐทีเดียว ได้ไปเที่ยวแสวงหาธรรมของดีอันประเสริฐ มาโปรดสอน พ่อแม่และพวกญาติใครๆ ให้เข้าใจสิ้นความสงสัยความข้องใจ ได้ปฏิบัติเอาตนให้พ้นทุกข์ด้วย แม่เฒ่าจะออกจากธรรมปิติทั้ง ๕ ของลุงไปขึ้นอยู่กับ ธรรมพระไตรสรณคมน์ คุณลูกของเฒ่าก็ดีแล้ว ส่วนลุงเวลาต่อไป จึงจะขึ้นธรรมพระไตรสรณคมน์ ภายหลังดอก
ตัวข้าจึงว่านั้นแหละพ่อออกลุง พระอาจารย์ใหญ่ทั้งสองท่านได้เรียนธรรมปฏิบัติมามาก ท่านได้พิจารณาตรองดูเห็นว่า ธรรมอื่นไม่จำเป็น จะขึ้นจะเรียนกันมีพิธีการยกครูยกทะลาย ให้เป็นการลำบากชักช้าแก่การปฏิบัติดำเนินใจ เข้าสู่ วิปัสสนาธรรมชั้นสูง ครั้นผู้ปฏิบัติเอาตนให้พ้นทุกข์เสียเปล่าดอก ท่านจึงได้หยุดพิธีการสอนธรรมทั้งหลายนั้นเสีย ท่านจึงมา สอนแต่ธรรมพระไตรสารณคมน์กันอยู่เท่านั้น อันธรรมพระไตรสารณคมน์นี้ คือ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ คำพวกเราว่า ใจรู้สว่าง ดังนี้ คำพระพุทธเจ้าว่า ธมฺโม คำพวกเราว่า ใจรู้สว่าง คำพระพุทธเจ้าว่า สงฺโฆ คำพวกเรารู้ ใจรู้ข้อปฏิบัติดี รู้ปฏิบัติเอาตน พ้นทุกข์ จึงว่า ใจดวงเดียว มีพร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๓ รัตนะ ให้ผู้ขอถึงไตรสารณคมน์แล้ว ให้ปฏิบัติเอาตนของตน คือให้เอาใจรู้ ของตนนั้น รักษา กาย วาจา ของตนให้เป็นศีล เอาใจรู้ของตนนั้น ระลึกคำภาวนาขึ้น เอาใจรู้จับจดจ่ออยู่กับคำภาวนานั้น จนใจรู้นั้นอยู่รวมเป็นหนึ่ง เกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมาได้ ชื่อว่าผู้นั้นเอาคำภาวนาฟอกใจรู้ของตนนั้นให้สะอาดขึ้นมาได้แล้ว จึงจับเอาใจรู้นั้นกำหนดพิจารณาดูกายของตน อันเป็นรูปธรรมรวมอยู่แล้ว ซึ่งสมมุตธรรมทั้งหลาย มีขันธธรรม อายตนธรรม เป็นต้น ให้เห็นแจ้งจะได้อาศัยเห็นแจ้งในธรรม คือรูปธรรมนี้ เข้าไปฟอกใจรู้ของตนให้ใสยิ่งขึ้นได้อีก ใจรู้นั้นก็จะได้ถอน อุปาทานการยึดถือมั่นของตน ออกจากความเป็นปุถุชนของตน ก็จะได้หมดไป ความเป็นอริยชนของตนก็จะเกิดขึ้นมาในใจ รู้ของตนดังนี้แล้ว จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์ หากเกิดรู้เองเห็นเอง เพราะตัวรู้เป็นตัวจิต คิดหาอุบายน้อม ความรู้อันรู้อยู่ ดวงตารู้หูได้ยินเป็นต้นนี้ รวมเข้าไปในใจได้หมดแล้ว ผู้นั้นหากเกิดรู้เองเห็นเอง ขึ้นมาเหมือนพระองค์ท่าน แสวงหาความรู้ทางอื่นอยู่ ๖ ปี ก็ไม่รู้เห็นอันใดขึ้นในใจท่าน เมื่อท่านคิดหาทางได้ อานาปานสติกรรมฐาน น้อมความรู้ของ ท่านเข้าไปรวมอยู่ในใจได้แล้ว แล้วท่านก็เข้าไปรู้ถึงฐานความรู้ของท่าน ท่านก็ได้ตรัสรู้ของท่านขึ้นมาในใจท่าน เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเท่านั้นแหละ พ่อออกลุง อันพ่อออกลุงได้ปฏิบัติธรรมปิติว่า ว่าเป็นผู้บรรลุในธรรมทั้งหลาย จนพ่อออกลุง พูดประกาศตนอยู่เสมอว่า อยากพูดกับคนผู้พูดนอกโลกได้นั้น คนนอกโลก พ่อออกลุงรู้เขาพูดกันว่าอย่างไร เขานับถือลิทธิอะไร เขาปฏิบัติกันอย่างไร ขอให้พ่อออกลุงเล่าให้หลานฟังดูเถิด
พ่อออกลุงแกเริ่มพูดขึ้นว่า ลุงนั่งสมาธิ จิตรวมสงบดีแล้วเกิดใจสว่างไปนอกโลก เห็นคนในนุปปพพะวิทหทวีป เห็นคน ในอุดรกุรุทวีป เห็นคนในอะมะระโคยาทวีป ขมภูทวีป แต่ละทวีป มีรูปต่างๆกันอย่างนั้น ใหญ่น้อยต่างกันอย่างนั้น ความนับถือเขามีศีล ๕ ประจำเหมือนกันทั้งสามทวีป แต่ละทวีปเขามีหลักอันหนึ่ง พอกคำประดับแก้วรุ่งสว่างไสว หลักนั้น สูงประมาณ ๖ ศอก เป็นสี่เหลี่ยมใหญ่ ประมาณ ๑ ศอกคืบ มีคำไหว้ของเขาว่า เป็นคำบาลี มหาสมุเท ปุคคลาอัคฺคี เหมือนกัน ทั้งสามทวีป ตลอดทั้งหญิงทั้งชาย ก็ไหว้คำเดียวกัน ทั้งนั้น เป็นอย่างนั้นแหละคุณหลาน คำไหว้ของเขานั้นพ่อออกลุงแปล ได้ไหมเล่า แปลว่าอะไร แกก็ว่าแปลได้ มหาสมุเท อันว่าแม่น้ำมหาสมุทร ใหญ่กว้างลึกไม่มีประมาณนี้ ปุคคลาอคฺคี ไม่มี บุคคใดจะมีความสามารถหาเอาฟืนมาก่อมาสุมน้ำมหาสมุทร ให้เหือดแห้ง สูญไปนั้นไม่มี จะหมดจะแห้งไปได้เลย แกแปล อย่างนี้ จึงถามแกต่อไปว่า พ่อออกลุงรู้ดังนั้น ได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เห็นแกเพียง รักษาศีล ๕ ก็ยังไม่ได้อยู่เลย จึงได้ถาม แกเช่นนั้น พ่อออกลุง แกพูดอักอักอยู่ในคอหน่อยหนนึ่ง แกพูดขึ้นว่า ไม่เห็นได้รับประโยชน์อะไร ได้แต่รู้อย่างนี้เท่านั้นเอง ถ้าอย่างนั้น พ่อออกลุงรู้เพียงลมๆเท่านั้น บุคคลไม่สามารถจับเอาลมที่มันพัดไปมาตามอากาศ มาเป็นสมบัติอะไรไม่ได้ ทั้งนั้น ถ้าอาตมาแปลไม่แปลอย่างนั้นดอก ไม่เห็นจะมีประโยชน์อันใดแปลเปลี่ยน วิภตฺโต เป็นตังเสีย ว่ามหาสมุทร นิยมอันมีในใจตนนั้นปุคคลอัคคี อันว่าบุคคลใดจะเอาไฟมาเผามาสุมให้มันเหือดแห้ง ไปด้วยอำนาจไฟนั้น ไม่มีเหือดแห้ง ไปได้เลย มีแต่จะเอาปัญญาอันใด อันเกิดจากสมาธินั้นแหละเผามัน มันจึงจะเหือดแห้งไปได้ ก็จะเป็นประโยชน์ก่า พ่อออกลุงรู้แปลนั้นเสียดอก อันพ่อออกลุงรู้นอกโลกนั้นก็ดี ตามอาตมามาฟัง ได้เข้าใจตามว่า มิใช่พ่อออกลุงรู้นอกโลกอะไร เลย เพราะโลกหนึ่งๆ พระองค์หมายเอาทวีปทั้ง ๔ เป็นโลกอันหนึ่ง จึงว่าทวีปทั้ง ๓ นั้น ก็มีรักษาศีล ๕ อยู่เหมือนกันกับชมพูทวีป นี้อยู่ จึงว่าทวีปทั้ง ๔ นี้ รวมเป็นโลกอันหนึ่ง เพราะมีอาทิตย์ดวงเดียวอยู่ในทวีปทั้ง ๔ นี้ อีกด้วย จึงว่าทวีปทั้ง ๔ นี้ เป็นโลกอันหนึ่ง อาตมานึกว่า พ่อออกลุงจะรู้นอกโลกเหมือนประวัติพระโมคคัลาเถระ ท่านขออนุญาตกับ พระองค์ อยากเหาะขึ้นไปบนอากาศให้สูง อยากมองดูโลกว่า มันใหญ่กว้างเท่าใด พระองค์ก็ให้อนุญาต แต่พระองค์ได้สั่ง พระโมคคัลลานะว่า โมคคัลลาท่านเหาะขึ้นไปสูง จนมองดูแผ่นดินทั้งหลายนี้ เห็นเท่าใบผักแว่น ให้กลับลงมานะ ถ้าท่านเหาะขึ้นให้สูง จนมองแผ่นดินนี้ไม่เห็นแล้ว ท่านจะหลงโลกนะดังนี้ พระโมคคัลลา เมื่อได้รับอนุญาต แล้วก็เหาะขึ้นไป สูง จนเลยพระองค์สั่งขึ้นไป จนมองแผ่นดินไม่เห็นเสียเลย เห็นว่าสมควรแล้ว จึงเหาะถอยกลับมา พระโมคคัลลา หลงโลก เสียเลย หลงไปตกโลก พระเจ้าหลักดำมี ๔ ทวีปเหมือนกันกับโลกพระพุทธเจ้าโคตมะ บรมครูของพวกเรานี้ พระโมคคัลลา มองเห็นรัศมี อันสว่างของพระเจ้าหลักดำเข้าใจว่า รัศมีของพระพุทธเจ้าโคดม บรมครูของตน จึงลงถึงพื้นดินแล้ว เตรียมตัว เข้าไปกราบไหว้ พระพุทธเจ้าหลักดำท่านจึงบอกพระโมคคัลลานะว่า เราไม่ใช่พระพุทธเจ้าโคดม บรมครูของท่านดอก เราชื่อพระพุทธเจ้าหลักดำ อยู่อีกโลกหนึ่ง ต่างหาก กับโลกพระพุทธเจ้าโคดมบรมครูของท่าน เอาละเราจะเปล่งรัศมี ไปส่งท่าน ไปหาพระพุทธเจ้าโคดมบรมครูของท่าน ให้ท่านไปตามรัศมีอันสว่างของเรา ไปจนกว่ารัศมีของเราจะหมด ยังเหลืออยู่อีกเท่าแสงหิ่งห้อย ท่านมองไปข้างหน้า จะมองเห็นแสงสว่างเท่าแสงหิ่งห้อยแล้ว นั้นแหละให้ท่านเหาะไปหา แสงสว่าง อันมองเห็นอยู่ข้างหน้านั้นแหละเป็นรัศมีของพระพุทธเจ้าโคดม อันเปล่งมารับเอาท่าน เพราะพระพุทธเจ้าโคดม ท่านก็รู้ว่า ศิษย์หลงโลก มาตกโลกของเราผู้เป็นพระพุทธเจ้าหลักดำนี้เหมือนกัน ท่านจึงได้เปล่งเอารัศมีมารับเอาท่านดังนี้ อาตมานึกว่า พ่อออกลุงรู้นอกโลก รู้อย่างไปรู้โลกพระเจ้าหลักดำ ๔ ทวีปเป็นโลกหนึ่ง แล้วก็รู้อย่างนี้เรื่อยไป อย่างนั้นดอก อาตมาจึงถามเพราะหลานอยากรู้ด้วยดังนี้ อธิบายแก้ความเห็นของพ่อออกลุงมาถึงนี้ พ่อออกลุงแกหันหน้าพูดกับหมู่ว่า หมู่ทังหลายแต่ก่อนกันก็ว่ากันรู้ถึงหลัก คือกายจิตแน่ไม่ผิดแล้ว บาดเมื่อได้มาฟัง คุณหลานอธิบายผู้ข้ารู้ได้ว่า ความรู้ตน แต่ก่อนนั้นไกลหลักความจริง พอปานฟ้ากับดินไกลนั้นแหละผู้นี้ (เรา) ไม่มีคำใดจะพูดแย้งกับคุณหลานไปได้แล้ว เพราะคุณ หลานพูดทวนเข้ามาใส่ใจ มันถูกหัวใจผู้นี้ กึกๆ เอาทุกคำเลย จะให้ผู้นี้พูดแย้งคุณหลานไปได้อย่างไร แต่ก่อนนี้ นึกอยาก ไปฟังโอวาทของพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ เมื่อมาได้ยินคุณหลานไปศึกษามากับท่าน มาแสดงให้ฟังอยู่นี้ ผู้นี้มันพอปานได้ฟัง เฉพาะหน้ากับพระอาจารย์มั่นเลยทีเดียว กันสิ้นอยากไปนมัสการฟังโอวาทของพระอาจารย์มั่นแล้ว พ่อออกลุงพูดชมอยู่ อย่างนี้
ขณะนั้นก็เป็นเวลาบ่ายสามโมงแล้ว จะค่ำหมดเวลาไปก่อน จึงถามแกว่า อันว่าพ่อออกลุงว่าปฏิบัติธรรมปิติมา ได้ค้น หาวัดหกกกห้า สีมาแปด พ่อแม่นอก พ่อแม่ใน อุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้าย นอกอุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้ายใน เป็นต้น ตลอด พ่อออกลุงค้นหาได้แล้ว ผู้รู้จริงอยู่ในพ่อออกุงนั้นว่า พ่อออกลุงไม่ควรบอกให้ใครรู้ด้วยเป็นอันขาด เป็นของรู้เฉพาะตน ใครอยากรู้ให้พิจารณาค้นหาให้รู้เห็นด้วยตนเอง เมื่อใครได้พิจารณาเห็นแล้ว ผู้นั้นเป็นพระผู้ประเสริฐขึ้นในตัวเลย ไม่ต้อง มีการบวชกับพระอุปัชฌาย์ใดเลย เมื่อพ่อออกลุงบอกให้คนอื่นรู้ไม่ได้ เล่าให้อาตมาฟังได้ไหม ถามแกไปอย่างนี้ พ่อออกลุงแกพูดว่า จะประหารคอขาดไปเดี๋ยวนี้ ให้บอกดังนี้ พ่อออกลุง ก็บอกไม่ได้เลย จึงพูดกับแกว่า พ่อออกลุง ท่านพระอาจารย์มั่นท่าน ไม่เห็นจะขัดข้อง อาตมาเรียนถามท่าน ท่านได้แสดงให้ฟังเลย อาตมาจะเล่าคำที่ได้ยิน พระอาจารย์เทศสอนอาตมา ให้พ่อออกลุงฟังจะถูกตามพ่อออกลุงรู้มาไหม คือ วัตร ๖ นั้น ได้แก่จักขุวัตตัง ตาเป็นวัตรอันหนึ่ง ใครจะทำการงานด้วยรูปทั้งหลายแล้ว ต้องเอาตาดูจึงจะเป็นผลสำเร็จตามประสงค์ได้ โสตะวัตตัง หูเป็นวัตรในการฟังเสียง ใครจะสำเร็จในเรื่องราวต่างๆ ต้องเอาหูฟัง ฆานะวัตตัง จมูกเป็นวัตรในการรู้จักกลิ่น ให้สำเร็จตามใจตัวประสงค์ได้ ชิวหาวัตตัง ลิ้นเป็นวัตรในการรู้จักรส ให้สำเร็จดังใจประสงค์ได้ กายะวัตตัง กายเป็นวัตรในการสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง รู้จัก สำเร็จตามใจประสงค์ได้ มะโนวัตตัง ใจเป็นวัตรในการรู้ธรรมารมณ์ ให้สำเร็จดังใจประสงค์ได้ ใครไม่เอาอาายตนะภายใน ทั้ง ๖อย่างนี้ทำธุรกิจการงาน ให้สำเร็จผลเป็นบุญหรือเป็นบาปขึ้นมาแล้ว ไม่มีอันจะทำเลยต้องหกอย่างนี้เป็นวัตร ใครจะ ปฏิบัติดีชั่วอย่างไร ก็ต้องเอา หกอย่างนี้ ปฏิบัติให้เป็นขึ้นมาทั้งนั้น ส่วนกกห้า นั้นพระอาจารย์สอนอาตมาว่า ได้แก่ขา ๒ แขน๒ รวมเป็นสี่ ห้ากับหัว ๑ เพราะวัตรหก ต้องอาศัยพวกนี้ตั้งอยู่ จึงเป็นอยู่ได้ สีมาแปด นั้นได้แก่หู ๒ ตา ๒ รวมเป็น๔ จมูก๒ รวมเป็น ๖ ลิ้นหนึ่ง กายหนึ่ง รวมเป็นสีมาแปด ใจเป็นลูกนิมิตอยู่ตรงกลาง พระองค์ท่านบัญญัติให้ทำสีมา บอกให้เป็น ที่สำเร็จสังฆกรรมอยู่ตามวัดทั้งหลายนั้น พระองค์ก็บัญญัติให้เป็นการถูกต้อง ตามสีมาภายในตัวดังนี้ จึงว่าเป็นการทำ ถูกต้องได้ ส่วนทำการผูกสีมาภายใน ก็ให้อาจารย์ผู้ฉลาดจับเอาสัจจะ ๔ ของจริง เป็นหลักพิจารณาทักรู้ทักเห็นแล้วๆเล่าๆ จนกว่าให้ใจตกลงว่าสัจจธรรมของจริง ๔อย่างนี้ จริงแน่ทีเดียว ขึ้นมาในใจตามนั้นเป็นการสำเร็จผูกสีมา ภายในได้เท่านั้น เหมือนกันกับผูกสีมาภายนอก ก็มีอาจารย์ผู้ฉลาดนำพระสงฆ์ออกไปทักข้างนอก ให้สีมาภายนอกพระก็รู้ว่าเป็นหิน เป็นใบสีมา พวกโยมก็รู้ว่าหิน ก็ยังมีการให้ทัก ให้บอกกัน อยู่เป็นหนสองหน มีทักอยู่อย่างนี้ ไปจนรอบสีมาหลังนั้นแล้ว จึงเข้าไปสวดลูกนิมิตอีก ทั้งลูกนิมิตอีก จน ๔ รอบ ๔ จบให้เหมือนพระองค์สอนไว้ หรือแสดงไว้ว่า มรรค ๔ ผล ๔ ดังนี้จึงจะ เป็นการสำเร็จกิจวัตรเป็นกกเป็นต้นของการปฏิบัติธรรม เอาตนให้พ้นทุกข์ได้จริงดังนี้ ส่วนพ่อแม่นอก พ่อแม่ในนั้น พระอาจารย์สอนอาตมาว่า พ่อแม่นอก ได้แก่พวกเรา ได้เกิดร่วมท่านมาได้แก่พ่อแม่อัน หมู่พวกเราได้เรียกพ่อแม่กันมาอยู่ ทุกวันนี้ พ่อแม่ในนั้นได้แก่ลมหายใจเข้า และลมหายใจออก อันให้ชีวิตของพวกเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เหมือนพ่อแม่มีความ อุตสาหะเลี้ยงดู จนได้พวกเรามีชีวิตเติบโตขึ้นมานี้ เหมือนกัน ส่วนพระอุปัชฌาย์ อาจารย์สวดขวาซ้าย นอกในนั้น พระอาจารย์สอนว่า พระอุปัชฌาย์ได้แก่ จมูกมันให้ชีวิตเป็นอยู่ได้นี้ พระอาจารย์สวดขวาได้แก่ตาข้างขวา พระอาจารย์สวดซ้ายนั้นได้แก่ตาเบื้องซ้ายนี้ยังเป็นนอกอยู่ เพราะว่าตามหนังสือธรรมสามไตร กล่าวไว้ดอก ถ้าพูดพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ขวาซ้ายกันจริงๆแล้ว พระอุปัชฌาย์ใน ได้แก่สติตัวรู้ คือดวงใจ อยู่ในท่ามกลางอกนั้น พระอาจารย์สวดขวา ได้แก่ตัวรักของใจ ความชังของใจเป็นอาจารย์สวดซ้าย พระองค์จะได้ตรัสรู้ ก็เพราะท่านเอาสติจับ เอารักชังขึ้นมาพิจารณาจนรู้จักรู้ชัง เห็นแจ้งชัดว่า ความรักเป็นการเนิ่นช้าไม่เป็นประโยชน์ ความชังเป็นทุกข์เปล่า ไม่เป็น ประโยชน์ ท่านจึงเอาสติทางเงื่อนสอน คือรักกับชังนั้นออกจากดวงใจ สติความรู้ของท่านนั้น ขาดไปไม่เข้าไปยึดถืออยู่ ท่านจึงได้ตรัสรู้ มีดวงตาทิพย์เกิดขึ้นได้เห็นธรรมทั้งหลาย จนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้บวช ตัวเอง ด้วยมีพระอุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้าย บริบูรณ์ ขึ้นในตัวของท่าน พระองค์ได้มาตั้งพิธีการบวชกุลบุตรให้เป็นการ ถูกต้อง ดังพระองค์บวชท่านเองดังนี้ ไว้ประจำพระพุทธศาสนาของท่านมาจนตลอดทุกวันนี้แล อย่างนี้แหละพ่อออกลุง พระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านเทศน์สอนอาตมาจำได้มา ท่านบอกถึงที่สอนว่าอาจารย์ผู้สอนธรรมปิติ เป็นคฤหัสถ์ เป็นคนเขมร เขาสอนกันอยู่จังหวัดสุรินทร์ สอนพวกลูกศิษย์เป็นบ้า เสียคนกันมาตั้งมากๆ เขาเอาหนังสือธรรมสามไตร เป็นหลักสอนกัน ดอกดังนี้พ่อออกลูก ถูกดังพ่อออกลุงรู้มาไหม พ่อออกลุงถูกถาม แกก็เดินไปอย่างแรง แล้วแกตั้งตัวเที่ยงดีแล้ว แกจึงพูดตอบ ว่า แหม แม่เฒ่า คุณหลานลูกแม่เฒ่านี้ เป็นผู้มีวาสนามาก ปฏิบัติไป จะต้องได้สำเร็จพระอรหันต์แน่ๆ ทั้งจะได้มาโปรดพวก ญาติๆ ให้พ้นทุกข์ด้วยเสียอีก ไปศึกษาความรู้ไม่นานเลย จำความรู้อาจารย์สอนได้ลึกซึ้ง ได้อย่างละเอียดลออ เอาเสียจริงๆ
พ่อออกลุงได้อนุโมทนากับหลาน ได้นำคำสอนของครูบาอาจารย์มาสอนให้หมู่ญาติได้รู้และเข้าใจดีมากดีมาก มันถูก เอาเสียทุกอย่างไม่มีผิดเลยดังนี้ ต่อไปก็ได้ถามพ่อออกลุงอีกว่า อันที่ว่าพ่อออกลุงได้ปฏิบัติธรรมปิติมาว่า ได้เห็นผู้รู้ของตน คำว่าได้ผู้รู้แล้วนั้น รู้เป็นอย่างไร วัตร ๖ กก ๕ ที่พ่อออกลุงได้นั้นเป็นอย่างไร พ่อออกลุงว่าพูดให้ใครฟังไม่ได้นั้น อาตมาก็พูด ให้พ่อออกฟังได้แล้ว ทั้งพ่อออกลุงก็ได้พูดรับรองว่า อาตมาอธิบายถูกต้องดีแล้ว อันผู้รู้นี้พูดให้อาตมาฟังได้ไหม พ่อออกลุง แกพูดว่า มันได้พูดกันมาแล้ว ก็พูดกันไปเสียเถอะดังนี้ แกจึงพูดขึ้นว่าผู้รู้ ที่พ่อออกลุงได้รู้ ได้เห็นและที่ว่าพ่อออกได้นั้นคือ พ่อออกภาวนากำหนดจิต รวมเข้าไป จิตสงบเกิดความสว่างขึ้นดีแล้ว เกิดเห็นเบ้าทองคำอันหนึ่งมีฝาปิด มีน้ำเต็มอยู่ในเบ้า นั้น เบ้าและฝาปิดเบ้า ก็ดีสุกใสเสียจริงๆ ไม่กำหนดจิตเพ่งดูให้ชัดๆ แล้ว จะมองไม่เห็นเลย น้ำอยู่ในเบ้านั้นจะใสแสนที่จะใส เมื่อตนเองอยากรู้ อยากเห็นอันใดก็ดี หรือคนอื่นมาถามอยากรู้อยากเห็นของเสียหาย บ้านอยู่ไม่สบายอย่างนี้เป็นต้น เมื่ออยากรู้เปิดฝาเบ้าออกดูลงไปในน้ำอันอยู่ในเบ้านั้น เห็นอันตนอยากรู้และสิ่งของที่เขามาถามอยากรู้นั้น อย่างแจ่มแจ้ง ชัดเลยทีเดียว นี้แหละพ่อออกเห็น พ่อออกรู้ และได้ผู้รู้นั้น ถูกไหมคุณหลาน ตัวข้าจึงว่า พ่อออกลุง เบ้าที่พ่อออกลุงเห็นนั้น ว่าเป็นผู้รู้นั้น มันเห็นนิมิตต่างหาก ไม่ใช่เป็นผู้รู้ อันผู้รู้นั้น ได้แก่ผู้เห็นเบ้าและรู้เบ้านั้น และผู้เปิดฝาเบ้าแลลงไปในน้ำ เห็นนิมิตอยู่น้ำนั้น รู้จักนิมิตว่าเป็นอันใดได้แน่นั้น เป็นผู้รู้ไม่ใช่เบ้าเป็นผู้รู้ เป็นแต่นิมิต ให้ผู้รู้เห็นและรู้เท่านั้นเอง พ่อออกลุง แสดงตัวแกนิ่งอยู่เหมือนใจจะขาด นิ่งอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วแกจึงพูดขึ้นว่า แหม บาดนี้ (ทีนี้) ละเอียดจริงๆ แล้วแกพูดว่า ที่พ่อออกพูดให้คุณหลานฟังแล้วนี้มันไม่ใช่ผู้รู้จริงๆ แต่ก่อนพ่อออกว่าเป็นผู้รู้ ครั้นต่อมามันได้หายไปแล้ว จึงว่าเบ้านี้ไม่ใช่ ผู้รู้อย่างคุณหลานว่า แต่มาเวลานี้มันมีเกิดขึ้นดังนี้ เป็นผู้รู้ขึ้นมาในใจของพ่อออก พ่อออกเห็นว่าเป็นผู้รู้อย่างแน่นอน ของพ่อออกเลยทีเดียว คือเมื่อพ่อออกทำจิตให้รวมดีแล้วเกิดความสว่างขึ้นมา มองเห็นตู้แก้ว สูงศอกคืบ กว้างหนึ่งศอก ตู้แก้วนี้ใสแสนที่จะใส จนเอาจิตรวมอยู่นั้น เพ่งดูเกือบจะไม่เห็น ในตู้นั้น มีพระพุทธรูปแก้วอยู่องค์หนึ่ง สูงราวหนึ่งคืบ สี่นิ้ว สุกใสเหลือประมาณ จนจะนำพูดให้ใครฟังไม่ได้ทีเดียว เมื่อคนมีความรู้อันใดก็ดี หรือมีใครมาถามอยากรู้อันใดก็ดี เปิดฝาตู้แก้วออกแล้ว พระพุทธรูปอยู่ในตู้แก้วนนั้น หากเทศนาบอกมาให้รู้ทุกอย่างเลย อันนี้จะใช่เป็นความรู้ไหมคุณหลาน ถ้าไม่ใช่พระพุทธรูปแล้ว และตู้แก้วอันพ่อออกลุงค้นหามาได้หลังนี้ที่ได้เล่าให้คุณหลานฟังมานี้ ก็ไม่ใช่ผู้รู้อีก พ่อออกหมด ปัญญาที่จะค้นหาต่อไปอีกแล้ว จึงได้ตอบลุงอีกว่า อันตู้นี้ก็เป็นเพียงนิมิตเหมือนเบ้าทองคำ อันพ่อออกลุงได้พูดให้หลานฟัง มาแล้วนั้นเหมือนกัน ใครเป็นผู้มองเห็นตู้ ใครเป็นผู้เปิดตู้นั้น ใครเป็นผู้เห็นพระพุทธรูปแก้ว และได้ยินพระพุทธรูปเทศนา และจำได้ว่า เป็นพระพุทธรูปแก้วเทศนาอย่างนี้ใครรู้อย่างนี้มิใช่จิต คือ ผู้รู้ของพ่อออกลุง วันใดมองเห็นตู้แก้วและ พระพุทธรูปแก้วนี้หรือเป็นผู้รู้ เป็นผู้เข้าใจใการที่พระพุทธรูปเทศนาบอกให้รู้พ่อออกลุง จารย์อ่อนสีแกหมดปัญญา ยอมแพ้ ข้าเลย ทั้งยอมให้แม่ออกของข้า ออกจากธรรมปิติของแก แกบอกว่า แม่เฒ่าจะออกจากธรรมของฉัน ไปขึ้นอยู่กับธรรม พระไตรสรณคมน์ของคุณลูกของแม่เฒ่าก็ไปได้ ฉันยินดีด้วย พูดกันมาถึงนี่บ่าย ๕ โมงเย็น จึงลงเอยกันได้ และก็หยุดพัก พอควรก็เลิกกันไป แต่พ่อออกลุงได้ขอตัวไปภาวนาค้นหาตัวรู้ของแกว่าจะให้เห็นให้จนได้ สิ้นการโต้วาทีกับพ่อออกจารย์ อ่อนสี เพียงเท่านี้
ครั้นวันหลัง แม่ออกได้ออกมาเล่าเรื่องได้ปฏิบัติธรรมปิติมากับพ่อออกลุงนั้น ว่าจิตรวมได้ดีแล้ว เกิดรู้นิมิตขึ้นมาที่ใจ รวมอยู่นั้น ว่าตัวข้าและท่านพี่เท่านั้น เป็นลูก ๑๘ คน นอกนั้นเป็นแต่เขามาเกิดร่วมเท่านั้น ตัวข้าจึงรู้ขึ้นมาว่า กุศลของแม่ เราคงมาถึงแล้ว แม่เราจึงได้พูดอย่างนี้ ตัวข้าจึงได้พูดกับโยมแม่ขึ้นว่า แม่ออกว่า มีแต่อาตมาสองคนเท่านี้ เป็นลูกของแม่ ก็ดีแล้ว แต่อาตมากับท่านพี่สองคนนี้บวชแล้วว่า จะไม่สึก แม่ออกจะทำอย่างไรเล่า แม่ออกจึงพูดว่า ก็แล้วแต่ลูกทั้งสอง ถ้าไม่สึกก็อนุโมทนา อาตมาทั้งสองไม่สึกแล้ว แม่ออกก็ต้องบวชเป็นแม่ชีปฏิบัติอยู่เป็นผู้มีศีลธรรมอยู่ด้วยลูกทั้งสอง อันแม่ออกว่าเป็นลูกแท้จึงจะถูก ถ้าแม่ไม่ออกบวช นิมิตที่แม่ออกเห็นนั้นก็ไม่เป็นของจริง เป็นนิมิตหลอกแม่ออกเท่านั้นเอง แม่ออกจะว่าอย่างไร แม่ออกจึงว่า แม่ก็ไม่ว่า ลูกจะให้บวชแม่ก็ยินดีบวชตาม ตามลูกเห็นดีทุกอย่าง แม่ออกจึงปรึกษาเรื่อง น้องสาวสองคน ยังไม่มีครอบครัว น้องสาวของคุณลูกทั้งสองคนยังไม่มีผัวอยู่นั้น จะให้แม่ทำอย่างไร ข้าตอบแม่ว่า แม่ก็ว่าไม่ ใช่ลูกของแม่ เป็นแต่เขามาอาศัยร่วมเกิดเท่านั้น ก็ยังจะไปเป็นห่วงเขาอยู่หรือ แม่ก็ไม่เป็นห่วง แต่ถ้าเขามีความประพฤติ เสียไปเป็นคนไม่ดีแล้ว ชาวบ้านเขาก็จะรังเกียจติเตียน แม่ก็ไม่มีความสุขต่อไปข้างหน้า เป็นแต่ให้แม่ออกบวชในเวลา อาตมาทั้งสองได้มาร่วมอยู่ด้วยกับแม่ออก เท่านี้ก็เอาดอก ส่วนการอยู่ของแม่ออกนั้น เวลาน้องทั้งสองเขายังไม่มีครอบครัว อยู่นี้ แม่ออกบวชแล้ว ก็ให้แม่ออกอยู่กับเขานั้นก่อน ต่อเมื่อน้องเขามีครอบครัวหมดแล้ว จึงให้เขาและผัวของน้องและพี่ๆ ไปทำกุฏิอยู่ริมวัด ข้างใดข้างหนึ่ง แล้วแม่ออกจึงไปอยู่กุฏิที่เขาทำให้นั้น ต่อภายหลังก็ได้ดอก วันหลังตัวข้าและท่านพี่ก็ให้ แม่ออกรับพระไตรสรณคมน์ และบวชเป็นชีรักษาศีล ๘ เสร็จเลย ท่านพี่เมื่อได้ให้แม่ออกรับไตรสรณคมน์ บวชชีเสร็จแล้ว อยู่ร่วมกันไปอีก ๘ วัน ท่านก็ได้ลาไปเที่ยววิเวก ทำความเพียรเพื่อประโยชน์ตนต่อไป ส่วนตัวข้าได้อยู่สอนแม่ออกและพวก ญาติ ให้เข้าใจในข้อปฏิบัติธรรมและพระไตรสรณคมน์ และศีลอันเป็นของเกี่ยวเนื่องกันกับการปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์ ให้ถูกต้องทางพ้นทุกข์อยู่ในระยะ ๒๐ วัน เห็นว่า แม่ออกและพวกญาติเข้าใจดีในข้อปฏิบัติแล้วก็ได้ลาไปเที่ยวธุดงค์ ทำความเพียร เพื่อให้ประโยชน์ตนเกิดขึ้นต่อไป ต่อแต่นี้ไปก็ได้เดินทางมาเยี่ยมแม่ออกปีละหน อยู่สอนแม่ออกและพวกญาติ เห็นว่า เข้าใจธรรมดีพอสมควรแล้ว จึงได้ลาไปเที่ยวธุดงค์ตามเคย
เมื่อได้ลาแม่ออกไปธุดงค์แล้ว ได้เดินเข้าไปในดงอีกแต่องค์เดียว ปฏิบัติอยู่บ้านนายุงของเก่า ที่เคยอยู่มาแล้ว ถึงเดือน ๖ ข้างขึ้น พวกโยม้านนาหมี เกิดโรคอหิวาต์ลงท้องกันมาแต่เดือน ๔ แก้กันด้วยยาไม่หาย ไปนิมนต์พระอาจารย์ใหญ่มั่น ให้ มาสวดระงับให้โรคหาย ท่านก็ไม่มา ท่านดุเขาว่า ไม่ฟังความที่ท่านสอนไว้ ท่านสั่งเขาผู้ไปนิมนต์ว่า ให้ไปนิมนต์เอา ท่านอ่อนมาสวดให้ เขาก็ไม่ไป เขาได้นิมนต์พระอาจารย์ใหญ่ ถึง ๗ ครั้ง ท่านก็ไม่มาให้เขา แต่ท่านก็สั่งให้เขาไปนิมนต์ ตัวข้าอยู่อย่างนั้น ถึงครั้งที่ ๗ พวกโยมเขาจึงไปนิมนต์บอกว่า พระอาจารย์สั่งมา ให้นิมนต์ท่านไปสวดมนต์ ตัวข้าจึงพิจารณา ว่าจะไปดีหรือไม่ไปดี เขาจะมีใครเคารพเราสวดมนต์ พอให้โรคเขาหายได้หรือประการใด จึงได้ถามเขาทุกประการ เขาก็ รับว่า จะตั้งใจฟังและเคารพธรรม จึงได้เกิดความสงสารเขาขึ้นมาในใจ จึงได้มาสวดมนต์บ้านนาหมี ได้สวดมนต์ให้เขา เวลาสวดมนต์อยู่นั้น มีคนท้องมาก จวนจะตายอยู่ ๔ คน ผู้หญิงหนึ่งคน ผู้ชายสามคน สวดมนต์องค์เดียวเสร็จ ประมาณ สามทุ่ม หนทางไปตามดงไกลหน่อยหนึ่ง ถึงวัด จึงได้รีบกลับวัด พวกโยมที่เป็นญาติของคนป่วย เอาน้ำมนต์ที่สวดไว้นั่น ไปให้คนป่วยกินก็หายจากลงท้องทันที (เป็นท้องร่วง) เหมือนทิพย์โอสถหายขาด เหมือนปลิดทิ้งเสีย เขาจึงนิมนต์ ไปสวดมนต์ ให้สามคืน เสร็จจากนั้นแล้ว ก็เดินทางออกจาดงมากราบนมัสการพระอาจารย์ใหญ่มั่น อยู่ต่อมาเกิดเป็นไข้ดงจับ อย่างหนัก รักษาอยู่ประมาณเดือนกว่าๆ จึงหายดีเป็นปกติ ต่อมาไม่นานท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านออกธุดงค์เดินวิเวก ไปในเขตอำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนครไปเรื่อย ไปทางอำเภอท่าอุเทน นครพนม จัดเสนาสนะที่บ้านสามผง พระอาจารย์ ใหญ่มั่น รับเอาพระอาจารย์เกิ่ง อาจารย์ฝ่ายมหานิกาย อยู่บ้านสามผง ยาครูสีลา อยู่บ้านวา ท่านยาครูดี บ้านม่วงไข่ อำเภอ พรรณานิคม พร้อมด้วยหมู่ลูกศิษย์ ให้ญัตติเป็นพระธรรมยุต กับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ จัดเสนาสนะ บ้านอากาศอำนวย อยู่จำพรรษา ตัวข้าได้นำท่านพี่คำมี ที่เป็นไข้ดงจับอย่างแรงไปรักษา อยู่จำพรรษากับ พระอาจารย์สิงห์ วัดป่าบ้านอากาศ เดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ ท่านพี่ได้มรณภาพไป ออกพรรษาแล้ว ข้าได้เดินทางไปบ้านสามผง เพื่อกราบท่านพระอาจารย์ใหญมั่น แต่ไม่พบท่าน สำหรับท่าน เมื่อออกพรรษาได้ ๑ วัน ท่านพระอาจารย์ท่านได้เดินทาง ไปพักสำนักวัดป่าบ้านโนนแดง และบ้านเสี้ยว อ.ท่าอุเทน โน้มตัวข้าพักเอาแรงอยู่สำนักวัดป่าบ้านสามผง นั้นได้สองคืน จึงได้ เดินทางไปสำนักบ้านโนนแดง ทันท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านเลยสั่งให้มีการประชุมหมู่ มีพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น เข้าในการประชุมด้วย ท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านปรารภว่า เรื่องจะนำแม่ออกท่านไปส่งมอบให้หมู่น้องสาวท่าน เพราะท่าน เห็นว่า แม่ออกท่านแก่มากอายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ก็ต่างรับรองเอาแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะแม่ออกของพระอาจารย์แก่มาก หมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียน จึงจะไปถึงเมือง อุบลๆได้ ฉะนั้นหมู่พวกข้าทั้งหลาย และเณรรวมกันทั้งหมด ๖๐ รูป ก็ต่างพากันตกลงใจไปเมืองอุบลฯ กับพระอาจารย์ด้วย ไปถึงหัวบ้านตะพาน บ้านหนองขอน เป็นบ้านเดิมของท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ซึ่งอยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบราชธานี ได้จัดตั้งสำนักป่า จำพรรษากันอยู่นั้นก่อน พระอาจารย์อุ่น ไปจัดสำนักป่าบ้านโนนเมือง ได้มหาปิ่น มุทุกัน มาบวชเป็นศิษย์ปฏิบัติอยู่ด้วยท่าน ออกพรรรษแล้ พระอาจารย์ใหญ่ได้นำแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบลฯ หมู่พวกข้าจึงค่อยทะยออยกันอยู่ตามพระอาจารย์ใหญ่มั่น อยู่วัดบูรพา เพราะท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ใช้ท่านไปจำพรรษา พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ได้จำสำนักป่า จำพรรษาอยู่ท่าวังหินคุ้มบ้านสว่าง ตัวข้าพร้อมด้วยหมู่จำพรรษา บ้านหัวงัว อำเภอยโสธร ออกพรรษาแล้ว ถึงเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ไม่แน่ใจ พระอาจารย์ใหญ่มั่นได้มอบหมู่พวกข้า ไว้กับพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ส่วนตัวท่านได้ไปกับเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ จำพรรษาวัดสระประทุม จากนี้ไป ขอจบเรื่องการศึกษาปฏิบัติผิดถูกอันจำเป็นกับครูอาจารย์และได้ศึกษาเข้าใจดีพอ ปฏิบัติเอาตนให้พ้นทุกข์ได้แล้ว ส่วนที่ยังอยู่ ก็แต่ตนจะตั้งใจปฏิบัติ ทำใจตนให้เป็นไปตามธรรมที่ได้ศึกษาอบรมมาเท่านั้น จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน ฯลฯ